หลังจาก ก.พ.มีมติยกเลิกคัดเลือกบรรจุ ‘นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ’ และ ‘เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน’ เป็นข้าราชการ แต่ให้ไปใช้วิธีการสอบแข่งขัน โดยให้สาเหตุว่าไม่ใช่ตำแหน่งขาดแคลนนั้น เรียกได้ว่า มตินี้สร้างความสั่นสะเทือนให้บุคลากรสาธารณสุขทั้ง 2 สายงานที่จบจากสถาบันในสมทบอย่างมาก ทั้งส่วนที่เรียนจบแล้ว อยู่ระหว่างทำงานในตำแหน่งลูกจ้างและรอบคอยการบรรจุเป็นข้าราชการ และในกลุ่มที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งวิตกกังวลถึงอนาคตทางวิชาชีพ แม้ว่าในส่วนของ นวก.สธ.ที่จบจากสถาบันนอกสมทบจะเห็นว่า มตินี้มีความเป็นธรรมที่ให้ไปสอบแข่งขันเองก็ตาม สำนักข่าว Health Focus มีข้อเขียนจาก หมออนามัย รพ.สต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน ที่รอคอยการบรรรจุอย่างมีความหวัง เพื่อนำเสนอผู้อ่านได้รับทราบว่ากว่าจะมาเป็นหมอนามัยที่จบจากสถาบันในสมทบนั้น ต้องบากบั่นอย่างไรบ้าง และเมื่อมีมติ ก.พ.ออกมาแบบนี้ พวกเขารู้สึกอย่างไร
‘อานันท์ ปัญญาโพธินันท์’ รับรู้ว่า มันคือความฝันของพวกเรา หมออนามัย
อานันท์ ปัญญาโพธินันท์
จากความฝันเกือบจะเป็นความจริง สำหรับคำว่า ราชการ ฝันที่เป็นจริงหรือฝันลมๆ แล้งๆ ขอพื้นที่ระบายความรู้สึกตอนนี้นะครับ เรื่อง ชีวิตกับความฝัน 12 ปีผ่านไป จากเด็กอานันท์ ปัญญาโพธินันท์ เป็นนายอานันท์ ปัญญาโพธินันท์
จากเด็กน้อยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงตะเข็บชายแดนระหว่างไทย-ลาว ในชุมชน ชนเผ่าขมุซึ่งในดวงตาและความฝันนั้นคือการได้เรียนให้จบสูงๆ มีงานทำ นำวิชาความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน แต่ทุกคนบนโลกใบนี้แน่นอนไม่มีใครชีวิตจะสมบูรณ์แบบไปทุกคน ผมคือหนึ่งในนั้นที่เกิดมาบนครอบครัวที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ฐานะยากจน และสิ่งนั้นคือปัญหาและอุปสรรคของเด็กชายที่มีความใฝ่ฝันอยากเรียนจบปริญญาและรับราชการ แต่อุปสรรคเหล่านั้นเป็นเพียงบททดสอบชีวิตของผมเอง
หลังจากที่เรียนจบชั้น ป.6 จาก ร.ร.ขยายโอกาส ผมอยากเรียนต่อและอีกไม่กี่วันเท่านั้นเองจะเปิดเทอม เย็นวันนั้นใต้ถุนบ้าน ขณะรับประทานอาหารเย็นพร้อมกับพ่อและแม่ ผมเอ่ยคำถามว่า พ่อ แม่ ลูกอยากเรียนต่อ!!! ข้าวเหนียวที่จิ้มน้ำพริกเข้าปากคำแรกทำให้ผมถึงคำคอแห้งกลืนไม่เข้าคายไม่ออก กับคำตอบที่ได้มา “จะเรียนไปทำไม พ่อแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนหรอก เรียนไปก็แค่นั้น ไม่ได้เป็นเจ้าคนนายคนหรอก”
