“นักวิชาการด้านยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์” ชี้ไทยยังมีแค่ “ยาเพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอน” เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีและถูกบรรจุในระบบบัตรทองแล้ว เหตุยากลุ่ม DAA ติดสิทธิบัตร ราคาแพงเม็ดละกว่า 3 หมื่นบาท รักษาต่อเนื่อง 3 เดือน เฉลี่ย 2.5 ล้านบาท/คน แม้มียาสามัญในอินเดียแต่นำเข้าไม่ได้ ขณะที่ภาคประชาสังคมทั่วโลกร่วมคัดค้านสิทธิบัตรยานี้ ชี้โครงสร้างยาคล้ายยาต้านไวรัสเอดส์ ไม่ถือเป็นยาใหม่ ด้าน “หมอชูชัย” ยันภารกิจ สปสช. ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาครอบคลุม แม้กลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูง ระบุโรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นตัวอย่างการเข้าถึงการรักษาสิทธิบัตรทอง
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบซีเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตนเองมีไวรัสตับอักเสบซีอยู่และจะมาโรงพยาบาลภายหลังจากภาวะโรคลุกลาม ไม่ว่าจะเป็นภาวะตับแข็ง ตัวซีด และเริ่มมีอาการมะเร็งตับแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก โดยผู้เป็นไวรัสตับอักเสบซีบางคนสามารถสร้างภูมิต้านทานร่างกายและสามารถจัดการเชื้อได้ แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้เพียงร้อยละ 30 ที่เหลืออีกร้อยละ 70 จะเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งสามารถหายขาดจากโรคได้หากได้รับยารักษา แต่ในอดีตมีปัญหาต่อการเข้าถึงการรักษาเพราะด้วยราคายาที่แพงมาก ผู้ป่วยต้องได้รับยาเพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอน (pegylated-interferon) ซึ่งเป็นยาฉีด ราคาอยู่ที่หลอดละ 10,000-20,000 บาท ต้องฉีดยาต่อเนื่อง 24 สัปดาห์ และในกรณีที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องรับการรักษาที่นานขึ้น โดยต้องฉีดยาต่อเนื่อง 48 สัปดาห์
ยาเพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอน (pegylated-interferon)
นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้ได้กำหนดให้การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) หลังการหารือร่วมกับคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ และได้ต่อรองราคายาเพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอน กับบริษัทยาเหลือเพียงหลอดละ 3,000 บาทเท่านั้น และยังให้ควบคู่กับยาไรบาวิริน (Ribavirin) ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีในบ้านเรา
อย่างไรก็ตามแม้ว่า สปสช.จะบรรจุการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีไว้ในสิทธิประโยชน์แล้ว แต่จากการติดตามพบว่าผู้ป่วยยังคงมีปัญหาการเข้าถึง มีการใช้ที่น้อยมาก ปัจจุบันน่าจะมีผู้ป่วยได้รับยาเพียงแค่ 3,000 ราย จากที่คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้อยู่ที่ 10,000 ราย เหตุผลเพราะก่อนรับยาต้องมีการตรวจคัดกรองอย่างมากในการวางแผนการรักษา ทั้งการตรวจภาวะตับอักเสบเรื้อรัง สภาพตับ และสายพันธุ์ไวรัสตับอักเสบซี (มี 7 สายพันธุ์ ยามีประสิทธิผลดีกับสายพันธุ์ 3) และมีค่าใช้จ่ายที่ 20,000 บาทต่อราย โดยในผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะสูงถึง 40,000 บาทต่อราย ดังนั้น สปสช.จึงได้ออกหลักเกณฑ์ใหม่โดยให้ยานี้กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อทุกราย และจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ โดยขณะนี้เครือข่ายผู้ป่วยพยายามทำงานกับชุมชนและโรงพยาบาลเพื่อให้ทราบหลักเกณฑ์การให้ยาผู้ป่วยตับอักเสบซีใหม่นี้
นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มียาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) เป็นยาใหม่ที่ให้การรักษาดีกว่ายาเดิมมาก มีประสิทธิภาพการรักษาสูงมาก เป็นยาที่เข้าไปจัดการกับตัวไวรัสโดยตรง หรือที่เรียกว่ายา Direct Acting Antiviral drugs ( DAA) ทั้งยังลดระยะเวลาการรักษาต่อเนื่องเหลือเพียง 12 สัปดาห์ และไม่มีผลข้างเคียง ขณะที่ยาเพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอนเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ใช้เวลาการรักษา 24-48 เดือน และมีผลข้างเคียงมากคล้ายกับผู้ป่วยได้รับยาคีโมบำบัด อย่าง ผมร่วง เบื่ออาหาร ตัวซีด เป็นต้น แต่เนื่องจากยังติดสิทธิบัตร ทำให้มีราคาสูงมากถึงเม็ดละ 33,000 บาท และต้องกินต่อเนื่อง 3 เดือน โดยคิดเป็นเงินกว่า 2.5 ล้านบาท จึงเป็นปัญหาการเข้าถึงยา
ทั้งนี้เครือข่ายประชาสังคมและผู้ป่วยทั่วโลกกำลังต่อสู้ในเรื่องนี้ โดยพบความไม่สมบูรณ์ของสิทธิบัตร เนื่องจากยานี้มีโครงสร้างยาคล้ายกับยาต้านไวรัสเอชไอวีบางรายการที่มีใช้มานานแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีบริษัทยาในประเทศอินเดียผลิตยาสามัญสามารถผลิตยานี้ได้ ราคาเม็ดละ 240-300 บาท แต่ก็ไม่สามารถนำเข้าได้เพราะติดสิทธิบัตรยา จึงมีการยื่นคัดค้านและไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ได้ยื่นคัดค้านการจดสิทธิบัตรยานี้ นอกจากนี้ยังทราบว่าขณะนี้มีบริษัทยาอื่นๆ ที่ผลิตยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มยา DAA เช่นกัน นับเป็นความหวังของผู้ป่วย
“ยากลุ่ม DAA ยังไม่มีการนำเข้าในไทย ขณะนี้แพทย์จีงมีเพียงยาเพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอนเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีเท่านั้น ซึ่งได้บรรจุในสิทธิประโยชน์บัตรทองแล้ว ในอนาคตเชื่อว่าหากยากลุ่ม DAA มียาสามัญทั้งจากนำเข้าหรือผลิต ราคาถูกลง เชื่อว่าจะถูกบรรจุเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเช่นกัน เพราะเป็นโรคที่หายขาดได้ด้วยยา คุ้มค่าการรักษา” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษานับเป็นภารกิจหลักของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ระบบสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม แม้แต่โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งการเข้าถึงยาเพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอนในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ สปสช.ได้ต่อรองราคายาจากเข็มละกว่าหมื่นบาท จนนำยาเข้าสู่ระบบให้กับผู้ป่วยได้ รวมถึงการปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาจนผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ เป็นการดำเนินการในระดับนโยบาย ส่วนในระดับปฏิบัติที่ยังเป็นปัญหาจะมีการร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ และเครือข่ายผู้ป่วย เพื่อแก้ปัญหาเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีเข้าถึงการรักษาต่อไป
- 524 views