ด้วยระยะเวลาเพียงกว่าสิบวันของการรณรงค์ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนจัดตั้งกลไกเพื่อควบคุมค่ารักษา รพ. เอกชนที่รวบรวมได้ 33,000 รายชื่อ สร้างกระแสสังคมจนเป็นแรงกระเพื่อมส่งไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ ต่างรีบดำเนินการต่อการเรียกร้องนี้ โดยล่าสุดได้ตั้ง “คณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคารักษาพยาบาลแพง” มี นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เป็นประธาน เบื้องต้นได้เสนอ 2 แนวทางแก้ไขปัญหา คือการให้ประชาชนมีทางเลือกซื้อยาเอง และการจัดทำรายละเอียดค่ายาให้ประชาชนทราบในการสั่งจ่ายยา ส่วนจะสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายเพื่อควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนหรือไม่นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
การเคลื่อนไหวครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้นหากขาดแกนนำหลักอย่าง “นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์” ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มและลุกขึ้นมาเรียกร้องในเรื่องนี้ สำนักข่าว Health focus ได้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปและความพยายามในการทำเรื่องนี้ รวมถึงความคาดหวังจากการเรียกร้องที่จะเกิดขึ้น
ที่มาที่ไปของการเริ่มต้นผลักดันกลไกเพื่อควบคุมราคายาในครั้งนี้ ?
ปรียนันท์ กล่าวว่า การทำงานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ 13 ปี นอกจากเรื่องร้องเรียนคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษา ทั้งใน รพ.รัฐ และ รพ.เอกชนแล้ว สังเกตว่า ในส่วนคนไข้ที่รักษายัง รพ.เอกชนจะพ่วงเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริงเข้าไปด้วย แต่ใบเสร็จใบเดียวต้องร้องเรียนหลายหน่วยงาน เช่น ค่าตรวจรักษาที่สงสัยว่าสูงเกินจริงต้องไปร้องแพทยสภา, ค่ายา-ค่าเวชภัณฑ์ที่คิดว่าแพง ต้องร้องเรียนกรมการค้าภายใน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอกาหารและยา (อย.) ส่วนกรณีสงสัยว่าการบริการ รพ.ไม่ได้มาตรฐาน ต้องร้องเรียนไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้สามารถคิดค่ายาและค่ารักษาเกินจริงได้อย่างเสรี
“มีกรณีคนไข้ชายรายหนึ่งเจ็บหน้าอกเข้ารักษา รพ.เอกชน ที่โฆษณาว่ามีหมอหัวใจ 24 ชม. คนไข้เข้า รพ.ตั้งแต่ 2 ทุ่ม แต่กลับไม่มีหมอหัวใจมาดู โดยต่อมาคนไข้รายนี้เสียชีวิตลงและ รพ.ได้เรียกเก็บค่ารักษา จึงมีการฟ้องร้องและพิสูจน์ใบเสร็จค่ารักษา พบว่า รพ.ได้เรียกเก็บค่าอะดรีนาลีนถึง 148 หลอด รวมเป็นเงิน 29,600 บาท ทั้งที่ใช้จริงเพียง 30 หลอดเท่านั้น และญาติคนไข้ยังได้นำเรื่องนี้ไปร้องเรียนต่อแพทยสภาก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากมีกรรมการที่เกี่ยวข้องกับ รพ.เอกชน ร่วมพิจารณา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของระบบ”
ต่อมาปี 2555 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศ นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ ไม่ต้องถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่าย” มอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่ clearing house กรณีการรักษาที่ไม่เกิน 72 ชม. แต่กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะ รพ.เอกชนส่วนใหญ่ไม่รับอัตราการจ่ายค่ารักษาของ สปสช. และยังคงเรียกเก็บค่ามัดจำ พร้อมให้ญาติเซ็นรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตลอดจนเซ็นรับสภาพหนี้หลักแสนถึงหลักล้าน นอกจากนี้ยังทำให้มีประชาชนเข้ารับบริการและได้รับความเดือนร้อนเพิ่มขึ้นจากนโยบายนี้ จึงเป็น “นโยบายลวงโลก” ที่เหมือนกับเป็นการก่อกองไฟล่อให้แมงเม่าบินเข้าไปตาย โดยมีคนไข้บางรายที่ถูก รพ.เอกชนฟ้อง ต้องนำโฉนดที่ดินมาจ่ายเป็นค่ารักษา ทั้งที่เข้าหลักเกณฑ์ตามนโยบายนี้ สร้างความทุกข์ให้กับคนไข้และญาติอย่างมาก
“ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายลวงโลกนี้ เพราะเชื่อว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนไม่น้อยที่หลงเข้ารักษายัง รพ.เอกชน ตามนโยบายนี้ และต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจากการถูกเรียกเก็บค่ารักษา แต่เมื่อหยุดนโยบายนี้ไม่ได้ จึงควรมีหน่วยงานกลางเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ และกำหนดกติกาที่เป็นธรรม ประกอบกับในโลกโซเชียล เมื่อมีใครโพสต์เรื่องค่ารักษาแพง จะเป็นประเด็นร้อนที่สังคมมีอารมณ์ร่วมอย่างมาก จึงคิดว่าบ่นไปความเป็นธรรมก็ไม่มีทางเกิด จึงทำแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org ให้ผู้คนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคารพ.เอกชน”
จากการณรงค์ร่วมลงชื่อกว่า 10 วัน มีผู้ร่วมลงชื่อจำนวนมาก มองปรากฎการณ์นี้อย่างไร ?
ปรียนันท์ กล่าวว่า เพียงแค่ 2 สัปดาห์ มียอดคนร่วมลงชื่อมากถึง 33,000 คน ชี้ให้เห็นว่าปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนแพงนั้นมีอยู่จริง และสะท้อนให้เห็นว่ากลไกการตรวจสอบปกติที่มีอยู่นั้นล้มเหลว จึงก่อให้เกิดปัญหาสะสม และเชื่อว่า 33,000 คนนี้ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ ส่วนที่อยู่ใต้น้ำนั้นยังมีอีกมหาศาล
เป็นครั้งแรกสำหรับข้อเสนอควบคุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชนหรือไม่ และหลังได้นำยื่นรายชื่อ 33,000 คนไปแล้ว มองอย่างไรกับการสนองตอบของหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องนี้ ?
ปรียนันท์ กล่าวว่า ครั้งนี้ยิ่งกว่าการจุดพลุ กลายเป็นเรื่องใหญ่ คำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ระบุถึงค่ารักษา รพ.เอกชนแพงกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่ง ส่งผลให้ทุกหน่วยงานต่างกระตือรือร้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ประชาชนอุ่นใจและมีความหวังอย่างยิ่งว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังภายใต้รัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหานี้กันมานานหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะอิทธิพลของธุรกิจ รพ.เอกชน ที่มีอยู่จริงและเป็นอุปสรรค
ขณะที่ในส่วนกรรมาธิการการสาธารณสุขของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ช่วงแรกดูเหมือนจะขานรับคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีอย่างแข็งขัน แต่ภายหลังการให้สัมภาษณ์ดูเหมือนว่าจะโน้มเอียงไปทาง รพ.เอกชน ทำให้เกิดความระแวงว่า อาจเป็นเพราะมีผู้เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลเอกชนเข้าไปเป็นกรรมาธิการและเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ ? ซึ่งกรณี สปช. มีมติตัดข้อความ “การกำกับควบคุมราคายา ค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ” ออกจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เป็นผลพวงกลุ่มธุรกิจ รพ.เอกชน ที่ส่งคนเข้าไปอยู่ในกรรมาธิการ ย่อมต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ขณะที่ภาคประชาชนยังอ่อนแอและขาดความรู้ความเข้าใจที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของธุรกิจการแพทย์
ส่วนความเคลื่อนไหวของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์นั้น ต้องยอมรับว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ใส่ใจทุกข์สุขของทั้งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนอย่างมาก แต่การแก้ไขปัญหานี้ มองว่าหากยังคงให้หน่วยงานเดิมแก้ไขปัญหา การลูบหน้าปะจมูกก็จะเกิดขึ้น และเชื่อว่าวันหนึ่งปัญหานี้จะวนกลับมาที่เดิม ถึงวันนี้ภาคประชาชนยังยืนยันว่า จำเป็นต้องมี “คณะกรรมการกลาง” เป็นหน่วยงานหลัก เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหา ส่วนหน่วยงานเดิมก็ให้ทำหน้าที่ต่อไปตามปกติ
มีความเห็นอย่างไรกับคณะกรรรมการแก้ไขปัญหาราคาค่ารักษา รพ.เอกชน รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาที่เปิดให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อยาเอง และการให้กำหนดรายละเอียดราคายาเพิ่ม ?