เย็นวันนั้นเองผมร้องไห้จนแทบน้ำตาจะเป็นสายเลือด และความฝันของผมก็สลายไปในพริบตา อีกสองวันจะเปิดเทอมผมยังไม่มีชุดนักเรียน รองเท้านักเรียนเลย แต่ในความโชคร้ายก็มีความโชคดี เพราะมีพี่คนหนึ่งที่เรียนจบ ม.3 ผมได้ไปเอาชุดนักเรียนมัธยมต้น(กางเกงสีดำ)ผมได้ไปขอใช้กางเกงต่อจากพี่เขา พี่เขามอบให้สามสี่ตัวและเสื้อนักเรียน (ขอบคุณพี่บอย นันทภูมิ เสารางทอย) ส่วนรองเท้านักเรียน ผมขอใช้ต่อจากพี่ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง(ขอบคุณพี่รัตน์ รจนา อินปา) ที่ได้อนุเคราะห์ชุดและรองเท้า จนทำให้ผมได้เข้าเรียนต่อในชั้น ม.1
พอเข้าเรียนระดับชั้น ม.1 ผมเริ่มตามความฝันของตัวเองด้วยการตั้งใจเรียน ทำกิจกรรมอาสาให้กับทางโรงเรียน และกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการหาเงินในวันหยุด รับจ้างเกี่ยวข้าว ปลูกข้าว หักข้าวโพด ไปขุดหน่อ ตัดแขม มาขายเพื่อที่จะได้มีเงินมาโรงเรียน และช่วงนั้นเอง ขอขอบคุณทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยที่เข้ามาเติมเต็มความฝันของผมด้วยการรับเป็นนักเรียนทุน ได้มอบชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ให้แก่ผมจึงทำให้ผมมีกำลังใจในการเดินตามฝันของตัวเองต่อไป และปี2549 ผมได้เรียนจบระดับ ม.ต้นที่โรงเรียนขยายโอกาสแห่งนั้น
“ขอบคุณโรงเรียนบรรณโศภิษฐ์ อาจารย์ทุกๆ ท่านที่คอยอบรมสั่งสอน มอบวิชาความรู้แก่ผมจนทำให้ผมสำเร็จการศึกษา” หลังจากที่ผมจบการศึกษา แน่นอนครับว่าผมฝันที่จะเรียนต่อให้จบปริญญา และในครั้งนั้นผมตัดสินใจสมัครเข้าเรียนต่อระดับ ม.ปลายโดยไม่ได้ปรึกษาหรือถามพ่อแม่แต่อย่างใด ซึ่งโรงเรียนที่ผมสมัครเข้าเรียนเป็นโรงเรียนประจำ อยู่กินในนั้น แต่ห่างจากบ้านผมประมาณ 120 กิโลเมตร วันนั้นผมเดินขึ้นรถโดยสารประจำทางเพื่อที่จะไปโรงเรียนในวันเปิดเทอม มีกระเป๋าติดตัวหนึ่งใบ ในนั้นมีชุดนักเรียน 1 ชุดและของใช้ส่วนตัว มีเงินติดตัว 700 บาท จากการเก็บหอมรอมริบโดยการรับจ้างทั่วไป ก้าวขึ้นรถพร้อมเพื่อนอีกสองสามคนเพื่อที่จะเดินทางไปยังโรงเรียนน่านประชาอุทิศ ขอบคุณอาจารย์จินตนาเป็นอย่างสูงที่คอยช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษาขณะเรียนที่นั่น และทางโรงเรียนที่เข้าใจที่ผ่อนผันค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นให้ รอจนกว่าจะได้เงินกู้ กยศ.และนำมาชำระภายหลัง
ขณะเรียนที่น่านประชาอุทิศนานๆ ทีจะได้กลับบ้านด้วยระยะทางที่ไกลและการเดินทางที่ไม่สะดวก ขอบคุณชาวบ้าน บ้านน้ำครกใหม่ที่ทำให้ผมมีงานรับจ้างทำทุกๆ วันเสาร์อาทิตย์ ดำนา เกี่ยวข้าว เก็บผลไม้ ตักมูลวัน ล้างคอกหมู และให้กับข้าวค่าจ้างผม แต่ในอีกมุมหนึ่งยิ่งเรียนค่าครองชีพยิ่งสูงขึ้นไปพร้อมๆ กันไปด้วย เงินกู้ กยศ. เดือนละ 1,000 บาทไม่พอใช้จ่ายตลอดเดือน ผมเลยตัดสินใจย้ายเข้ามาเรียนโรงเรียนประจำอำเภอ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 13 กิโลเมตร แต่ต้องไปกลับทุกวัน ขอบคุณอาจารย์ทุกๆ ท่านใน โรงเรียนไตรเขตที่คอยมอบวิชาความรู้ ขอบคุณทางบ้านที่คอยให้กำลังใจตลอดมา
