“นโยบายสาธารณะ” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวางในโมงยามที่ประเทศไทยโหยหา “การปฏิรูป”
หลักการสำคัญของ “นโยบายสาธารณะ” ต้องก่อร่างสร้างขึ้นจาก “กระบวนการมีส่วนร่วม” ในทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้อง
นั่นเพราะ “นโยบายสาธาณะ” เกี่ยวพันกับทุกชีวิต จึงไม่อาจถูกชักนำหรือกุมทิศทางโดยผู้หนึ่งผู้ใดได้
ในการประชุมวิชชาการปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย โอกาส 9 ปี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีเวทีเสวนาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
นั่นคือ เวที “การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม สถานะ คุณค่า และการยอมรับ” ซึ่งมีตัวแทนทั้งจากท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการ สะท้อนมุมมองอย่างหลากหลาย
วิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี และอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย บอกว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีเครือข่ายเชื่อมต่อกันทั่วประเทศ และผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสาธาณะ และพร้อมสนับสนุนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีถึง 64 มติ ในรอบ 8 ปี
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องคำนึงเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ก็คือ ต้องให้องค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและรับทราบนโยบายให้ตรงกัน
“การที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติอะไร ขอให้เรามีส่วนร่วมและรับทราบก่อน ไม่ใช่ถกกันเสร็จแล้วจึงส่งมาให้ดำเนินการ” วิจัย กล่าวชัด
สำหรับการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปปฏิบัติ พบว่าปัจจุบันยังมีปัญหาเนื่องจากการรับรู้มติสมัชชาสุขภาพกระจุกตัวในบางท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศอย่างแท้จริง แต่กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ เมื่อรับนโยบายไปแล้ว กลับต่างคนต่างทำ ไม่เคยมีบันทึกความตกลง (MOU) ร่วมกัน และบางครั้งก็ไม่ได้เชิญ อปท. มาร่วมตั้งแต่ต้น
"เมื่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีฉันทมติออกมาแล้ว ควรขับเคลื่อนไปสู่นโยบาย และกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รับไปปฏิบัติ โดยมีแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานที่ชัดเจนแล้วจึงจัดส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัดรับทราบด้วย เพราะสุดท้ายนโยบายต่างๆ จะทำให้สำเร็จและเข้าถึงประชาชนได้จริง ก็ต้องเป็นหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่น" นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพนัสนิคมรายนี้ ระบุ
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เป้าหมายของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คือนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม แต่การมีส่วนร่วมอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องพิจารณาว่าจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
“ส่วนตัวมองว่าถ้าจะประสบความสำเร็จ ต้องมี 5 ภาคส่วนที่เดินหน้าไปด้วยกัน คือหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ภาคสังคม นักวิชาการ และนักการเมือง ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ไปด้วยกัน โดยเฉพาะปัญหาที่ภาคเอกชนยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากภาคส่วนอื่น มักถูกมองเป็นผู้ร้ายเสมอ” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวตรงไปตรงมา
พรศิลป์ บอกว่า อยากให้ทุกฝ่ายรับฟังปัญหาของภาคธุรกิจบ้าง บางครั้งภาคธุรกิจไม่กล้ามาร่วม เพราะอาจจะกลัวว่า มาแล้วไม่มีใครสนใจฟัง หรือถูกต่อว่าต่อขาน เห็นเสียงภาคธุรกิจเป็นแค่น้ำจิ้ม แต่ถ้าจะให้ยุทธศาสตร์ประเทศ เข้าสู่สมดุล ต้องปรับหาจุดยืนให้ตรงกันก่อน
ตัวแทนภาคประชาชนอย่าง ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารภาคใต้ ที่ปรึกษา HIA ชุมชน 10 พื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า การสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ดี แต่การมุ่งสร้างนโยบายอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องใช้เวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ข้อมูลรอบด้าน ไม่ควรรีบให้เกิดนโยบายเร็วเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วจะได้แค่เอกสารมาใบหนึ่ง สุดท้ายจะไม่มีความหมาย
ทั้งนี้ มี 3 เรื่องที่ควรดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการ และให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของชุมชน ประกอบด้วย 1.การหาศักยภาพของพื้นที่ เช่น กรณีพื้นที่ชายฝั่งอันดามันภาคใต้ ซึ่งได้ระดมประชาชนมาค้นหาศักยภาพพื้นที่จนค้นพบ “อ่าวทองคำ” อันเป็นขุมทรัพย์ทางทะเลและความสวยงาม ของพื้นที่ที่ทุกภาคส่วนล้วนเห็นคุณค่าและร่วมกันหวงแหน
2.การร่วมกันศึกษาปัจจัยคุกคามหรือปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาของพื้นที่ 3.ร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อย่างสมดุลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกคนทาง
ด้าน รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยอมรับว่า กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะของ สช. ที่ผ่านมาอาจยังมีจุดอ่อนหรืออุปสรรคอยู่บ้าง แต่ต้องยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อเสริมจุดอ่อนของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ประชาชนยังไม่สามารถเสนอนโยบายผ่านนักการเมืองโดยตรงได้
ข้อเสนอที่ได้รับจากฝ่ายต่างๆ ยอมรับว่าตรงกับหลักการของกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ทั้งขาขึ้น ขาเคลื่อน และการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เช่น การจัดให้มีเวทีให้คนมาพูดคุยกัน โดยใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้ง
"ขณะนี้เริ่มมีการปรับปรุงการเปิดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเพื่อรับฟังปัญหา โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ยอมรับว่าในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งแรกๆ ภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนทำให้ ไม่อยากมาร่วมในกระบวนการนี้ แต่ยืนยันว่าวันนี้บรรยากาศเริ่มดีขึ้น ความรู้สึกไว้วางใจต่อกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” อาจารย์ชื่นฤทัย ยืนยัน
รศ.ดร.ชื่นฤทัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่นับเป็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงคือการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้น กระทรวงที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภาพโดยตรง มักไม่ให้ความสนใจกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายสาธารณะมากนัก
"เรามีแนวคิดว่าหลังจากนี้จะดึงกระทรวงเข้ามาร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะให้ใกล้ชิดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่" อาจารย์ชื่นฤทัย ระบุ
- 30 views