คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ห่วงการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ บางเรื่องที่ยังไม่มีความคืบหน้า จึงมีมติให้ปรับกลไกการทำงาน ตั้ง รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เน้นประสานการทำงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคส่วนต่างๆ ในสังคมร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์สุขภาพโลก พ.ศ.2558-2563
ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การพัฒนา นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ภายใต้กลไก "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" มีความก้าวหน้าและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ผลักดันมติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะของประชาชนจำนวนมาก โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับมติฯ ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย และการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่า ยังมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอีกหลายประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จึงได้มีมติแต่งตั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) เพื่อยกระดับกลไกการขับเคลื่อนเชื่อมประสานหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคสังคม ให้เกิดพลังความร่วมมือมากยิ่งขึ้น
“ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ (คมส.) จะเน้นการทำงานแบบเครือข่าย การเสริมพลังทางบวกให้เกิดการต่อยอดงานและสร้างคุณค่าในการทำงานให้ได้ประโยชน์ร่วม เพื่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีพลัง และให้รายงานความก้าวหน้าให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติทราบอย่างต่อเนื่อง จึงควรให้รองประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คมส."
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้แทน รมว. สนับสนุนมติดังกล่าวที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ เป็นแกนนำในระดับนโยบาย สานพลังเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดพื้นที่พัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ต้องการบูรณาการการทำงานแบบข้ามศาสตร์ ข้ามหน่วยงาน ต้องผนึกพลังความร่วมมือของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาควิชาการและสายวิชาชีพ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความสำเร็จของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อยู่ที่หน่วยงานหรือองค์กรเจ้าของเรื่องที่รับผิดชอบนโยบายนั้นๆ ต้องหยิบมติไปใช้ประโยชน์ โดย สช.ต้องทำหน้าที่ในการประสาน ติดตาม หนุนเสริมให้ทุกภาคส่วนรู้จัก เข้าใจ และเห็นประโยชน์ของมติสมัชชาสุขภาพ การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับเป็นประธาน คมส. นับเป็นการช่วยสนับสนุนการเชื่อมพลังของภาครัฐเข้ากับภาควิชาการและภาคสังคม
ตัวอย่างความสำเร็จของการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ ได้แก่ ความก้าวหน้าของมติเรื่อง "การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย" ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 ในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการตามมตินี้ ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของระบบ จัดการกับปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ ภัยที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่มีแนวโน้มจะแพร่ระบาดไปทั่วโลก จนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ หรือการขับเคลื่อนมติ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” จากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจเอกชนที่เปลี่ยนใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมและการก่อสร้างที่ไม่ใช้แร่ใยหินที่เป็นโทษต่อสุขภาพ ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยมีการใช้ข้อมูลความรู้เป็นฐานสำคัญ
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังได้เห็นชอบให้ใช้ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ พ.ศ.2552 ต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 25 (5) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการทบทวน ปรับปรุง โดยการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความเท่าทันต่อสถานการณ์และเหมาะสมกับบริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- 11 views