และขณะที่ผมจะขึ้น ม.6 ความคิดนั้นก็เริ่มทำให้ผมกลัวอีกครั้ง ว่าผมจะเรียนต่ออีกได้หรือไม่ ในตอนนั้นเองผมกลัวมากว่าจะไม่ได้เรียนต่อ ผมภาวนากับเจ้าที่เจ้าทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายขอให้ผมได้เรียนต่อให้จบปริญญา ที่ไหนก็ได้ ทุกๆ เย็นผมจะเข้าห้องคอมและห้องแนะแนวเพื่อดูว่า ที่ไหนมีการรับสมัครเข้าเรียนระดับ ป.ตรี ที่เป็นโครงการพิเศษ เข้าดูทุกๆ วันจนผมได้มีโอกาสได้ทราบข่าวจากอาจารย์แนะแนวว่ามีทุนเรียนต่อ ผมได้เดินทางไปเอาใบสมัครและเตรียมเอกสารทุกอย่างขี่รถวิ่งขึ้นวิ่งลงหลายรอบเพื่อขอคำรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เพื่อใช้ในการประกอบการสอบ
วันนั้นเองในห้องประชุมกระดังงา ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่เข้าสอบเพื่อชิงทุน และวันนั้นเองผมดีใจที่สุดในโลกที่มีโครงการดีๆ เข้ามาเพื่อให้โอกาสแก่ผมในวันนั้ ผมสอบได้ 1 ใน 2 ของนักเรียนทุนพระเมตตาสมเด็จย่า ของอำเภอสองแคว แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะได้เข้าศึกษาต่อ ผมต้องเตรียมตัวที่เข้าเข้าคัดเลือกระดับจังหวัดอีก 1 รอบ และช่วงนั้นเองผมมีทั้งความหวังและไม่มีความหวัง เพราะทุกคนที่ผ่านการคัดเลือกมีคุณสมบัติที่ดีๆ ต่างๆ กันไป แต่โอกาสนั้นเองทำให้ผมติด1 ใน 3 คน ในครั้งนั้นที่เป็นนักเรียนทุนพระเมตตาสมเด็จย่าที่จะได้เข้าศึกษาต่อในสถาบันบรมราชชนนก วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรจังหวัดพิษณุโลก
“ผมขอขอบคุณทางโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ขอบคุณทีมงานทุกๆ ท่าน พี่ๆ ทุกคนที่มอบโอกาสและเติมเต็มความฝันของผมในครั้งนี้ครับ”
วันที่ผมจะเดินทางไปรายงานตัว สิ่งเดียวที่ทำให้ผมต้องทำคือ ผมต้องยอมเสียวัวที่ผมรักมาย เพราะคุณตาและคุณยายมอบให้ผมเป็นของขวัญ ผมให้แม่กับพ่อขายวัวตัวนั้นเพื่อจะนำเงินไปที่พิษณุโลก ขายได้ในราคา 9,000 บาท ผมนำติดตัวไป 6,000 บาท และอีก 3,000 บาท ผมให้พ่อและแม่เก็บไว้ ในวันเดินทางผมขอขอบพระคุณท่านสาธารณสุขอำเภอสองแคว ท่าน ฌัชรภัทร พาณิช ที่อนุเคราะห์ให้พี่ๆ ทีมงานสาธารณสุขอำเภอสองแควไปส่งถึงที่วิทยาลัย ขอบคุณพี่แต๋น และพี่ใหม่ ที่ขับรถไปส่งผมครับ
สำหรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 2 ปี ในหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต (สาธารณสุขชุมชน) ผมขอขอบคุณวิทยาลัย ขอบคุณอาจารย์ทุกๆ ท่าน ที่มอบวิชาความรู้ ในการเล่าเรียน มอบวิชาชีพให้แก่ผม ขอบคุณทุกๆ ท่านที่มีความเกี่ยวข้องในการศึกษาครั้งนี้ และสิ่งที่ผมจะตอบแทนบุญคุณเหล่านั้นคือการอุทิศตัวเองในการนำวิชาความรู้มาประกอบวิชาชีพ บำบัดทุก บำรุงสุขแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ทำงานด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ส่วนรวมเป็นกิจที่หนึ่ง และที่สำคัญคือ เป็นคนดี
