‘นพ.สุทัศน์’ นำประชาคม สธ.ยื่นจดหมายเปิดผนึกผ่าน รมว.สธ. และ รก.ปลัด ถึงนายกรัฐมนตรี สนใจปัญหาระบบสาธารณสุข ทั้งปัญหาระบบการเงินการคลัง และการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ระบุการแก้ไขปัญหาตอนนี้ไม่ตอบโจทย์ หวั่นสร้างความเสียหายการคลังประเทศ ทั้งผู้บริหารสูงสุดของ สธ.กลับนิ่งเฉย ไม่รับฟังเสียงท้วงติง และมีพฤติกรรมสร้างความขัดแย้ง ขาดธรรมาภิบาลการบริหารงาน วิงวอนนายกรัฐมนตรีแก้ไข ก่อนจะเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล

19 พ.ค.58 ประชาคมสาธารณสุข นำโดย นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะประธานประชาคมสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย นายปรเมษฐ์ จินา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และ สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ประมาณ 50 คน เดินทางมายื่น จดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยยื่นผ่าน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ.ในฐานะรักษาการปลัด สธ. เรื่อง ปัญหาการสาธารณสุขของประเทศขาดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.สธ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ จากนั้นจึงเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ต่อไป

เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก กล่าวถึงปัญหาของระบบสาธารณสุข และปัญหาการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยระบุว่า ในส่วนของระบบสาธารณสุขของประเทศ นายกรัฐมนตรีอาจเข้าใจว่าปัญหาต่างๆ ได้รับการดูแลแก้ไขอยู่ และเป็นไปตามทิศทางใหญ่ที่กำหนดโดยคณะรัฐมนตรี แต่ในฐานะที่รับราชการในกระทรวงสาธารณสุขมาตลอดชีวิตการทำงาน เห็นว่ามีปัญหา ทั้งปัญหาระบบสาธารณสุข ปัญหาการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมปัญหาเรื่องการเงินการคลังในระบบสาธารณสุข โดยเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มิได้เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูป

จดหมายเปิดผนึก ระบุต่อว่า ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ระบบการเงินการคลังในระบบสุขภาพจำเป็นต้องปฏิรูป ก่อนที่จะส่งผลเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศ ท่ามกลางปัญหาทั้งหมด ผู้บริหารสูงสุดที่กำกับดูแลทั้งหน่วยบริการและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลับเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้จะมีการทักท้วงจากหลายฝ่าย รวมทั้งนักวิชการหลายท่านก็ตาม

“เบื้องหลังปัญหาความขัดแย้ง จนเป็นเหตุให้ออกคำสั่งที่ 75/2558 ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผลจากการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารงานของรัฐมนตรีทั้งสองท่าน รวมทั้งคณะที่ปรึกษา ที่พยายามแทรกแซงการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ โดยพยายามผลักดันคนของตน ที่ยังขาดคุณสมบัติ เข้ารับตำแหน่งสำคัญในกระทรวง ตั้งแต่วันที่เข้ามารับตำแหน่งในกระทรวงเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2557 สร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการของกระทรวง และส่งผลให้ไม่สามารถแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวง 2 ตำแหน่งได้เป็นเวลา 7 เดือน

จึงกราบเรียนมาเพื่อวิงวอนให้ ฯพณฯ สละเวลาอันมีค่า ให้ความสนใจมาดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเอง และใช้ความกล้าหาญของ ฯพณฯ แก้ปัญหาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น และกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล จนทำให้ความตั้งใจของ ฯพณฯ ในการปฏิรูปประเทศต้องชะงักหรือล่าช้าลงได้”

ระหว่างการยื่นจดหมายเปิดผนึกให้ นพ.ยงยศ มีการถือป้ายข้อความ เช่น “ธรรมาภิบาล สิ่งที่สูญหายใน กระทรวง สธ.” และ “ท่านนายก สนใจชาว สธ.ด่วน” เป็นต้น

ทั้งนี้รายละเอียดทั้งหมดของจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

เรื่อง ปัญหาการสาธารณสุขของประเทศขาดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประชาคม สธ.ขอเป็นกำลังใจต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีที่พยายามนำพาชาติบ้านเมืองเข้าสู่ความสงบสุข และดำเนินการปฏิรูประบบต่างๆ อย่างจริงจัง สร้างความหวังให้กับประชาชน ว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมที่เป็นธรรม มีการเจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างสมดุล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พวกเราตระหนักดีว่าท่านมีภารกิจมากมาย และคงไม่สามารถติดตามความเป็นไปของเรื่องๆ ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ในส่วนของระบบสาธารณสุขของประเทศ ท่านอาจเข้าใจว่าปัญหาต่างๆ ได้รับการดูแลแก้ไขอยู่ และเป็นไปตามทิศทางใหญ่ที่กำหนดโดยคณะรัฐมนตรี

