นสพ.เดลินิวส์ : ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์ ค้านยื้อเวลาแก้ปัญหาราคาแพง รวมทั้งไม่เห็นด้วยเสนอข้อมูลราคายาทางเว็บไซต์ พร้อมหนุน ม.44 แก้ปัญหา รพ.เอกชน ค้ากำไรเกินควร ขณะที่ กพย. วอนจับตา คณะทำงานร่วม สธ.-พาณิชย์ กำหนดราคายา เดินหน้า แก้ปัญหา เห็นผลได้จริงหรือไม่
นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ กรณีการแก้ปัญหา รพ.เอกชนคิดราคาค่าบริการแพง โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า ชมรมแพทย์ชนบท ไม่เห็นด้วยกับการยื้อเวลา และมาตรการเสนอข้อมูลราคายาทางเว็บไซต์ พร้อมเสนอให้ยุติการเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยและญาติในกรณีฉุกเฉิน สนับสนุนการควบคุมค่ารักษาพยาบาล ค่ายา รพ.เอกชนในกรณีไม่ฉุกเฉิน ยืนยันต้องมีมาตรการระยะสั้นภายใน 1 เดือน ดังนี้ 1. ให้ รมว.สาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 35(4) ประกอบมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 2. กระทรวงสาธารณสุข ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า รพ. ไม่มีสิทธิบังคับผู้ป่วยและญาติให้เซ็นรับสภาพหนี้ เพราะเป็นสิทธิของประชาชนในการใช้บริการ รพ.เอกชน ในกรณีฉุกเฉินตามมาตรา 36 และตามประกาศ ว่าด้วยการใช้บริการในกรณีฉุกเฉิน 3 กองทุน 3. ห้ามสถานพยาบาลกักตัวผู้ป่วยในทุกกรณี หากฝ่าฝืนถือเป็นความผิดทางอาญา และให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนผู้ป่วยในการฟ้องคดีสถานพยาบาลที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว
ส่วนข้อเสนอระยะกลาง คือให้ 1. รมว.สาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุดติดตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสถานพยาบาล และรายงานผลดำเนินการต่อกรรมการชุดนี้ ทุก 2 เดือน 2. ปรับคณะกรรมการสถานพยาบาลในมาตรา 7 (2) ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจำนวน 5 คน ให้เป็นผู้แทนจากภาคประชาชนที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์เป็นผู้เสนอ 3.ให้คณะกรรมการสถานพยาบาลทำหน้าที่ ตามมาตรา 11 (4) 4. ให้แก้ พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรมให้มีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 5. ปฏิรูป รพ.ของรัฐ ให้มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และ 6. สนับสนุนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ในมาตรา 294 (4)
ทั้งนี้ ในมาตรา 44 หากนำมาใช้แก้ปัญหา รพ.เอกชนค้ากำไรเกินควร ในสินค้าที่ต้องใช้คุณธรรมขั้นสูง จะเกิดประโยชน์มากกว่าการควบคุมการขายลอตเตอรี่เกินราคา และหากต้องการแก้ปัญหาจากรากเหง้า ต้องแก้ที่ต้นตอโดยยุบบอร์ดแพทยสภา แล้วแก้องค์ประกอบของแพทยสภาเหมือนอารย ประเทศอื่น ที่มีประสิทธิภาพด้านสุขภาพสูง เช่น ประเทศอังกฤษ
ด้าน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา(กพย.) กล่าวว่า เรื่องแก้ปัญหาข้างต้น ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำตั้งแต่ต้น เนื่องจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยสินค้าและบริการ ได้ระบุชัดว่า ยาคือสินค้าต้องควบคุม เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการควบคุมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เริ่มมีการหารือ และมีความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาจริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องมาดูว่าจะสามารถเดินหน้าได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากระบุแค่ให้ รพ.เอกชน แจ้งอัตราค่ารักษา ก็จะเกิดช่องโหว่ว่า เรื่องราคา มีการกำหนดเป็นความจริงแค่ไหน เพราะต้องพิจารณาเทียบต้นทุนด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องไปพิจารณาถึงบริษัทยาที่ขายยาอีกว่า แจ้งจำหน่ายยาในราคานี้ มีการคิดต้นทุนและบวกกำไรมากน้อยแค่ไหน ต้องบอกถึงโครงสร้างราคายาที่แท้จริง ซึ่งต้องมีระบบตรวจสอบที่ดีด้วย เพราะยาเป็นสินค้าพิเศษ เป็นสินค้าคุณธรรม.
- 15 views