หลังจากได้เผยแพร่ข้อเขียนจาก Facebook/Sakda Alapach หรือ นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข ซึ่งได้เขียนเป็นซีรีส์ใน Facebook โดยระบุว่า เป็น ซีรีส์ "หมอถูกการเมืองเล่น" และลงท้ายบทความที่เขียนว่า By Dr.man ซึ่งขณะนี้มี 4 ตอนมาเผยแพร่ต่อ ซึ่งตอนแรก "มุ่งมั่นจริงใจ จริงจังในวิชาชีพ" ได้โพสต์เผยแพร่ใน Facebook เมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 และ Hfocus ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ โดยประเดิมเป็นข้อเขียนแรกในโอกาสเปิดคอลัมน์ใหม่ “ไม่มีผิด ไม่มีถูก” ไปแล้ว ก่อนจะได้เผยแพร่ต่อในตอนที่ 2 "พังเพราะที่ปรึกษา" ได้โพสต์เผยแพร่ใน Facebook เมื่อวันที่ 26 เม.ย.58 ตอนที่ 3 "บริหารโดยขาดธรรมาภิบาล" ได้โพสต์เผยแพร่ใน Facebook เมื่อวันที่ 7 พ.ค.58 และต่อไปนี้เป็นตอนที่ 4 ""ผู้บริหารผู้ถูกสาปแช่ง" ได้โพสต์เผยแพร่ใน Facebook เมื่อวันที่ 17 พ.ค.58
ซีรีส์ "หมอถูกการเมืองเล่น"
เรื่องราวที่จะบันทึกไว้ ต่อไปนี้ ผมมีแรงบันดาลใจ จากการที่มีโอกาสมาทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรู้ รับทราบ เรื่องการบริหารงานระดับกระทรวง เชื่อมโยงกับการบริหารอำนาจในระดับชาติ จึงอยากจะบันทึกเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น ในมุมมองของผมเชื่อมโยงกับเรื่องราว เรื่องเล่าในอดีตเท่าที่ผมจะมีความทรงจำ โดยตั้งใจจะเขียนเป็นตอนๆ สั้นๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเรื่องหรือหมดแรง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน สำหรับผู้อ่านที่สนใจ หรือถ้าไม่มีใครสนใจก็เป็นการบันทึกให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป เชิญติดตามได้เลยครับ
ตอนที่ 4 "ผู้บริหารผู้ถูกสาปแช่ง"
ในเรื่องราวของ สามก๊ก ผู้บริหารที่ถูกสาปแช่งทั่วสารทิศไม่มีใครเกิน "ตั๋งโต๊ะ" เพราะขนาดตายแล้วผู้คนยังหลั่งไหลมาสาบแช่งทั้งสิบทิศพร้อมกระทืบหรืออย่างน้อยก็ถุยน้ำลายใส่
คำถามคือทำไมผู้คนจึงเกลียดชัง "ตั๋งโต๊ะ"ปานนั้น ??
ในตอนสมัยแผ่นดินฮั่น พ.ศ. 711พระเจ้าเล้นเต้ผู้ไม่มีความสามารถในการปกครอง ทำให้แผ่นดินอยู่ในอำนาจของพวกขันที เมื่อพระองค์สวรรคตเกิดการแย่งชิงราชสมบัติ ในที่สุดพระเจ้าเหี้ยนเต้ซึ่งทรงพระเยาว์ได้เป็นรัชทายาท ขันทีกำเริบ โฮกิ้นขุนนางผู้ใหญ่จึงได้มีหนังสือถึงตั๋งโต๊ะเจ้าเมืองชีหลงให้ยกทัพมาปราบขันที
ตั๋งโต๊ะเป็นคนสันดานชั่วเห็นช่องเสวยอำนาจหลังจากปราบขันทีเสร็จก็ตั้งตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการ จากนั้นก็ได้ก่อกรรมทำชั่วพาลทุจริตต่างๆ บ้านเมืองระส่ำระสาย