ปรียนันท์ กล่าวว่า เชื่อว่า นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการฯ มีความตั้งใจจริงและมีความหวังดี จึงลงมาช่วยเป็นคนกลางในการแก้ไขปัญหานี้ พร้อมกันนี้ยังยอมให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเมื่อมีการร้องขอในทันที ทั้งนี้มองว่าในการรักษาพยาบาล ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากสองฝ่าย ทั้งผู้ให้การรักษากับผู้เข้ารับการรักษาพยาบาล ดังนั้นเมื่อจะมีการแก้ไขปัญหาในยุคปฏิรูปอย่างแท้จริง ก็ควรรับฟังทั้งสองฝ่าย ไม่เลือกฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เสียงดังกว่าและมีอำนาจต่อรองมากกว่า นอกจากนี้หากยกเว้นภาคประชาชนในการเข้ามีส่วนร่วม ก็เท่ากับยอมรับว่าภาคประชาชนคือตัวปัญหา หรือปัญหาไม่ได้มีอยู่จริง แล้วจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตามที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งได้อย่างไร
ส่วนมาตรการใดที่ออกไปแล้ว ภาคประชาชนได้ยื่นข้อเสนอในการขอปรับแก้แล้ว จากนี้ไปเราคงได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกติกาที่จะสร้างความเป็นธรรมต่อสังคม และจะพยายามผลักดันให้มีการตั้ง คณะกรรมการกลางให้เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
ทั้งนี้ทางออกของปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนนั้น ส่วนตัวมีข้อเสนอ คือ 1.ตั้งคณะกรรมการกลาง ที่ไม่ได้มาจากทุกหน่วยงานเดิม ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ 2.พัฒนายกระดับมาตรฐานบริการ รพ.รัฐบาลควบคู่ 3.ยุบคณะกรรมการแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน แม้จะมีคนดีอยู่บ้างแต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเจ้าของหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลเอกชน ทำให้หน่วยงานนี้มีปัญหาในการให้ความเป็นธรรมต่อสังคม อีกทั้งเพื่อเป็นการตัดปัญหาการส่งคนเข้าไปกุมอำนาจในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย จึงสมควรตั้งคนกลางจริง ๆ เข้าไปทำหน้าที่แทน รวมทั้งมีคนนอกเข้าไปมีส่วนร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสม เหมือนหลายประเทศที่มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว
ในการผลักดันเรื่องนี้ คาดหวังมากน้อยแค่ไหน ?
ปรียนันท์ กล่าวว่า “ตั้งความหวังไว้สูงมากกับรัฐบาลพิเศษนี้ เมื่อตั้งความหวัง ก็ต้องมีความเชื่อมั่น เมื่อเราตีแผ่ปัญหาอย่างหมดเปลือกแล้ว จากนี้ไปขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลแล้วว่าจะแก้ไขปัญหาหมักหมมนี้ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้อย่างไร เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ”
“ท้ายนี้อยากบอกว่า รพ.เอกชนสามารถทำธุรกิจได้อย่างเสรี ประชาชนไม่ได้คาดหวังให้ รพ.เอกชน ลดค่ารักษาพยาบาล แต่หวังอยากเห็นการดำเนินธุรกิจของ รพ.เอกชน เป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่คิดค่ายาและค่ารักษาที่เกินจริง โดยรัฐบาลต้องตั้งคนกลางเข้ามาควบคุมกำกับดูแล ให้กลไกนี้สร้างความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย”
- 12 views