เมื่อไม่นานมานี้ ตัวแทนเครือข่ายทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อขอให้พิจารณาประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพแพทย์และทันตแพทย์ในปัจจุบัน โดยระบุว่าโอกาสก้าวหน้าของทันตแพทย์มีน้อยกว่าแพทย์ ทั้งโอกาสในการขึ้นตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือโอกาสในการเติบโตในสายงายบริหาร ทั้งๆ ที่ใช้เวลาศึกษาในระดับปริญญาตรี 6 ปีเท่ากับแพทย์ ขณะเดียวกัน ภาระงานในโรงพยาบาล (รพ.) ของรัฐก็ไม่ได้น้อยกว่าแพทย์แต่อย่างใด
เครือข่ายทันตแพทย์แห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 20 พ.ค.58
ทพ.สมชาย กิจสนาโยธิน ตัวแทนเครือข่ายทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ขยายความว่า ภาระงานของทันตแพทย์ไม่ได้มีแค่ถอนฟันอุดฟัน แต่งานทันตกรรมที่ให้บริการอยู่ใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน ปัจจุบันนี้ สามารถแบ่งออกเป็นสาขาเฉพาะทางได้ถึง 10 สาขา ประกอบด้วย สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิโลเฟเชียล ทันตกรรมสำหรับเด็ก ปริทันตวิทยา ทันตกรรมจัดฟัน ทันตกรรมหัตถการ ทันตกรรมประดิษฐ์ ทันตวิทยาเอ็นโดด็อนท์ วิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก ทันตกรรมทั่วไป และทันตสาธารณสุข ซึ่งงานเหล่านี้ต้องสั่งสมประสบการณ์ ทักษะความสามารถ เพราะผู้ป่วยปัจจุบันมีความซับซ้อนและความยากของโรคมากขึ้น
ทพ.สมชาย ยกตัวอย่าง งานด้านการรักษาต่างๆ เช่น การรักษาผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชี่ยล มีทั้งที่เกิดจากพยาธิสภาพ หรือเกิดจากอุบัติเหตุ/ถูกทำร้ายด้วยอาวุธ อาทิ ผู้ป่วยที่มะเร็งหรือเนื้องอกขนาดใหญ่ในช่องปาก ผู้ป่วยขากรรไกรหัก และผู้ป่วยที่สูญเสียเนื้อเยื่อบริเวณช่องปากและใบหน้า รวมถึงพยาธิสภาพแต่กำเนิด เช่น ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ เพราะฉะนั้น ทันตแพทย์ศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชี่ยล ต้องมีประสบการณ์และได้รับการฝึกอบรมขั้นสูง ต้องดำเนินการรักษาที่เป็นสหสาขาร่วมกับงานทันตกรรมจัดฟันและทันตกรรมประดิษฐ์ ถึงจะรักษาผู้ป่วยให้สามารถเคี้ยวอาหารและออกเสียงในการพูดได้ชัดเจนขึ้น
หรือในส่วนของทันตกรรมสำหรับเด็กก็เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคทางระบบ หรือเป็นกลุ่มเด็กพิเศษ โรคสมาธิสั้นในเด็ก บางครั้งอาจจะต้องรักษาด้วยวิธีพิเศษ เช่น การดมยาสลบเพื่อรักษาในห้องผ่าตัด ต้องอาศัยทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารและควบคุมพฤติกรรมเด็ก หรือในเด็กแรกเกิดที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ทันตแพทย์สำหรับเด็กก็มีส่วนเพิ่มคุณภาพชีวิต ทำให้เด็กสามารถดูดนมได้โดยการทำแผ่นปิดเพดาน
แม้แต่การแก้ไขโรคฟันผุโดยการอุดฟันทั่วไป ก็ยังมีความซับซ้อน เช่น การทำเคลือบฟัน การบูรณะฟันผุขนาดใหญ่ด้วยอินเลย์ ออนเลย์ และการครอบฟัน รวมถึงการรักษาคลองรากฟันที่เทคโนโลยีทางทันตกรรมปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการใช้กล้องจุลทรรศน์ร่วมในการรักษา หรือในส่วนของสภาวะโรคเหงือกและแผลในช่องปาก รวมถึงรอยโรคที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง ทันตแพทย์สามารถทำศัลยปริทันต์ในการฟื้นฟูสภาพเหงือก การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อทางปริทันต์ เหงือก กระดูก เพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสียให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม
นี่เป็นเพียงงานส่วนหนึ่งในด้านการรักษา นอกจากนี้แล้ว ทันตแพทย์ยังมีบทบาทร่วมในการสอนและการผลิตบุคลากรทางทันตกรรม มีภาระงานบริการพิเศษที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมทั้งในยามปกติ และในภาวะฉุกเฉินที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เช่นอุบัติเหตุหมู่ ภัยธรรมชาติ และพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล
ทพ.สมชาย กล่าวอีกว่า ทันตแพทย์ยังมักจะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการประสานการทำงานในแผนงานโครงการต่างๆ ของโรงพยาบาล เช่น เป็นผู้นำในการจัดทำแผนกลยุทธ์ของโรงพยาบาล เป็นผู้นำในการจัดการองค์ความรู้และแนวปฏิบัติของทีมพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล เป็นคณะทำงานในการบริหารโรงพยาบาลในตำแหน่งต่างๆ หรือที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้บริหาร งานส่งเสริมป้องกันในระบบบริการปฐมภูมิ จัดให้มีการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมของประชาชนทุกระดับในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างทั่วถึง รวมถึงศึกษาปัจจัยแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อทันตสุขภาพของประชาชน วิเคราะห์ วางแผนเพื่อพัฒนา เพื่อให้การดำเนินงานทันตสาธารณสุขเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
