กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ มหาวิทยาลัยรากูโนกากูเอ็ง ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น (RakunoGakuen University, Hokkaido, Japan) ร่วมมือด้านการวิจัยชีววิทยาและการควบคุมแมลงกัดดูดเลือดสัตว์ที่อาจนำโรคมาสู่คนเพื่อเฝ้าระวังและจัดทำข้อมูลแจ้งเตือนภัย รวมถึงการพัฒนาวิธีป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์ขาข้ออื่นทั้งที่เป็นพาหะนำโรคและไม่เป็นพาหะนำโรคแต่รบกวนและทำให้เสียเลือด
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข Dr.Shinji Hoshiba อธิการบดีมหาวิทยาลัยรากูโนกากูเอ็ง ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น Dr.Hitoshi Sasaki ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมวิชาการ มหาวิทยาลัยรากูโนกากูเอ็ง ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการชีววิทยาและการควบคุมแมลงกัดกัดดูดเลือดสัตว์ซึ่งอาจนำโรคสู่คน ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ มหาวิทยาลัยรากูโนกากูเอ็ง ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น โดยมีระยะเวลาดำเนินงานงานวิจัยร่วมกัน 2 ปี (ตั้งแต่ปี 2558-2560) ณ ห้องประชุม 801 อาคาร 8 ชั้น 8
นพ.อภิชัย กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและ มหาวิทยาลัยรากูโนกากูเอ็ง ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นได้ทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านกีฏวิทยาร่วมกันมามากมาย รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของ 2 สถาบัน ทั้งนี้ความร่วมมือของ 2 สถาบันเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2532 หรือ 26 ปีที่แล้ว เมื่อ Dr. Hitoshi Sasaki เป็นผู้แทน ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency, JICA) ด้านกีฏวิทยาได้นำทีมออกสำรวจปฏิบัติงานภาคสนามในพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ร่วมกันเรื่อง “Notes on blood sources of vector mosquitoes collected at a remote village of north-western Thailand”จากนั้นมีความร่วมมือด้านวิชาการมาอย่างต่อเนื่องและมีการนำเสนอผลงานร่วมกัน เมื่อปี 2547 ในงาน“International Congress of Entomology, Brisbane, Australia" เรื่องที่นำเสนอมี 2 เรื่องคือ Novel repellent effect of essential oils against mosquito vectors in Thailand และ Evaluation and development of cockroach repellents derived from essential oils of plants
นพ.อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ในปี 2554–2557 ทั้ง 2 สถาบันได้กลับมาทำงานวิจัยร่วมกันอีกครั้งเพื่อสำรวจและพัฒนาวิธีควบคุมแมลงกัดสัตว์ที่อาจนำโรคสู่คนโดยใช้กับดักผ้าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้แก่ นครราชสีมา เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ตรัง สงขลา จนพัฒนามาเป็น“กับดัก SASA99”ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกำจัดเหลือบและแมลงดูดเลือดอื่นๆในบริเวณคอกสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ปราศจากปัญหาสารเคมีกำจัดแมลงตกค้างบนตัวสัตว์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2557 ได้เผยแพร่ให้ทหารและประชาชนนำไปทดลองใช้ดักแมลงในพื้นที่เพื่อช่วยลดโรคในสัตว์และคนปรากฏว่าได้ผลดี ในวันนี้จึงเปิดตัวเผยแพร่ความรู้นี้สู่สาธารณะร่วมกันทั้งสองฝ่ายและผู้นำไปทดลองใช้
นอกจากนั้นบุคลากรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้รับเชิญไปดูงานวิจัยและบรรยายผลงานวิชาการที่ประเทศญี่ปุ่นอีกหลายครั้ง เช่นได้รับเชิญไปดูงานวิจัยของ Dr. Hitoshi Sasaki การรับเชิญไปบรรยายเรื่องประสบการณ์ในการป้องกันกำจัดตัวเรือดที่ดื้อต่อสารเคมีและล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ได้รับเชิญไปร่วมงานประชุมประจำปีของสมาคมป้องกันกำจัดแมลงที่เมือง SAPPORO ประเทศญี่ปุ่น และการพบกันครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของทั้ง 2 สถาบันในวันนี้ และจากความสัมพันธ์ อันแนบแน่นนี้เองที่นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นผลงานที่ช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนและทั้ง 2 สถาบันจะยังคงร่วมมือกันต่อไปเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับมนุษยชาติต่อไปอย่างยั่งยืน
- 56 views