นสพ.เดลินิวส์ : ปมค่ารักษาแพง สธ. ถกเครียดนานกว่า 2 ชม. กับผู้แทน รพ.เอกชน คลอดมติ 2 ข้อ สั่งตั้งจุดตรวจสอบราคาก่อน-หลังรับบริการและจัดทำเว็บไซต์กลางสอบถามค่ารักษา นายกสมาคม รพ.เอกชนลั่น รพ.ไม่ใช่ร้านขายยาและค่าบริหารจัดการเยอะ แนะอย่าเทียบชั้นกับ รพ.รัฐ ไล่ศึกษาข้อมูลก่อนคุมราคา ยันช่วยผู้ป่วยวิกฤติเต็มที่แต่ขอให้กำหนดนิยามระเบียบปฏิบัติให้ชัด ซัดกลับ รพ.รัฐต้องพัฒนาระบบรับผู้ป่วยส่งกลับตามสิทธิ อย่าอ้างแต่เตียงเต็มตลอด "พาณิชย์" เตรียมส่งสายตรวจสอบขู่ รพ.เอกชนไม่ติดป้ายแสดงราคายา-ค่ารักษาพยาบาลอย่างชัดเจนมีโทษปรับ 1 หมื่นบาท
นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณ สุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกับผู้แทน รพ.เอกชนทุกแห่งใน กทม. นำโดย นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคม รพ.เอกชน และ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช เลขาธิการสมาคม รพ.เอกชน เพื่อรับฟังความเห็นและชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน ตามมติที่ประชุมร่วมระหว่าง กระทรวงสาธารณสุขและกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาในการประชุมอย่างเคร่งเครียดนานกว่า 2 ชม.
จากนั้น นพ.ธเรศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติ 2 ข้อประกอบด้วย 1. ให้ รพ.เอกชนเพิ่มจุดบริการซักถาม ตรวจสอบราคาค่ารักษาพยาบาลพร้อมติดสัญลักษณ์ให้เห็นอย่างชัดเจน และในกรณีหลังการรักษาพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ประชาชนสามารถซักถามในข้อสงสัยเรื่องราคาค่าบริการและค่ายาได้เพื่อลดความเข้าใจผิดในอัตราค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม หากประชาชนยังสงสัย หรือยังไม่เชื่อมั่นก็สามารถสอบถามได้ที่ สบส. และ 2. จัดทำเว็บไซต์กลาง www.thailandmedicalhub.net เพื่อสอบถามข้อมูลค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นอิงตามฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลางที่ทำไปก่อนหน้านี้แล้ว กว่า 80 รายโรคหัตถการที่ใช้บ่อย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรักษาโรคใด ๆ นั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบรายละเอียดกับ รพ.เอกชนอีกครั้ง
"เรื่องค่ารักษาพยาบาลเอกชนในภาพรวมนั้น จะต้องนำข้อสรุปเบื้องต้นและข้อเสนอแนะของเอกชนเข้าสู่คณะทำงานชุดที่ รมว.สาธารณสุขแต่งตั้งขึ้น ซึ่งจะมีการหารือในประเด็นต่างๆ ในบ่ายวันนี้" นพ.ธเรศ กล่าวส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น รพ.เอกชนทุกแห่งยินดีช่วยเหลือเข้าร่วมโครงการนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพียงแต่ในเรื่องระบบเบิกจ่ายจะต้องมีการพัฒนาร่วมกันโดยจะมีการหารือกับอีกคณะทำงานหนึ่งในวันที่ 19 พ.ค.
