สบส.หารือสมาคม รพ.เอกชน แก้ปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชนสูงเกินจริง ใช้กรอบแนวคิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล ปี 41 เป็นฐาน ทั้งแสดงอัตราค่ารักษาทางเว็บไซต์ พัฒนาจัดทำข้อมูลค่ารักษาสถานพยาบาล 80 รายการที่กรมบัญชีกลางกำหนด และ รพ.เอกชนต้องจัดให้มีจุดแสดงค่ารักษาพยาบาลใน รพ. พร้อมเร่งรัดจัดทำกรอบเบื้องต้นให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบสถานพยาบาลภาคเอกชนได้เรียกเก็บอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มีความแตกต่างกัน สบส.จึงได้เชิญหน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กองสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กองกฎหมายของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อร่วมหารือ แก้ไขปัญหาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล โดยมีกรอบแนวคิดในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 คือ 

1.การแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการของ รพ.ภาคเอกชน ผ่านทาง Web portal ได้เปิดให้สถานพยาบาลภาคเอกชนสมัครเข้าเป็นสมาชิก และนำเข้ามูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ รายชื่อโรค และหัตถการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลแบบ ICD 9 และ ICD 10 และการพัฒนาระบบการจัดทำข้อมูลอัตราค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล จำนวน 80 รายการตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด 

2.รพ.เอกชนต้องจัดให้มีจุดแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และค่าบริการตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2542) เรื่อง ชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล การบริการอื่นของสถานพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วยซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงตามาตรา 32 (3) ข้อ 1 ผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลต้องแสดงรายละเอียดของอัตราค่ารักษาพยาบาลตามบริการที่ได้จัดให้มีของสถานพยาบาลตามมาตรา 32 (3) ข้อ 2 ผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลต้องแสดงรายละเอียดค่าบริการอื่นตามบริการที่สถานพยาบาลจัดให้ 

3.การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเรื่องร้องเรียนได้

นอกจากนี้ สบส.ได้กำหนดระยะเวลาในการกำหนดกรอบเบื้องต้นระยะสั้น ภายใน 1 เดือน โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานเพื่อดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วน ทั้งนี้ช่องทางการร้องเรียน ดังนี้ 1. สายด่วน สบส. 0 2193 7999 2.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หมายเลข1166 และ 3.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หมายเลข 1330