‘ก.พ.- สธ.’ เดินหน้าสอบเลื่อน “ผอ.รพ.ระดับสูง” แล้ว หลังยกระดับ 20 รพช. เป็น รพท. ดัน ผอ.คนเดิมรับคัดเลือกก่อน หากไม่ผ่านค่อยเปิดโอกาสคนนอก ‘นพ.พรเจริญ’ ยันไม่ได้จำกัดโอกาส แต่สาเหตุที่ไม่เปิดกว้างให้คนนอกสอบ เพราะเป็นผู้บริหารเดิม รู้บริบท รพ. แถมเป็นผู้พัฒนาจน รพช.ยกระดับเป็น รพท.
นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี
นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ผอ.รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ในฐานะประธานกลุ่ม 20 โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่ยกระดับเป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเลื่อนระดับจากตำแหน่ง ผอ.รพช.ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ เป็นตำแหน่ง “ผู้อำนวย รพท. ประเภทอำนวยการ ระดับสูง” หลังยกระดับเป็น รพท.ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้อนุมัติตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูง 20 ตำแหน่งแล้ว โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ คือ 1.เป็นตำแหน่งขึ้นโดยตรงกับกระทรวงสาธารณสุข 2.รพ.ที่อนุมัติตำแหน่งต้องมีหมอเฉพาะทาง สาขาหลักและรอง และ 3.ต้องเป็น รพ.ไม่น้อยกว่า 120 เตียง และมีอัตราครองเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกและได้มีการเปิดสอบ ผอ.รพช.ทั้ง 20 แห่งที่ยกระดับเป็น รพท.ไปเมื่อวันที่ 28-29 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นการสอบใน 2 ส่วน คือ 1.การสอบสมรรถนะที่เป็นการวัดความสามารถในการเป็นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.พ. และ 2.การสอบสัมภาษณ์และวิสัยทัศน์ผู้บริหารโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และจะมีการประกาศผลในเดือนนี้ต่อไป โดย ผอ.รพช.ทั้ง 20 คนนี้จะต้องสอบผ่านใน 2 ส่วน จึงจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสูงใน รพ.เดิมได้
นพ.พรเจริญ กล่าวว่า การสอบครั้งนี้เป็นการเปิดให้ ผอ.รพช.คนเดิมมีสิทธิในการสอบคัดเลือกก่อนโดยไม่มีคู่แข่ง ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในการยกระดับเป็น รพท. ก่อนหน้านี้ ซึ่งทุกฝ่ายต่างเห็นชอบ รวมถึงสมาชิก ชมรม ผอ.โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และ รพท.ที่เข้าร่วม แต่จะสอบผ่านได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหากครั้งแรกยังสอบไม่ผ่าน ทาง ก.พ. และ สธ.ก็อาจให้โอกาสในการสอบแก้ตัวใหม่ แต่หากยังคงสอบไม่ผ่านต่อเนื่อง คิดว่าทาง ผอ.รพช.ที่ยกระดับเป็น รพท.คงต้องทบทวนตัวเอง
“การให้ ผอ.รพช. 20แห่ง ที่ยกระดับเป็น รพท.ต้องสอบในตำแหน่งผู้อำนวยการสูงนั้น มองว่าเป็นการดำเนินการที่สมเหตุสมผล และข้อเท็จจริงก็ต้องเป็นเช่นนั้น เนื่องจาก รพ.มีการขยายบริการมากขึ้น การบริหารก็ต้องมีการขยับเพิ่ม ดังนั้นผู้ที่เข้ามาบริหารก็ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ถือว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งไม่ว่าระดับรองอธิบดีหรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็ต้องผ่านการสอบตามนี้ ทั้งยังใช้สอบในกระทรวงอื่นด้วย อีกทั้งเรื่องการสอบคัดเลือกก็ขึ้นอยู่กับ ก.พ. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเฉพาะ สธ.เท่านั้น เพียงแต่ต้องเปิดโอกาสให้ ผอ.คนเดิมได้มีโอกาสคัดเลือกก่อนเท่านั้น” นพ.พรเจริญ กล่าว
นพ.พรเจริญ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูงทั้ง 20 ตำแหน่ง ใน รพ.ที่ยกระดับเป็น รพท.ควรที่จะเปิดกว้างให้บุคคลเข้าสอบโดยทั่วไปนั้น ประเด็นนี้สามารถวิจารณ์กันได้ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าไม่ได้เป็นการจำกัด เพียงแต่ให้โอกาส ผอ.คนเดิมที่บริหาร รพ.อยู่ก่อน ได้รับการคัดเลือกก่อนเท่านั้น ซึ่งหากไม่ผ่านการสอบก็ต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นบริหารแทนเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการที่ให้ ผอ.คนเดิมมีโอกาสคัดเลือกก่อน เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้บริบทของ รพ. อีกทั้งยังเป็นผู้ที่พัฒนาศักยภาพ รพ.ต่อเนื่อง จนสามารถยกระดับเป็น รพท.ได้ จึงควรได้รับสิทธินี้ก่อน ซึ่งคนใหม่ที่มาอาจเก่งกว่าแต่ก็ไม่รู้บริบทของ รพ.เท่ากับผู้บริหารเดิม
- 308 views