นสพ.มติชน : ข้าราชการเตรียมเฮ กรมบัญชีกลางจับมือเอกชน ขยายให้ใช้บริการได้ 100 รพ. ด้านคนรักหลักประกันสุขภาพ ชี้ขยายสิทธิต้องดูงบประมาณหากบานปลายจะกระทบหมด วอนบัตรทองถูกเพ่งเล็งใช้งบมาก ขณะที่สิทธิข้าราชการใช้งบมากที่สุด แต่ดูแลคนน้อยสุด
นสพ.มติชนรายงานว่า ขณะนี้บุคลากรสาธารณสุข และข้าราชการต่างๆ มีการแชร์ข้อมูลผ่านไลน์แชท และข้าราชการต่างๆ ได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ว่า “ต่อไปตัวข้าราชการ ครอบครัว หากเจ็บป่วย จนต้องเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล จะไม่ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.รัฐแล้ว เพราะล่าสุดกรมบัญชีกลางเตรียมขยาย รพ.เอกชนเพิ่มเติม แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศชัดเจน แต่มีการประสานกับ รพ.เอกชนไว้แล้ว โดยขณะนี้มีการจัดทำคู่มือการใช้บริการ รพ.เอกชนประเภทผู้ป่วยในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันมีข้าราชการและบุคคลในครอบครัวเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในกว่า 18,000 รายใน รพ.เอกชน 30 แห่ง แต่มีเสียงเรียกร้องให้ขยายโครงการฯ ให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนในส่วนภูมิภาค ซึ่งจากการหารือกับ รพ.เอกชน ปรากฏว่ามี รพ.เอกชนสนใจเข้าร่วมอีก 66 แห่ง รวมกับของเดิมเป็น 96 แห่งครอบคลุม 26 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งขยายจำนวนโรคที่เข้ารับการรักษาจากเดิม 78 โรค เป็น 86 โรค โดยให้ดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มโรคจะแบ่งออกเป็นกลุ่มศัลยกรรมทั่วไป อาทิ การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดช่องท้อง การผ่าตัดไส้เลื่อนข้างเดียว การผ่าตัดไส้เลื่อนสองข้าง การผ่าตัดถุงน้ำลูกอัณฑะ กลุ่มศัลยกรรมประสาท อาทิ การผ่าตัดกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติในสมอง กลุ่มออร์โธปิดิกส์ อาทิ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก การตัดขา การตัดเท้า ฯลฯ กลุ่มหัวใจและหลอดเลือด อาทิ การผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจแบบเปิด ฯลฯ กลุ่มจักษุ อาทิ การผ่าตัดต้อหิน การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง การผ่าตัดท่อน้ำตา ฯลฯ กลุ่มกุมารศัลยกรรม การผ่าตัดท่อน้ำดีโป่งพอง ฯลฯ กลุ่มสูติ-นรีเวชกรรม อาทิ การคลอดและการช่วยคลอด การผ่าตัดคลอด การทำหมันหญิง การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด การตัดเนื้องอกมดลูกแบบเปิด ฯลฯ กลุ่มทางเดินปัสสาวะ กลุ่มโสต ศอ นาสิก เป็นต้น
ล่าสุด พล.ต.หญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าวว่า สำหรับคู่มือดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลาง ร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้มีการหารือกันว่าจะพัฒนาอย่างไรต่อไป จนสรุปเบื้องต้นว่าอาจต้องมีการขยาย รพ.มากขึ้นประมาณ 100 แห่งจากเดิมกว่า 30 แห่งที่ให้บริการผู้ป่วยในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ แต่คู่มือดังกล่าวเป็นการทำเพื่อรองรับประกาศของกรมบัญชีกลางในอนาคต แต่ขณะนี้ยังไม่มีการใช้แต่อย่างใด เนื่องจากเรื่องนี้ต้องหารือในรายละเอียด เพราะมีเงื่อนไขอีกมาก และทางกรมบัญชีกลางก็ต้องหารือกับ รพ.เอกชนว่า จะมีการเบิกตรงอย่างไร อย่าง การจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมในโรคราคาแพง หรือที่เรียกว่า DRG ก็ต้องพิจารณามากขึ้น เพราะ รพ.เอกชนจะมีเรื่องต้นทุนอีก แต่ทั้งหมดต้องไม่กระทบสิทธิและไม่กระทบงบประมาณ