ขณะเดียวกันความฝันของผมได้เดินทางมามากพอสมควร กับการได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิดนำความรู้วิชาที่ร่ำเรียนมา มาพัฒนาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และผมก็สานฝันของผม ด้วยการเรียนต่อเนื่องอีก 2 ปี เดินทางไปเรียนที่เชียงรายทุกเสาร์ อาทิตย์ จันทร์ถึงศุกร์ก็ทำงานปกติ ชาวบ้านถามผมว่าเรียนจบแล้ว เป็นหมออนามัยแล้วเรียนต่ออีกทำไม นั่นแหละครับคือประเด็นสำคัญ เพราะการเรียนต่อคือการก้าวหน้าในวิชาชีพและเป็นการเพิ่มพูนความรู้ที่จะนำมาใช้ในการทำงานและพัฒนาทั้งตัวเองและคนอื่น ถึงจะเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่ผมก็สู้ สู้เพราะสักวันหนึ่งผมคิดว่าจะได้รับราชการ มีรูปถ่ายจบปริญญาติดฝาบ้านเหมือนคนอื่นๆ เหมือนคนในเมือง และนั้นแหละครับคือฝันของเด็กดอยคนหนึ่งที่พยามยามต่อสู้มา จบมาทำงานได้ 3 ปีกว่า ซึ่งตำแหน่งที่ทำงานผมภูมิใจที่สุดในโลกครับ สำหรับคำว่า เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน และอีกคำๆ หนึ่งที่ทำให้ผมมีกำลังใจคือคำว่า ”หมอนันท์” และทุกๆ วันผมเชื่อว่าพี่น้องหมออนามัยทุกคนทำงานมีหน้าที่ภาระที่หนักมาก รวมถึงพื้นที่การทำงานที่ยากลำบากแตกต่างกันไป โดยเฉพาะพื้นที่สูงและแนวเขตชายแดน การอุทิศเวลาในการบริการสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน รักษา ฟื้น ส่งเสริมสุขภาพ และอีกหลายๆ ภารกิจ ที่ได้ปฏิบัติงาน แต่หมอเหล่านั้นไม่เคยที่จะถอดใจและยังให้บริการด้วยหัวใจ ด้วยมิตรภาพ ด้วยอุดมการณ์ และการทำงานอยู่ระดับรากหญ้า
และผมเชื่อว่าหมอนามัยคือแนวหน้าของคำว่าสาธารณสุขไทย ที่คอยเป็นรากแก้ว รากฝอย ที่เติมเต็มและหล่อเลี้ยงให้มีต้น มีใบ มีดอก มีผล และผมเชื่อว่าทุกคนที่เดินทางมาถึงจุดนี้และอยากจะประสบผลสำเร็จคือการได้บรรจุเป็นราชการ ข้าหลวงของแผ่นดิน อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนที่อยู่ระดับสูง เห็นใจพวกเราที่อยู่ระดับรากหญ้า ให้ความเป็นธรรมแก่พวกเราด้วยครับ วันนี้ผมไม่เสียดายที่ยังไม่ได้บรรจุราชการ แต่ผมเสียใจ ที่ท่านทั้งหลายร่วมกันผลิตพวกเรามาแล้วสุดท้ายกลับมาลอยแพพวกเราไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเดิมครับ
ผู้เขียน : นายอานันท์ ปัญญาโพธินันท์ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน รพ.สต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน
- 28 views