นพ.เจตน์ โพสต์ Facebook ข้อสรุป กมธ.สธ.สนช. หลังเชิญ ผู้เกี่ยวข้องหารืองานวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ของทีดีอาร์ไอ สรุป ผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตมากกว่าข้ราชการ การจัดซื้อยาและวัสดุการแพทย์ต้องคุมคุณภาพ ควรมีการร่วมจ่ายเหมือนข้าราชการร่วมจ่ายกรณีเลือกใช้วัสดุการแพทย์ แต่ระบุต้องวิจัยต่อเนื่อง เพราะการมีงบจำกัด ยากที่จะรักษาคุณภาพ ทำให้กระทบต่อ ปชช.

ขอบคุณภาพจาก facebook นพ.อิทธพร คณะเจริญ

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์ Facebook ส่วนตัว เมื่อวันที่ 2 ก.ค.58 ระบุว่า เมื่ออาทิตย์ก่อน กมธ.สธ.ได้เชิญ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) มาชี้แจงการวิเคราะห์งานวิจัยเรื่องผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และในวันที่ 30 มิ.ย.58 ได้เชิญ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ, ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร เจ้าของงานวิจัยนี้ พร้อม ผอ.สำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) รอง ผอ.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) และ ผช.ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.สธ. มาร่วมชี้แจง เพื่อศึกษางานวิจัยที่มีความสำคัญชิ้นนี้

โดย นพ.เจตน์ ได้สรุปว่า “กมธ.สธ.เห็นว่ารายงานนี้มีฐานข้อมูลที่มาก สรุปได้ว่าผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการ การจัดซื้อยาและวัสดุการแพทย์ต้องมีการควบคุมคุณภาพในการประมูล ไม่ใช่คำนึงถึงราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว ควรมีการร่วมจ่ายจากผู้ป่วยได้เหมือนการร่วมจ่ายของข้าราชการในการเลือกใช้วัสดุการแพทย์ ต้องมีงานวิจัยต่อเนื่องเพราะการที่งบประมาณมีจำกัด คงยากที่จะรักษาคุณภาพการบริการเอาไว้ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องมีการติดตามประเมินผลและเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อให้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินต่อไปอย่างมีคุณภาพ ครับ”

รายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้

“กมธ.สธ.เชิญ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติจากคณะแพทย์จุฬาฯ และ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย จาก NIDA มาชี้แจงการวิเคราะห์งานวิจัยของ TDRI เมื่ออาทิตย์ก่อน

และเชิญ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร เจ้าของงานวิจัยที่แพร่หลายในSocial media จาก TDRI พร้อม ผอ.สำนักบริหารการสาธารณสุข รอง ผอ.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และ ผช.ผอ.สนย.ของ สธ.มาร่วมชี้แจงในวันนี้ (๓๐ มิ.ย.) เพื่อศึกษางานวิจัยที่มีความสำคัญชิ้นนี้

ซึ่งเป็นงานวิจัยที่นักวิจัยจาก TDRI สนใจ จึงไปขอสนับสนุนงบฯ จาก สปสช.และ สธ.มาดำเนินการ

สรุป

จากฐานข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมด ๑,๐๖๗,๙๕๔ คน เป็นบัตรทอง ๗๓๑,๙๔๕ คน สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ๓๓๖,๐๐๙ คน  ทุกคนเป็นผู้ป่วยในที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี อัตราเฉลี่ยบัตรทอง ๗๘ ปี สวัสดิการข้าราชการ ๗๔ ปี ในช่วงปี ๒๕๕๐-๒๕๕๔ โดยป่วยเป็นอย่างน้อย ๑ ใน ๕ โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง พบว่าอัตราการใช้บริการของข้าราชการสูงกว่าบัตรทองอย่างชัดเจน พบอัตราการเสียชีวิตที่ รพ.ของบัตรทองสูงกว่าสวัสดิการข้าราชการ ๔๔% ต่อ ๓๘% (อัตราตายใน ๑ ปีของบัตรทอง ๒๒.๖๙% ของสวัสดิการข้าราชการ ๑๖.๒๘%)

ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยของระบบข้าราชการสูงกว่าบัตรทอง อัตราผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่หลังจำหน่ายจาก รพ. ๑๐ วัน, ๔๐ วัน และ ๑๐๐ วัน พบว่าสวัสดิการข้าราชการสูงกว่าบัตรทองทั้งหมด หลังออกจาก รพ. ๑๐๐ วัน ข้าราชการยังมีชีวิตอยู่๓๔% ในขณะที่บัตรทองเหลือเพียง ๐.๐๑%  

TDRI สรุปว่าผู้ป่วยในระบบบัตรทองมีสัดส่วนการตายที่โรงพยาบาลมากกว่า ใช้ค่ารักษาพยาบาลในช่วงปีสุดท้ายก่อนตายสูงกว่า โดยเฉพาะใน ๙๐ วันก่อนตาย แต่เห็นว่าผู้ป่วยบัตรทองมีข้อจำกัดในด้านข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมมากกว่าบัตรทอง มารักษาต่อเมื่อป่วยหนักและมักไม่ทราบถึงความรุนแรงของโรคที่เป็น โดยเฉพาะองค์ความรู้ในโรคที่เป็น เห็นว่า ประเด็นหลักคือการเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิทั้งสอง

แต่ที่ประชุมเห็นว่าถ้าจะให้สิทธิเท่ากัน ก็ควรทำให้สิทธิที่แย่กว่าให้เพิ่มขึ้นทัดเทียมกับสิทธิที่ดีกว่า ไม่ใช่การรวมกองทุนแล้วทำให้สวัสดิการข้าราชการถดถอยลงมาย่ำแย่เท่าบัตรทอง

ส่วนนักวิจัยทั้ง ๒ ท่านนั้น วิเคราะห์จากความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า ผู้ป่วยมะเร็งตายมาก เนื่องจากระบบบัตรทองที่ใช้สูตรสำเร็จในการรักษาเพราะต้องการลดต้นทุน กรรมาธิการหลายท่านเห็นว่า ถ้าหากมีการร่วมจ่าย อาจช่วยให้ดีขึ้น
ในโรคหัวใจขาดเลือด และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดที่มีอัตราตายสูง เชื่อว่าเกี่ยวกับคุณภาพของยาและวัสดุที่ใช้รักษา เช่นsten tในการใช้ขยายหลอดเลือดหัวใจตีบ เชื่อว่ามีข้อจำกัดจากการประมูล ทำให้ได้ของที่มีคุณภาพต่ำ แม้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ แต่โดยระบบต้องให้ผู้ป่วยไปรักษาตามสิทธิ ทำให้เกิดความล่าช้า เห็นว่าการร่วมจ่ายในการซื้อวัสดุอาจช่วยได้

ทั้งสองท่านเชื่อว่าวิธีการประหยัดเงินเป็นตัวตั้งกฎเกณฑ์ ก่อให้เกิดผลเสียในการรักษา ทำให้ขาดการควบคุมคุณภาพจากการแข่งขันของผู้ขายยาและเวชภัณฑ์ แพทย์ไม่มีสิทธิเลือกชนิดและบริษัท ผลคือผู้ป่วยเสียชีวิตมากอย่างที่ไม่ควร มีความเห็นตรงกับ TDRI ว่าผู้ป่วยบัตรทองขาดการส่งเสริมป้องกันโรค ป่วยหนักกว่า เพราะมารักษาในระยะท้ายๆ แต่วิเคราะห์ว่ามีการรักษาที่ไม่ตรงตามหลักการแพทย์ และ/หรือเภสัชกรรมจากระบบบัตรทอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากบัตรทองเกินถึง ๗๑.๕๔๓คน

กมธ.สธ. เห็นว่ารายงานนี้มีฐานข้อมูลที่มาก สรุปได้ว่า ผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการ การจัดซื้อยาและวัสดุการแพทย์ต้องมีการควบคุมคุณภาพในการประมูล ไม่ใช่คำนึงถึงราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว ควรมีการร่วมจ่ายจากผู้ป่วยได้เหมือนการร่วมจ่ายของข้าราชการในการเลือกใช้วัสดุการแพทย์ ต้องมีงานวิจัยต่อเนื่องเพราะการที่งบประมาณมีจำกัด คงยากที่จะรักษาคุณภาพการบริการเอาไว้ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องมีการติดตามประเมินผลและเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อให้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินต่อไปอย่างมีคุณภาพ ครับ”