ด้าน นพ.เฉลิม กล่าวว่า รพ.เอกชนมีหลายระดับทำให้ค่ารักษาและค่ายาแตกต่างกัน ที่สำคัญจะเอาไปเปรียบเทียบกับ รพ.ของรัฐไม่ได้เพราะ รพ.เอกชนลงทุนเองทั้งหมด ส่วน รพ.รัฐเงินเดือนบุคลากรร้อยละ 60 ก็เอามาจากภาษีประชาชน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็ทำตามกฎหมายของ สบส. อยู่แล้ว ดังนั้นหากจะมีการคุมราคาต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน อาทิ ค่าเสื่อม, ค่าก่อสร้าง และมูลค่าที่ดินเป็นต้น ขณะที่ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชนในประเทศไทยยังถูกกว่าสิงคโปร์ถึงร้อยละ 25-35 แต่อย่าลืมว่า รพ.เอกชนเป็นเพียงทางเลือกที่ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะไปรับบริการหรือไม่
ส่วนกรณีที่จะมีการตั้งราคายาโดยให้บวกกำไรเพิ่มได้ไม่เกินเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดนั้น นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า เรื่องนี้ขอยังไม่แสดงความคิดเห็น ต้องรอที่ประชุมคณะทำงานหารือกันก่อน แต่เราเป็น รพ. มีการประกอบโรคศิลปะไม่ใช่ร้านขายยา การจ่ายยามีความเสี่ยง ดังนั้นต้องมีมาตรการวิธีกำกับควบคุมเฝ้าระวังเรื่องการแพ้ยาอย่างเข้มงวด ตรงนี้จึงถือเป็นต้นทุนที่มีผลต่อราคายาทั้งสิ้นไม่ใช่เพียงแค่เอาราคากลางมาขีดเส้นกำหนด ดังนั้นจำเป็นต้องศึกษาราคาต้นทุนให้ละเอียดและรับรู้ว่าภาคเอกชนมีต้นทุนอย่างไร
"รพ.เอกชนยินดีให้ความร่วมมือในเรื่องการให้บริการในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินอยู่แล้ว แต่ต้องเขียนให้ชัดเจนว่าฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตหมายถึงอะไร เพราะหมอกับผู้ป่วยเข้าใจไม่ตรงกัน และออกระเบียบวิธีปฏิบัติให้ชัดเจนต้องให้มีเจ้าหน้าที่ประจำที่ รพ. ตลอด 24 ชม. ที่สำคัญต้องไปพัฒนาระบบของตัวเองเพื่อรองรับการส่งตัวผู้ป่วยกลับไปรักษาตามสิทธิของผู้ป่วยด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาจะมีปัญหาเรื่องเตียงเต็มตลอด" นพ.เฉลิม ระบุ
นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมา รพ.เอกชนช่วยเหลือให้พ้นวิกฤติและส่งต่อกลับไปยัง รพ. ตามสิทธิผู้ป่วยเมื่อปลอดภัยแล้ว แต่อยากให้รัฐนิยามคำว่าฉุกเฉินให้ดีและคำนึงถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อให้ รพ.เอกชนอยู่รอดด้วย
วันเดียวกันที่กระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังประชุมเรื่อง "ข้อกฎหมายการแสดงราคายาและค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน" ว่า กรมฯ เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ รพ.เอกชนทั่วประเทศเกี่ยวกับการติดป้ายราคายาและค่ารักษาพยาบาลภายในสัปดาห์นี้ โดยจะนำร่องในพื้นที่ กทม. จากนั้นจะตรวจสอบ รพ.เอกชนในต่างจังหวัด เบื้องต้นหากพบ รพ.เอกชนรายใดไม่ติดป้ายราคาให้ประชาชนมองเห็นได้สะดวกจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้กรมฯกำลังศึกษาข้อกฎหมายอีกว่าสามารถกำหนดให้สถานพยาบาลและ รพ.เอกชนแยกแยะรายการค่ายาแต่ละชนิดไว้ในใบรับยาด้วยไม่ใช่คิดราคาแบบเหมารวม เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะใช้ยาของ รพ. หรือจะไปซื้อยาข้างนอกแทน
ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังทางกระทรวงสาธารณสุขและ สบส. ได้มีการหารือเป็นการภายในเพื่อสรรหาคณะทำงานแก้ปัญหา รพ.เอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงนั้น เบื้องต้นได้มีการตั้งคณะทำงานประมาณ 10 คน จากภาครัฐ, ภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยมี นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กรรมการแพทยสภาและอดีตอธิบดี สบส. เป็นประธานคณะทำงาน แต่ นพ.ศุภชัยปฏิเสธการให้สัมภาษณ์โดยให้เหตุผลว่ารอให้ รมช.สาธารณสุขลงนามแต่งตั้งอย่างเป็นทางการก่อน
ขณะที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกแถลงการณ์สนับสนุนการแก้ปัญหาโครง การเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุกที่ ดีทุกสิทธิ โดยต้องห้าม รพ.ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินในช่วง 72 ชม. หรือจนกว่าสัญญาณชีพจะอยู่ในภาวะคงที่หรือปลอดภัยเพียงพอที่จะนำส่งไปรับการรักษาพยาบาลต่อใน รพ.ต้นสังกัดตามสิทธิของผู้ป่วย ยืนยันขอให้ดำเนินกระบวนการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลางดำเนินการหาเตียงให้กับคนไข้ หากหาเตียงไม่ได้ทั้ง 3 กองทุนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ห้ามบังคับผู้ป่วยหรือญาติต้องเซ็นรับสภาพหนี้และห้ามกักตัวไว้ใน รพ. นอกจากนี้ขอให้ทำข้อตกลงกับ รพ.เอกชนให้ชัดว่าหากไม่ทำตามเงื่อนไขจะต้องมีบทลงโทษ
อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสถานพยาบาลโดยมีภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง พร้อมทั้งขอให้ปรับคณะกรรมการสถานพยาบาลในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นผู้แทนจากภาคประชาชนที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์เป็นผู้เสนอเร่งออก พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ที่ไม่มีการตัดกลไกการควบคุมราคายา, ควบคุมการทำธุรกิจ รพ.เอกชนไม่ให้มุ่งเน้นผลกำไร, ยกเลิกการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจ รพ. และเร่งรัดการออกกฎหมายควบคุมการควบรวมกิจการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น.
ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 พ.ค. 2558 (กรอบบ่าย)
- 12 views