ผอ.วสส. อุบลฯ ร่อนหนังสือ ค้าน ก.พ.ยกเลิกบรรจุเรียงคิว นวก.สธ./จพ.สธ. เป็นข้าราชการ เหตุส่งผลกระทบรอบรรจุถึง 1.4 พันคน รวมทั้งนักศึกษาเข้าเรียนหลักสูตรสาธารณสุขในวิทยาลัย สถาบันพระบรมราชชนกทั่วประเทศ ชี้เป็นการผลิตภายใต้ความต้องการ ก.สธ. แถมปี 58 ยังประกาศเปิดรับนักศึกษาต่อเนื่อง ขณะที่ ศิษย์เก่า วสส. ค้านเหตุผล ก.พ.เป็นวิชาชีพไม่ขาดแคลน เหตุการใช้จีไอเอสเป็นตัววัดไม่เพียงพอ แต่ต้องดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ด้วย ยันขอคงบรรจุ ขรก.เรียงคิวเช่นเดิม
จากการติดตามความเคลื่อนไหวของสำนักข่าว Health Focus ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีประกาศยกเลิกการคัดเลือกบรรจุเรียงคิวตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.), เจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.สธ.) จากผู้จบการศึกษาจากวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก โดยกำหนดให้เป็นการสอบแข่งขันเช่นเดียวกับผู้ที่จบจากสถาบันนอกสมทบนั้น ล่าสุดได้มีความเคลื่อนไหวจากผู้บริหารสถาบันการศึกษาภายใต้สถาบันพระบรมราชชนก โดย นายภรต โทนแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานเครือข่ายสถาบันวิชาการสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้ทำหนังสือ ที่ สธ. ๐๒๐๓.๐๘๖/๙๖๖ ถึงผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก เรื่อง ก.พ.ยกเลิกมติการคัดเลือกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการและเจ้าพนักงานสาธารณสุข โดยได้แสดงจุดยืนคัดค้านประกาศของ ก.พ. ในเรื่องนี้ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
ตามหนังสือที่อ้างถึง ก.พ. ได้ยกเลิกมติการคัดเลือกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการและเจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติการของผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก โดยยกเลิกการคัดเลือกบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันพระบรมราชชนกในคุณวุฒิที่ ก.พ.กำหนด แล้วให้ใช้วิธีบรรจุโดยการสอบแข่งขัน จากมติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก โดยแต่เดิมมีการผลิตตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละปี และปัจจุบันยังมีบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบในสายงานนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) ปฏิบัติการ 541 คน และเจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.สธ.) ชุมชน 935 คน รวมเป็น 1,476 คน และยังมีนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการผลิตในทุกวิทยาลัยของสถาบันพระบรมราชชนก และในปีการศึกษา 2558 นี้ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรอื่นๆ ที่สถาบันพระบรมราชชนกรับผิดชอบ มีผลกระทบต่อพันธกิจของวิทยาลัยในสังกัดเครือข่ายสถาบันวิชาการสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์
ในการนี้เครือข่ายสถาบันวิชาการสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสองหลักสูตร ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของผู้สำเร็จการศึกษาและที่กำลังศึกษา รวมทั้งคณาจารย์และบุคลากรของวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพงาน จึงขอให้สถาบันพระบรมราชชนก พิจารณาส่งเรื่องให้ ก.พ.ทบทวนมติให้ยกเลิกการคัดเลือกเกณฑ์เดิม แต่ให้ไปสอบคัดเลือก ในขณะที่สายงานอื่นให้คัดเลือกตามแบบเดิม
ด้าน นางสาวพิริญา บุญทีไธสง อดีตศิษย์เก่าวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร หนึ่งในแออมินเพจ ร้อยรวมใจชาว วสส. กล่าวว่า ในส่วนของศิษย์เก่า วสส. ยังรอดูท่าทีของ ก.พ. ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ยื่นอุทธณ์ รวมทั้งผลภายหลังจากที่ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยได้เคลื่อนไหวในวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนต่อในด้านข้อมูลและวิชาการ
ทั้งนี้เหตุผลการยกเลิกการบรรจุเรียงคิว นวก.สธ./จพ.สธ. ที่ ก.พ.ระบุว่าไม่ขาดแคลนนั้น ยอมรับว่า หาก ก.พ.วัดโดยเทียบจากการใช้อัตราจีพีเอสและดูที่กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากที่มีสถาบันนอกสมทบร่วมผลิต ก็คงบอกว่าไม่ขาดแคลนได้ แต่ข้อเท็จจริงในพื้นที่ กำลังคนในส่วนนี้ยังเป็นปัญหาอยู่มาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะงานสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังมีภาระงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานการเงิน พัสดุ การทำประเมิน ที่ล้วนแต่เป็นภาระงานบริหาร ทำให้กำลังคนไม่เพียงพอ ซึ่งไม่รวมที่ต้องเข้าร่วมอบรมและประชุมต่างๆ ส่งผลกระทบต่องานคัดกรอง ดังนั้นจึงยังต้องการอัตรากำลังเพิ่ม
นอกจากนี้ผู้ที่จบจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรยังได้รับการสอนด้านรักษาพยาบาลเบื้องต้น ในการออกบริการประชาชนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการล้างไตผ่านหน้าท้อง การให้อาหารทางสายยาง และยังมีการฝึกงานในโรงพยาบาล ซึ่งสามารถช่วยงานและบริการชาวบ้านในพื้นที่ได้มาก นอกจากนี้ยังเป็นโควต้าตำแหน่งที่สำนักงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดส่งไปเรียน ดังนั้นในเรื่องนี้มองว่าควรที่จะยังคงการบรรจุเรียงคิว นวก.สธ./จพ.สธ. ต่อ โดยในกรณีที่เห็นว่ามีจำนวนมากแล้ว ก็ควรค่อยลดกำลังผลิต ไม่ใช่ออกประกาศที่ทำให้ต่างเสียขวัญกำลังใจเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้
- 76 views