เว็บไซต์มติชนออนไลน์ : “นพ.สุรศักดิ์” รพ.รามาฯ แจงล้างไตช่องท้องและฟอกเลือดต่างให้ผลการรักษาดีเท่ากัน คือช่วยยืดอายุผู้ป่วยให้ยืนยาวขึ้น ระบุสิทธิ ขรก.ดีกว่าบัตรทองแน่นอน ส่วนบัตรทองต้องรักษาตามที่ สปสช.กำหนด แต่ต้องเข้าใจว่าเพราะต้องดูแลคนจำนวนมากของประเทศ จึงต้องกำหนดกติกาไว้ ซึ่งการรักษาถือว่ามีมาตรฐาน แต่ทั้ง 3 สิทธิการรักษา สิทธิประกันสังคมด้อยสุด เหตุใช้เวลาอนุมัตินาน 3 เดือน ระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องสำรองจ่ายก่อน
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 58 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เสียชีวิตมากกว่าสิทธิข้าราชการจำนวนมาก เพราะสิทธิบัตรทองมีการจำกัดวิธีการรักษา เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ต้องรักษาด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีแรก ไม่สามารถร้องขอการฟอกเลือดล้างไตได้ ทำให้ผลการรักษาด้อยกว่าสิทธิข้าราชการ ว่า ข้อเท็จจริงคือ การล้างไตทางช่องท้องและการฟอกเลือดล้างไต ต่างให้ผลการรักษาดีเท่ากัน คือช่วยให้ผู้ป่วยอายุยืนยาวขึ้น แต่ผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การรักษาโรคจึงต่างกันออกไปตามการวินิจฉัยของแพทย์
“สิทธิข้าราชการต้องยอมรับว่าสิทธิการรักษาสูงกว่าบัตรทองแน่นอน เพราะผู้ป่วยสามารถใช้ยาตามความเห็นของแพทย์และเบิกจ่ายได้ตามจริง ผู้ป่วยสามารถตกลงกับแพทย์เลือกวิธีการรักษาได้ ว่าจะใช้วิธีล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดล้างไต แต่ผู้ป่วยบัตรทองต้องรักษาด้วยวิธีการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดมาเท่านั้นคือ การล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีแรก แต่ตรงนี้ต้องเข้าใจ สปสช.ด้วยว่า เพราะต้องดูแลคนจำนวนมากของประเทศ จึงต้องมีการกำหนดกติกาเอาไว้ แต่การรักษาที่วางไว้ก็ถือว่ามีมาตรฐาน เพียงแต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่เหมาะกับการรักษานั้นๆ”
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วการรักษาโรคไตวายเรื้อรังใน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ พบว่า สิทธิประกันสังคมถือว่ามีข้อเสียมากกว่าสิทธิบัตรทองและข้าราชการ เพราะถึงแม้ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมจะสามารถเลือกวิธีการรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยสิทธิข้าราชการได้ แต่กว่าที่คณะกรรมการทางการแพทย์ของประกันสังคมจะอนุมัติให้สามารถเบิกจ่ายได้ก็ใช้เวลานานถึง 3 เดือน ซึ่งช่วงเวลาว่างตรงนี้ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งตกเดือนละ 2-3 หมื่นบาท ถือว่าเป็นงบประมาณที่สูงมากสำหรับคนวัยทำงาน
- 114 views