“หมอยุทธิชัย” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัณโรค แจง สปสช.ไม่ใช่สาเหตุทำให้เกิดวัณโรคดื้อยาในไทย แต่สาเหตุมาจาก ผู้ป่วยกินยาไม่ครบตามกำหนด และหน่วยบริการไม่ได้ติดตามการรักษา ระบุสิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ไม่ใช่ความขัดแย้ง สธ.-สปสช. แต่เป็นสถานการณ์เชื้อดื้อยาวัณโรคในไทย หลังกองทุนโลกตัดงบช่วยเหลือด้านวัณโรค ชี้ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติหากเป็นกลุ่มที่เข้ามาผิดกฎหมายใครจะดูแล สปสช.ไม่สามารถดูแลได้ เพราะกฎหมายให้เฉพาะดูแลคนไทยเท่านั้น หากเปลี่ยนเป็น สธ.โดยกรมควบคุมโรค ก็ทำได้เพียงดูแลป้องกัน ไม่มีงบรักษา ชี้หากไม่เร่งดูแล ปัญหาวัณโรคดื้อยาเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน
นพ.ยุทธิชัย เกษตรเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัณโรค อดีตผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีแนวทางการดำเนินงานป้องกันและควบคุมวัณโรค และสถานการณ์เชื้อวัณโรคดื้อยาในไทย ว่า สปสช.ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดวัณโรคดื้อยามากขึ้นในไทย เพราะสาเหตุการดื้อยามาจากการที่คนไข้กินยาไม่ครบถ้วน ถูกต้อง ซึ่งอาจจะมาจากผู้ป่วยไม่กินยาตามที่กำหนด และหน่วยบริการไม่ติดตามการรักษา หรืออาจจะมาจากทั้งสองสาเหตุ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถือว่าเป็นการจับแพะชนแกะ แต่ต้องชื่นชม สปสช.ที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค และ สปสช. ต่างเป็นหน่วยงานที่ทำงานเพื่อประชาชนด้านสาธารณสุข แต่มีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ซึ่ง นพ.ยุทธิชัย เห็นด้วยที่มีการแยกบทบาทออกจากกันเช่นนี้ โดยระบุว่า สธ.ต้องทำงานเชิงเทคนิค ทำหน้าที่งานวิชาการ และต้องทำให้เห็นว่าวิธีการควบคุมและป้องกันโรคที่กรมเสนอเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และพิสูจน์ได้ว่าสามารถนำไปใช้ได้ทั่วประเทศ ขณะที่ สปสช. ในฐานะผู้จัดการกองทุน ต้องนำข้อมูลของกรมควบคุมโรคไปดูว่าคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ ถ้าคุ้มก็ให้เงินไปทำ แล้วคอยควบคุมกำกับการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งสองหน่วยงานต้องเล่นบทบาทของตัวเอง “สธ. ต้องแน่จริง ทำงานได้จริง ถึงจะได้เงินมา” ส่วน สปสช. ต้องคิดว่าถ้าแน่จริง ทำได้จริง ขอเข้ามาได้เงินแน่ และคนกลางที่ต้องเป็นผู้ควบคุมกำกับ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”
สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดตอนนี้ นพ.ยุทธิชัย ระบุว่าไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่าง สธ. และ สปสช. แต่เป็นการรับมือกับวัณโรค คือ ไทยจะรับมือการแพร่กระจายของวัณโรคในกลุ่มชุมชนแรงงานข้ามชาติอย่างไร หลังจากที่กองทุนโลกได้ตัดงบประมาณให้ความช่วยเหลือด้านการควบคุมการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคลงทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลาง ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินแล้ว
ซึ่งจำนวนแรงงานข้ามชาติและครอบครัวที่กระจายอยู่ในเมืองไทยนั้น นพ.ยุทธิชัย ประมาณการว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 4 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิ แต่ส่วนใหญ่นั้นมาแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลที่มีกระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการได้
นพ.ยุทธิชัย กล่าวว่า คำถามคือหากเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อร้ายแรง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค แรงงานกลุ่มที่เข้ามาแบบไม่ถูกต้องใครจะเป็นผู้ดูแล เพราะเดิมมีเงินจากกองทุนโลกเข้ามาปิดช่องว่างตรงนี้ แต่เมื่อไม่มีกองทุนโลกแล้วจะหันหน้าไปพึ่งใคร ถ้าจะให้ สปสช. ดูแล ตามกฎหมายก็บอกว่าให้ดูแลเฉพาะคนไทยที่มีบัตรประชาชน มีเลขประจำตัว 13 หลัก เท่านั้น ถ้าเปลี่ยนเป็นกระทรวงสาธารณสุข บทบาทของกรมควบคุมโรค ก็เป็น “ฝ่ายเทคนิค” ที่เน้นพัฒนากระบวนการป้องกัน ดูแล รักษาพยาบาล ให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ แต่ไม่มีงบประมาณให้สำหรับการรักษาผู้ป่วย
“อย่าลืมว่าแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ล้วนแต่ยังคงอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือเร่งกระบวนการเปลี่ยนนิยามของคนที่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จาก การดูแล “คนไทย” ให้ครอบคลุมถึง “คนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย” เพราะเมื่อมีโรคติดต่อจากแรงงานข้ามชาติระบาดในเมืองไทย ก็หนีไม่พ้นที่ “คนไทย” ต้องเสี่ยงอยู่ดี” นพ.ยุทธิชัยระบุ
นพ.ยุทธิชัย เสนอทางเลือกในระหว่างที่รอการแก้ไขนิยามในกฎหมาย ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะแก้ไขเสร็จว่า ขอให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจาทำความเข้าใจกับประเทศในอาเซียนให้ร่วมกันลงขัน เพื่อเป็นกองทุนดูแลรักษา ป้องกันโรคให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทั้ง พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม หรือหารือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยให้ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อดูแล หากไม่เร่งดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง หลังจากที่กองทุนโลกถอนตัวออกไปคาดว่าจำนวนผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในเมืองไทยจะมีมากขึ้นแน่นอน เราคงไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติที่เป็นวัณโรคให้กลับไปรักษาที่ประเทศของเขาได้เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรค เพราะสุ่มเสี่ยงกับการถูกกล่าวหาว่าไม่มี “มนุษยธรรม”
“ประเทศไทยจะพร้อมหรือไม่พร้อมรับมือกับปัญหาหลังจากการถอนตัวของกองทุนโลกหรือไม่ ไม่สำคัญแล้ว เพราะอย่างไรเสียกองทุนโลกก็ต้องถอนตัวออกไป ดังนั้นโจทย์นี้จึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่สำคัญที่ต้องหาคำตอบให้ได้เร็วที่สุด ก่อนที่ปัญหาโรคติดต่อในแรงงานข้ามชาติจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในอนาคตอันใกล้” อดีตผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กล่าว
- 34 views