กรมควบคุมโรค ได้กำหนดให้รณรงค์วัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ประชาชนอายุ 20-50 ปี ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยวัคซีนที่ให้ในครั้งนี้เป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก 2 โรครวมอยู่ในเข็มเดียวกัน ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนได้รับการป้องกันทั้งโรคคอตีบและบาดทะยักไปในคราวเดียวกัน
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ พบว่าในช่วงนี้มีรายงานโรคติดต่อหลายโรคที่ไม่มีการระบาดในประเทศไทยมานานแล้วหรือมีรายงานผู้ป่วยต่อปีจำนวนน้อยมากในหลายจังหวัด แต่ไม่มีการเชื่อมโยงกันและไม่มีการระบาด ส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันด้วยวัคซีน เช่น โรคคอตีบ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคคอตีบในปี พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วย 16 ราย เสียชีวิต 4 ราย ส่วนปี พ.ศ. 2558 นี้ สถิติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 กรกฎาคม 2558
มีรายงานผู้ป่วยโรคคอตีบ 10 ราย จากจังหวัดยะลา ตาก จันทบุรี และสุรินทร์ ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย โรคคอตีบเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โครินแบคทีเรียม ดิปทีเรียอิ (Corynebacterium diphtheriae) โรคนี้ป่วยได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค แต่มักจะพบในเด็กเล็ก ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคคอตีบ คือ ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด สุขอนามัยไม่ดี และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เชื้อจะอยู่ในโพรงจมูก โพรงหลังจมูก ลำคอ โดยโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็วในกลุ่มคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน จากการคลุกคลีกับผู้ป่วย การสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ละอองหายใจ การไอจามรดกัน เป็นต้น ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-5 วัน เมื่อได้รับเชื้อเชื้อจะสร้างสารพิษ ซึ่งเป็นโปรตีนมีพิษต่อร่างกาย เรียกว่า ดิปทีเรีย ท๊อกซิน (Diphtheria Toxin) สารพิษนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ เกิดการตายของเซลล์เยื่อเมือกในทางเดินหายใจ เม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดง รวมทั้งการตายสะสมของแบคทีเรีย ทำให้เกิดเป็นแผ่นเยื่อหนาปกคลุมและอุดกั้นทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจไม่ออก อาการที่พบบ่อย คือ ไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก หนาวสั่น อ่อนเพลีย เจ็บคอมาก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ จากนั้นเสียงจะแหบลงเรื่อยๆ บางรายอาจมีอาการรุนแรง ต้องเจาะคอ หรือเสียชีวิตได้ โรคคอตีบรักษา ให้หายขาดได้ด้วยยาต้านสารพิษ ยาปฏิชีวนะ และการฉีดวัคซีนป้องกัน
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การป้องกันและควบคุมโรคคอตีบ ได้แก่ 1) ผู้ป่วยโรคคอตีบจะมีเชื้ออยู่ในจมูก ลำคอ เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังเริ่มมีอาการหรือตรวจไม่พบเชื้อแล้ว 2 ครั้ง ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบ อาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นเต็มที่ อาจเป็นโรคคอตีบซ้ำอีกได้ จึงต้องให้วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักแก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน 2) ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรได้รับการติดตามดูอาการ 7 วัน ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน หรือได้ไม่ครบ ควรให้ยาปฏิชีวนะ เป็นเวลา 7 วัน พร้อมทั้งเริ่มให้วัคซีน เช่นเดียวกับผู้ป่วย 3) ในเด็กทั่วไป กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการในการป้องกันโรคคอตีบอยู่แล้ว โดยการให้วัคซีน ครั้งที่ 1, 2 และ 3 เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน, ครั้งที่ 4 และ 5 เมื่อเด็กอายุ 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี และครั้งที่ 6 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามลำดับ ทั้งนี้ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีนตามตารางการให้วัคซีนให้ครบถ้วน
กรมควบคุมโรค ได้กำหนดให้รณรงค์วัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ประชาชนอายุ 20-50 ปี ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยวัคซีนที่ให้ในครั้งนี้เป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก 2 โรครวมอยู่ในเข็มเดียวกัน ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนได้รับการป้องกันทั้งโรคคอตีบและบาดทะยักไปในคราวเดียวกัน และหลังได้รับวัคซีนเจ้าหน้าที่จะขอให้ผู้มาขอรับวัคซีนอยู่ที่สถานบริการสุขภาพ เพื่อสังเกตอาการภายหลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที ประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 9 views