ยกตัวอย่างความชั่ว นอกจากใช้อำนาจของแม่ทัพสูงสุด ออกปล้นทรัพย์ แย่งผู้หญิง ฆ่าผู้ชายอ้างว่าเป็นโจร ยังเอาดีใส่ตัวว่ารักษาแผ่นดิน ยังประพฤติตนเยี่ยงกษัตริย์ สร้างเมืองใหม่มาแข่งเมืองหลวงชื่อเมืองเม่ย์วู สร้างวัง ให้ทหารแห่แหนไปออกท้องพระโรงสั่งราชการ
แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการตั้งญาติพี่น้องตระกูล "แซ่ตั๋ง" เสวยสุขในตำแหน่งข้าราชการระดับสูงเป็นจำนวนมาก แต่ละคนมีวังหลังใหญ่ ในเมืองใหม่ มีทรัพย์สมบัติที่ได้จากการปล้นมา มีผู้หญิงที่ได้จากการแย่งมาคอยบำเรอ
ด้วยความชั่วดังกล่าวสร้างความทุกข์ใจให้ผู้คนทั่วแผ่นดินโดยเฉพาะอ้องอุ้นขุนนางผู้จงรักภักดี และโจโฉนายทหารคนสนิทของตั๋งโต๊ะ ซึ่งโจโฉเคยอาสาอ้องอุ้นไปฆ่าตั๋งโต๊ะโดยใช้กระบี่สั้นชื่อ "สัตเดช". แต่การไม่สำเร็จด้วยอำนาจและรังสีอำมหิตของตั๋งโต๊ะและลูกเลี้ยงชื่อลิโป้ โจโฉก็เลยแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ว่าเอากระบี่สั้นมามอบให้และรีบหนีออกนอกเมืองหลวงเพื่อซ้องสุมกำลังสู้ต่อไป
สุดท้ายตั๋งโต๊ะก็ตายเพราะผู้หญิงชื่อ "เตียวเสี้ยน" ลูกเลี้ยงที่อ้องอุ้นหวงและห่วงมาก(รายละเอียดสนุกมากจะเล่าให้ฟังตอนหลังๆ)และด้วยความโลภ หลังจากตั๋งโต๊ะถูกหลอกให้ออกจากเม่ย์หวูเมืองใหม่เพื่อมารับมอบตำแหน่งกษัตริย์ในเมืองหลวงก็ถูกหมู่ทหารรุมฆ่า แต่ที่น่าเจ็บใจหอกสุดท้ายที่ทิ่มแทงก่อนตั๋งโต๊ะจะขาดใจ เป็นของลูกเลี้ยงที่แสนรักชื่อลิโป้
เรื่องราวคล้ายแบบนี้ยังเกิดขึ้นในกระทรวง สธ. ประเทศสารขัณฑ์ในปัจจุบัน เช่น เครือข่ายผู้บริหารตระกูล ส และผู้อยู่เบื้องหลังทราบว่าใหญ่และมีบารมีมาก ปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งก็สามารถยึดเมืองหลวง กสธ ได้ทุกครั้ง เสร็จแล้วก็สั่งให้เจ้ากระทรวงซึ่งเป็นคนของตนเองสร้างเมืองใหม่คือเมือง ส เมืองแรกต้นกำเนิด(ปี 2535)คือ เมือง สวรส(เพิ่งได้เจ้าเมืองใหม่) แต่ที่มีอำนาจและอิทธิพลสูงสุดคือเมือง สปสช และเมือง สสส เพราะเป็นแหล่งเงิน (กำลังถูกตรวจสอบอย่างหนักในขณะนี้)
เจ้ากระทรวงปัจจุบันมาบริหารนอกจากเพื่อป้องเมืองตระกูล ส แล้วยังมีความพยายามสร้างเมือง ส ใหม่ๆ เพิ่มอีก 3 แห่ง ผู้บริหารอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่างต้องถูกดีดให้ถอยไป ดูตัวอย่างการย้ายและการตั้งคนของตนเองเป็น รก ปสธ เมื่อเร็วๆ นี้
ยังครับยังไม่หมด ทราบว่าตอนนี้ทีมงานกำลังวางแผนกวาดล้างผู้บริหารที่เห็นต่างและไม่ใช่พวก เพื่อแต่งตั้งขุนศึกตระกูล ส เป็นผู้บริหารที่สำคัญในทุกระดับ
คิดถึงตั๋งโต๊ะที่ตั้งขุนศึกตระกูล แซ่ตั๋ง เป็นข้าราชการระดับสูงเป็นจำนวนมาก แต่ผลจะเป็นแบบเดียวกันหรือไม่? ช่วยกันติดตาม
By Dr.Man
- 58 views