“ขณะนี้ยังคงใช้ประกาศของกรมบัญชีกลางอันเดิม คือ เมื่อปี 2554 เกี่ยวกับการใช้บริการ รพ.เอกชน ประเภทผู้ป่วยใน โดยยังคงเป็น รพ.เอกชน 32 แห่ง ในกลุ่มโรคที่อยู่ในเงื่อนไขต่างๆ หรือแม้แต่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่รุนแรง เป็นคนไข้ใน ใน รพ.เอกชนทุกแห่ง เบิกได้ครึ่งหนึ่งของที่จ่ายจริง ไม่เกิน 8,000 บาทบวกค่าห้องและค่าอาหาร และค่าอุปกรณ์บำบัดรักษาโรคฯ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ส่วนคู่มืออันใหม่ยังไม่มีการใช้แต่อย่างใด” พล.ต.หญิงพูลศรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่จากการเตรียมพร้อมลักษณะนี้จะทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบว่าสิทธิสวัสดิการข้าราชการได้รับประโยชน์ดีกว่าสิทธิอื่น และการนำเงินไปให้กับ รพ.เอกชนถูกต้องหรือไม่ พล.ต.หญิงพูลศรี กล่าวว่า คนละเรื่องกัน อันนี้คือสิทธิที่พึงได้ ที่สำคัญไม่ได้ทำให้งบเพิ่มเติม แต่เป็นเรื่องการเข้าถึงบริการมากกว่า เพราะ รพ.รัฐหลายแห่งไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยในการดึงรพ.เอกชนมาเป็นเครือข่าย จึงเป็นการลดภาระ รพ.รัฐด้วย แต่ในเรื่องงบหรือต้นทุน รพ.เอกชน ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางในการพิจารณาและต่อรอง
ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่ารายละเอียดคู่มือใหม่เป็นอย่างไร และไม่ทราบว่ามีการกำหนดราคากับ รพ.เอกชนอย่างไรด้วย แต่ที่สำคัญกรมบัญชีกลางต้องบริหารงบประมาณให้คงไว้ที่ไม่เกิน 60,000 ล้านบาทต่อปีให้ได้ เพราะเป็นงบที่จำกัดไว้ และหากกรมบัญชีกลางบริหารเกินก็ต้องหาเงินมาชดเชย ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการขยายให้ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการเข้ารับบริการ รพ.เอกชน เพิ่มเติมอย่างไร แต่หากคงงบไม่ให้เกินที่กำหนดก็ถือว่าทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อกังวลว่า งบข้าราชการหากมีการใช้มากเกินไป ขณะที่บัตรทองกลับไม่เพิ่มจะทำอย่างไร ศ.อัมมาร กล่าวว่า สำหรับบัตรทองนั้น จากการวิเคราะห์ที่ผ่านมาควรมีการเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2 ต่อปี หรือรัฐควรเจียดเงินให้อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท เพราะเอาเข้าจริงงบกองทุนหลักประกันสุขภาพไปถึงรพ.ก็จะเป็นรูปงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งไม่ได้มากมาย ขณะที่การพัฒนาในส่วนรพ.สังกัด สธ. ก็แทบไม่มี จะทำได้ก็เป็นเงินสำรองหรือเงินบำรุงของ รพ.มากกว่า
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า หากกรมบัญชีกลางจะมีการขยายสิทธิการรักษากรณีผู้ป่วยในให้ข้าราชการ ไปใช้บริการ รพ.เอกชนเพิ่มเติมนั้น คงไม่มีใครว่า หากมีการควบคุมงบประมาณในวงเงินไม่เกิน 60,000 ล้านบาทต่อปีได้ตลอดก็ไม่น่ามีปัญหา แต่หากงบต้องเพิ่มเติม เพราะเอาไปให้ รพ.เอกชน อันนี้ไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองที่ดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคนต้องตกเป็นจำเลย เป็นแพะมาตลอดว่า ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองกว่าแสนล้านบาท เพิ่มขึ้นทุกปี แต่หากพิจารณามีการจัดสรรเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว ขณะที่ประกันสังคมดูแลคนกว่า 10 ล้านคน ก็เหมาจ่ายรายหัว แต่สิทธิข้าราชการดูแลคน 5 ล้านคน แต่ใช้งบมากมาย โดยบอกว่าเป็นสิทธิ ซึ่งหากพูดถึงสิทธิก็ย่อมทำได้ เพียงแต่หากจะควบคุมงบประมาณด้านประกันสุขภาพฯ อยากให้มองทุกกองทุนฯด้วย
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า อย่างสิทธิสวัสดิการข้าราชการที่ผ่านมา แม้จะคงงบไว้ไม่เกิน 60,000 ล้านบาท แต่ก็มีบานปลายอยู่บ้าง โดยเฉพาะแพทย์ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยโรคมักให้ยาแพงๆ จนเคยเป็นประเด็นครั้งหนึ่ง รวมไปถึงการให้กลูโคซามีน ซึ่งข้าราชการมองว่าเป็นยารักษาข้อเข่าเสื่อม แต่จริงๆ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มบัญชียาหลักแห่งชาติ ถือว่าไม่จัดเป็นยาด้วยซ้ำ แต่ล่าสุดมีกลุ่มข้าราชการไปฟ้องศาลปกครอง ขอให้ใช้ยานี้ได้อีก คือ ข้าราชการได้สิทธิมากมาตลอด ซึ่งไม่ได้คัดค้าน แต่อยากให้มีกระบวนการตรวจสอบว่า การจ่ายยาแพงเกินไปหรือไม่ และสมควรให้ยาในลักษณะใด เพราะเอาเข้าจริงกรมบัญชีกลาง ไม่สามารถมาตรวจสอบตรงนี้ได้ ทำได้เพียงจ่ายเงินดังกล่าว และรับรองสิทธิข้าราชการ ดังนั้น การบริหารจัดการให้ดีและอยู่ในงบประมาณ รวมทั้งประสบการณ์ต่อรองราคากับ รพ.เอกชน ควรเป็นหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ สปสช.ทำหน้าที่บริหารให้เหมือนกองทุนพัฒนาระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลพนักงานและลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 17 กรกฎาคม 2558
- 716 views