นอกจากนี้ ทันตแพทย์ยังมีภาระงานวิชาการซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการปฏิบัติงานของส่วนราชการ โดยเป็นผู้รับผิดชอบงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการทันตกรรม และระบบการบริการทันตกรรม ทั้งใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน ขณะเดียวกัน งานทันตกรรมยังเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ด้านวิชาการทันตกรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคนิควิธีใหม่ ๆ ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ตลอดจนเกี่ยวข้องกับการให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงงานด้านทันตกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการกำหนดรูปแบบและวิธีการเพื่อใช้ในโครงการด้านทันตกรรมต่างๆที่เป็นนโยบายของกระทรวงและโรงพยาบาล ทันตแพทย์ใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน ต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะแม่ข่ายและลูกข่าย เพื่อวางระบบและกำหนดแนวทางการวางแผนการดูแลรักษาฟื้นฟูสภาพฟันของผู้ป่วยและพัฒนาระบบส่งต่อภายในเครือข่ายบริการสำหรับผู้ป่วยทันตกรรมที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนหรือต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงต้องทำหน้าเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนาในระดับเครือข่ายบริการและหน่วยงานภายนอกในเรื่ององค์ความรู้ทางทันตกรรมที่มีความเชี่ยวชาญขั้นสูง หรือเป็นที่ปรึกษาด้านทันตกรรมขั้นสูงให้กับสหวิชาชีพอื่นๆ ในโรงพยาบาล
ทพ.สมชาย กล่าวด้วยว่า ทันตแพทย์บางสาขามีจำเป็นต้องอยู่เวรหรือสามารถติดตามได้เมื่อภาวะฉุกเฉิน เช่น ทันตแพทย์สาขาศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชี่ยล ใน รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไป ในแผนก ER และอยู่เวรเพื่อรับผู้ป่วยนอกเวลาราชการเหมือนกับแพทย์ ขณะที่แพทย์ก็มีสาขาที่ไม่จำเป็นต้องอยู่เวรรับผู้ป่วยฉุกเฉินเช่นเดียวกับทันตแพทย์ เช่น แพทย์เวชกรรมสังคมแพทย์ผิวหนัง พยาธิแพทย์ ดังนั้นจะเห็นว่าทั้งสองวิชาชีพ ต่างก็มีลักษณะการทำงานที่ต้องรองรับผู้ป่วยทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินเหมือนกัน
“สรุป ทันตแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข จึงเปรียบเสมือนเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคในช่องปาก และปฏิบัติงานในรูปสหสาขาวิชาชีพร่วมกับแพทย์สาขาอื่นๆ ในโรงพยาบาล” ทพ.สมชาย กล่าว
ทพ.สมชาย ระบุว่า ภาระงานที่แจกแจงมาข้างตั้นนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าทันตแพทย์ ก็มีภาระงานหนักพอๆ กับแพทย์ แต่โอกาสในการก้าวหน้ามีน้อยกว่า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข ก็จะมีปัญหาขาดแคลนทันตแพทย์ตามมาอีก
ทพ.สมชาย แสดงข้อมูลการลาออกของบุคลากรแพทย์และทันตแพทย์ ระหว่างปี 2550-2554 เมื่อเทียบกับจำนวนที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรร พบว่าอัตราเฉลี่ยการลาออกของแพทย์ คิดเป็น 15.53% ขณะที่อัตราเฉลี่ยการลาออกของทันตแพทย์สูงถึง 35.69% และข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 พบว่า ทันตแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีทั้งหมด 3,747 คน คิดเป็นเพียง 44% ของกรอบอัตรากำลังที่ควรจะมี ขณะที่แพทย์มีทั้งหมด 12,252 คน คิดเป็น 59% ของกรอบอัตรากำลังที่ควรจะมี
ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีขาดแคลนทันตแพทย์ในภาครัฐสูงมาก ส่งผลต่อการให้บริการภาคประชาชน โดยเฉพาะปัญหาผู้ป่วยต้องรอคิวนาน ซึ่งทันตแพทย์ที่ลาออกจากราชการส่วนใหญ่จะไปเปิดคลีนิคเอง หรือไม่ก็ไปทำงานกับสถานพยาบาลเอกชน เพราะรายได้และค่าตอบแทนแตกต่างอย่างมากมายและมีแนวโน้มจะห่างมากขึ้นอีก ซึ่งระยะยาวแล้วย่อมทำให้ปัญหาการขาดแคลนทันตแพทย์ในภาครัฐทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
“ถ้าเป็นข้าราชการได้เงินเดือน 2-3 หมื่น แต่ถ้าไปอยู่ภาคเอกชนในเมืองมีรายได้เดือนละ 1 แสนบาทขึ้นไป ทำไมเป็นแบบนี้ก็เพราะคุณไปบล็อกเขาไม่ให้ก้าวหน้า คนอยู่ในภาครัฐเห็นเพื่อนทำงานในเมืองรายได้เป็นแสน แต่ตัวเองอยู่ไปก็ไม่โต เต็มที่ก็ซี 8 แล้วเขาจะอยู่ไปทำไม” ทพ.สมชาย กล่าว
- 762 views