กรมควบคุมโรค เผยในปี 2557 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 7,324 คน เกือบร้อยละ 50 เป็นกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง และมีเพียง 1 ใน 3 ที่เคยตรวจหาการติดเชื้อและรู้ผล เร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบบริการใน 2 กลุ่มนี้โดยเฉพาะ 2 โครงการ คือ“การตรวจเอชไอวีและรักษาทันที" เพื่อป้องกันตนเองและเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว และ“การกินยาต้านไวรัสป้องกัน” ใช้อาสาสมัครรวม 8,000 คนในพื้นที่ 7 จังหวัด รู้ผลในอีก 3 ปี เชิญชวนกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสองเข้าร่วมโครงการวิจัยฟรี ตั้งแต่บัดนี้จนถึงพฤษภาคม 2559
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย, นพ.ไมเคิล คาสเซลล์ (Dr.Michael Cassell) ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านโรคเอดส์และวัณโรค องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา, นพ.จอห์น แมคอาเธอร์ (Dr.John McArthur) ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข, นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และคณะแถลงข่าวว่า ในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมควบคุมโรคได้จัดโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้เข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ได้แก่ “โครงการตรวจเอชไอวี และรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันที ในชุมชนและสถานบริการสาธารณสุขหรือเทสต์แอนด์ทรีต (Test and Treat)” และ“โครงการประเมินการกินยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี หรือเพร็พ (Pre-exposure prophylaxis : PrEP)” ทั้ง 2 โครงการนี้ดำเนินการในกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสองโดยเฉพาะ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยต่อสู้กับปัญหาโรคเอดส์มาเป็นเวลา 31 ปี สามารถควบคุมปัญหาการแพร่ระบาดได้ผลดีในอันดับต้นๆ ของโลก ในปี 2557 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ทั่วประเทศ 426,707 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,324 คน ในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 46.7 เป็นกลุ่มชายรักชาย และสาวประเภทสอง ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ พบมากถึงร้อยละ 19.8 และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เคยตรวจหาการติดเชื้อและรู้ผล ส่วนอีก 2 ใน 3 ไม่เคยตรวจ จึงไม่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง อาจถ่ายทอดเชื้อให้คู่นอนขยายวงไปเรื่อยๆทั้งชายและหญิง จึงต้องเร่งพัฒนาโดยการศึกษาวิจัยระบบบริการเฉพาะกลุ่ม เพื่อนำข้อมูลที่ได้จาก 2 โครงการที่กล่าวมา ไปกำหนดนโยบายเพื่อยุติปัญหาเอดส์อย่างตรงสภาพปัญหา
สำหรับยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2555–2559 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อมีเพศสัมพันธ์ และให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคน ทุกสิทธิประกันสุขภาพ เข้าถึงบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสนับสนุนให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีคู่นอนหลายคน ฉีดยาเสพติดเข้าเส้น เข้ารับบริการตรวจเลือด ดูการติดเชื้อเอชไอวี เมื่อผลเลือดบวก จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันที ไม่ต้องรอให้ระดับซีดีสี่ต่ำ ซึ่งมีผลวิจัยพบว่านอกจากจะเป็นการรักษาโรคแล้ว ยังช่วยป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีสู่ผู้อื่นได้อีกวิธีหนึ่ง โดยตั้งเป้ายุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 คือเด็กทารกแรกเกิดไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วัยผู้ใหญ่ลดลงน้อยกว่า 1,000 รายต่อปี ผู้ติดเชื้อทุกคนได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสหลังการวินิจฉัย
นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ประโยชน์ของการรักษาเร็วในผู้ติดเชื้อไอวี คือ 1)สามารถกดปริมาณไวรัสจนไม่สามารถตรวจพบในเลือดได้ภายใน 6 เดือนหลังการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยให้ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปหาคู่นอนได้ 2)ผู้ที่เริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ระดับภูมิคุ้มกันซีดีสี่ยังไม่ลดต่ำมาก จะสามารถทำให้ระดับซีดีสี่ เพิ่มสูงขึ้นได้เร็วกว่าและสูงกว่าผู้ที่เริ่มรักษาที่ระดับซีดีสี่ต่ำๆ ทำให้ลดอัตราป่วยและการเสียชีวิตจากเอชไอวีลงได้ 3)มีโอกาสเกิดโรคผู้สูงอายุ เช่น หลอดเลือดหัวใจ โรคไตวาย มะเร็ง น้อยกว่าผู้ที่เริ่มการรักษาช้าประโยชน์ของการเริ่มรักษาเร็วที่จะมีต่อทั้งตัวผู้ติดเชื้อเองและต่อสังคม จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกระตุ้นให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีทุกเพศ ทุกวัย ได้รับการตรวจเร็วที่สุด และถ้าผลตรวจเป็นลบ ก็ส่งเสริมให้กลับมาตรวจซ้ำอย่างสม่ำเสมอ และให้ยาเพร็พในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อก็มีระบบส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด นับเป็นการส่งเสริมการดูแลรักษาป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ประเทศไทย
ด้าน นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า ในการวิจัยโครงการเทสต์แอนด์ทรีต กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้เครือข่ายเพื่อนชวนเพื่อนในกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสองที่ติดและยังไม่ติดเชื้อ และศึกษาความเป็นไปได้ของการเริ่มให้ยาต้านไวรัสทันทีหลังจากรู้ว่าติดเชื้อ เช่น อัตราการยอมรับที่จะกินยาทันที และกินยาต่อเนื่อง เพื่อการป้องกันตนเองและเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยศึกษาในชุมชนและในสถานบริการใน 7 จังหวัดใหญ่ที่มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในอันดับต้นๆประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ชลบุรี อุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา รับอาสาสมัคร จำนวน 8,000 คน ส่วนโครงการเพร็พ เป็นการศึกษาการตัดสินใจในการกินยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ อัตราการติดเชื้อเอชไอวีในคนที่กินยา และผลข้างเคียงจากยา โดยศึกษาในกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสองที่มีผลเอชไอวีเป็นลบ จำนวน 600 คน ศึกษาที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี และชลบุรี ใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี โดยเปิดรับสมัครอาสาสมัครทั้ง 2 โครงการ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา จนถึงพฤษภาคม 2559 จากนั้นจะติดตามอาสาสมัครทุกคนเป็นเวลา 18 เดือน และใช้เวลาสรุปผลการศึกษา 6 เดือน
ขณะที่ นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวในนามของโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลรัฐมีความพร้อมต่อการให้บริการตรวจเอชไอวีและให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันที เนื่องจากมีนโยบายของประเทศสนับสนุนแล้ว และผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนมีสิทธิประกันสุขภาพที่จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟรี ส่วนการให้ยาเพร็พ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลมาสนับสนุนในการเตรียมความพร้อมของระบบบริการสุขภาพ เพื่อรองรับการใช้ยาเพร็พในประเทศไทย
คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กล่าวในนามตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยนี้ และมีโอกาสได้สร้างความเข้าใจกับพี่น้องในชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มโครงการวิจัย การวิจัยในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานร่วมโครงการวิจัย 9 หน่วยงาน ได้แก่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รพ.เลิดสิน รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รพ.ขอนแก่น, รพ.อุดรธานี, มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ, สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย, มูลนิธิซิสเตอร์, และองค์กรแคร์แมท โดยกรมควบคุมโรค ได้สนับสนุนเทคนิควิชาการ ยาต้านไวรัส ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น จึงขอเชิญชวนให้กลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสองเข้าร่วมโครงการฟรี ติดต่อได้ที่สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-590-3215 หรือที่เว็บไซต์ www.buddystation.org
- 155 views