พวกเราในฐานะที่รับราชการในกระทรวงสาธารณสุขมาตลอดชีวิตการทำงาน ได้สัมผัสกับปัญหาของประชาชนที่เจ็บป่วยอยู่เป็นประจำ เห็นความทุกข์ยากของผู้รับบริการและญาติ ได้พยายามทำหน้าที่ของตนได้ดีเสมอมา จนกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานราชการที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายต่างๆ ในลำดับต้นๆ อย่างไรก็ตาม พวกเราตระหนักดีว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างและกลไกสำคัญอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ การสร้างเอกภาพการบริหารระบบการสาธารณสุขของชาติ รูปแบบการกระจายอำนาจ วงเงินงบประมาณด้านการสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังขาดแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน กลไกการเงินการคลังที่เหมาะสม เป็นต้น

ประชาคม สธ.มีความกังวลใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข และระบบสาธารณสุขของประเทศในปัจจุบัน เนื่องจากการบริหารงานต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ มิได้เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปแต่อย่างใดแต่กลับมีการกำหนดนโยบายในลักษณะที่เป็นงานประจำ เน้นรูปแบบ สร้างภาพ ขาดการวางทิศทางและกลไกของระบบที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ได้รับการกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล เช่น การบริหารจัดการในแบบเขตสุขภาพ ซึ่งมีรูปธรรมสำคัญ คือ การจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่เน้นการแบ่งปันทรัพยากรภายในกลุ่มจังหวัด และจัดแบ่งบทบาทของโรงพยาบาลแต่ละพื้นที่ให้เสริมการทำงานกันเป็นเครือข่ายบริการที่มีขีดความสามารถขั้นต่ำที่ชัดเจนในทุกพื้นที่ และเริ่มส่งผลดีอย่างเป็นรูปธรรมต่อการให้บริการประชาชน กลับถูกละเลยความสำคัญลง

ประการสำคัญ ปัญหาการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทั้งที่มีข้อมูลสภาพปัญหาและข้อเสนอแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนอยู่แล้วในระดับหนึ่ง เข่น ปัญหาการใช้บริการเกินจำเป็น ความไม่เพียงพอของเงินในระบบ แม้จะเพิ่มงบประมาณต่อประชากรถึงสองเท่าครึ่งนับจากเริ่มโครงการ การขาดสภาพคล่องทางการเงินของหน่วยบริการต่างๆ ที่มีแนวโมจะประสบปัญหารุนแรงมากขึ้น สะท้อนถึงการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะบุคคล และความโปร่งใสในการใช้เงินงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่อาจส่อไปในทางทุจริต ปัญหาทั้งหมดนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ระบบการเงินการคลังในระบบสุขภาพจำเป็นต้องปฏิรูป ก่อนที่จะส่งผลเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศ ท่ามกลางปัญหาทั้งหมด ผู้บริหารสูงสุดที่กำกับดูแลทั้งหน่วยบริการและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลับเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้จะมีการทักท้วงจากหลายฝ่าย รวมทั้งนักวิชการหลายท่านก็ตาม

เบื้องหลังปัญหาความขัดแย้งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ จนเป็นเหตุให้ ฯพณฯ ออกคำสั่งที่ 75/2558 ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผลจากการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารงานของรัฐมนตรีทั้งสองท่าน รวมทั้งคณะที่ปรึกษา ที่พยายามแทรกแซงการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ โดยพยายามผลักดันคนของตน ที่ยังขาดคุณสมบัติ เข้ารับตำแหน่งสำคัญในกระทรวง ตั้งแต่วันที่เข้ามารับตำแหน่งในกระทรวงเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2557 สร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการของกระทรวง และส่งผลให้ไม่สามารถแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวง 2 ตำแหน่งได้เป็นเวลา 7 เดือน

จึงกราบเรียนมาเพื่อวิงวอนให้ ฯพณฯ สละเวลาอันมีค่า ให้ความสนใจมาดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเอง และใช้ความกล้าหาญของ ฯพณฯ แก้ปัญหาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น และกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล จนทำให้ความตั้งใจของ ฯพณฯ ในการปฏิรูปประเทศต้องชะงักหรือล่าช้าลงได้

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

ประชาคมสาธารณสุข