สปส.ยัน สิทธิรักษาไตวายเรื้อรังของผู้ประกันตนไม่ด้อยกว่าสิทธิอื่น สามารถเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมตามภาวะผู้ป่วยได้ ส่วนการอนุมัติสิทธิก็ไม่ล่าช้า หากเป็นตามเกณฑ์ที่กำหนด สปส.จังหวัดอนุมัติให้รับสิทธิภายใน 40 นาที แต่หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์แจ้งผลใน 30 วัน
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 58 พันตำรวจตรีหญิง รมยง สุรกิจบรรหาร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และโฆษก สปส. กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมกรณีโรคไต ครอบคลุมดังนี้
1. ระบบประกันสังคม ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยโรคไตทุกกรณี ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนถึงไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่อยู่ในระบบประกันสังคมแล้ว 17,135 คน
2. ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หมายถึง ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่องชั่วคราว แพทย์จะทำการรักษาโดยการควบคุมอาหาร สั่งจ่ายยา ถ้าเกิดไตวายเฉียบพลันสามารถรับการฟอกเลือดได้ที่ รพ.ตามสิทธิ (รพ.สามารถเบิกค่าฟอกเลือดจาก สปส.ได้ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ)
3. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หมายถึง ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียหน้าที่ของไตอย่างถาวร ไม่มีทางรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้การรับการบำบัดทดแทนไต 3 วิธี ดังนี้
3.1 การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับ สปส.ทั่วประเทศ จำนวน 514 แห่ง
3.2 การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร มีสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับ สปส.ทั่วประเทศ จำนวน 69 แห่ง
3.3 การผ่าตัดปลูกถ่ายไต มีสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับ สปส. ทั่วประเทศ 20 แห่ง และตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้ว 554 ราย
4. จุดเด่นของสิทธิประกันสังคม กรณีรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
4.1 ผู้ป่วยมีสิทธิเลือกวิธีการบำบัดได้ 3 วิธีข้างต้น ตามความเหมาะสมของภาวะผู้ป่วยและการดำรงชีวิตประจำวันโดยความเห็นชอบของแพทย์
4.2 ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดหรือล้างช่องท้อง มีภาวะซีด ต้องได้รับยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด (Erythropoietin)มีสิทธิเลือกยาตามแต่ละผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยความเห็นชอบของแพทย์
4.3 ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต จะได้รับการโอนย้ายสิทธิไปเป็นผู้ประกันตนของ รพ.ที่ทำการปลูกถ่ายไตในความรับผิดชอบของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี
4.4 ผู้ป่วยที่บำบัดโดยการล้างช่องท้องถาวร สามารถเลือกน้ำยาชนิดที่เหมาะสมในการล้างช่องท้อง โดยความเห็นชอบของแพทย์ในอัตรา 20,000 บาท/เดือน
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า สปส. อนุมัติสิทธิบำบัดทดแทนไตล่าช้าถึง 3 เดือน ทำให้ผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายเงิน 2-3 หมื่นบาทนั้น พันตำรวจตรีหญิง รมยง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ได้มีการปฏิรูปประกันสังคมและได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการแพทย์ชุดใหม่เมื่อเดือน ธ.ค.2557 เป็นต้นมา การอนุมัติสิทธิฯ ไม่มีเรื่องค้างหรือล่าช้าแต่อย่างใด กล่าวคือ คณะกรรมการการแพทย์ ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศมีอำนาจอนุมัติสิทธิฯ ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะได้รับสิทธิฯ ภายใน 40 นาที สำหรับกรณีไม่เป็นไปตามเกณฑ์ คณะอนุกรรมการพิจารณาการบำบัดทดแทนไตจะพิจารณาและแจ้งผลให้ผู้ประกันตนทราบภายใน 30 วัน ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค. - พ.ค.2558 มีการอนุมัติสิทธิฯ แล้ว 1,164 ราย
“ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมทั้งสิ้น 514 แห่งทั่วประเทศไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เว้นแต่กรณีไปเข้ารับบริการในสถานพยาบาลอื่นนอกเหนือจาก 514 แห่ง จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง” โฆษก สปส. ระบุ
พันตำรวจตรีหญิง รมยง กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นน้ำยาล้างช่องท้องที่ระบุว่า สปส.ให้ 3 ถุง/ครั้ง และน้อยกว่าสิทธิในระบบอื่นก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการเบิกจ่ายน้ำยาล้างช่องท้องในระบบประกันสังคม มิได้เบิกจ่ายตามปริมาณเป็นจำนวนถุง แต่ให้สิทธิเบิกได้อัตราไม่เกิน 2,000 บาท/เดือน และผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกน้ำยาชนิดที่เหมาะสมได้ตามความเห็นชอบของแพทย์ นอกจากนี้การเบิกจ่ายยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดของระบบประกันสังคม มิได้กำหนดตามจำนวนเข็ม แต่จะพิจารณาตามระดับความเข้มข้นของเลือดโดยคำวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ
“กองทุนประกันสังคมมีมาตรการดูแลผู้ป่วยในระบบประกันสังคมเป็นอย่างดีเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยยึดมาตรฐานทางการแพทย์และสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ” โฆษก สปส. กล่าว
- 28 views