นสพ.เดลินิวส์ : "บิ๊กตู่" สั่งตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน แพงเกินจริง ย้ำทำลูกค้าผู้ป่วยต่างชาติลด "สารี" จี้ รพ.รัฐ-เอกชนสร้างมาตรฐานเดียวกัน พบ ปชช.เดือดร้อนเป็นหนี้สินนับล้าน "พาณิชย์" ชี้ยาเป็นสินค้าควบคุม ขู่โขกราคาแพงเกินจริง โทษปรับ 1.4 แสน-จำคุกไม่เกิน 7 ปี
นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ออกมาเปิดเผยว่า ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนในประเทศไทยมีราคาแพงเกินจริงว่า กำลังให้ไปสำรวจอยู่ ขณะนี้เราตั้งใจจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ใช่หรือไม่ ที่ผ่านมาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลางเข้ามารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมากรายได้เป็นหมื่นล้าน แสนล้านต่อปี วันนี้เริ่มลดลง เพราะค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น อีกทั้งยังมีข่าวว่าค่ายารักษาเพิ่มขึ้น 200 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่ มิฉะนั้นจะเสียชื่อ
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงกรณี รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงว่า พอทราบว่ามีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงที่ประชาชนไปใช้บริการฉุกเฉิน เนื่องจากคิดว่าใช้ได้ฟรีจากนโยบายใช้บริการได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ แต่พอมีค่ารักษาพยาบาลแพง จึงทำให้จ่ายไม่ไหว ขณะนี้มีประชาชนล่ารายชื่อเพื่อนำไปยื่นต่อผู้มีหน้าที่ในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมเรื่องค่ารักษาพยาบาลซึ่งเราสนับสนุนเรื่องนี้ แต่ควรต้องทำให้ชัดเจน เพราะกรณีฉุกเฉินผู้ป่วยไม่ควรเสียเงินแพงควรให้ รพ.เอกชน ยอมรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยฉุกเฉินตามที่แต่ละกองทุนรักษาพยาบาลกำหนดหรือที่เรียกว่าราคากลาง เพราะ รพ.ได้กำไรมากและไม่ขาดทุน จึงเป็นความรับผิดชอบของ รพ.เอกชน ในภาวะฉุกเฉิน
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาไม่มีเตียงส่งต่อ ทั้งที่ผู้ป่วยต้องใช้เตียงจึงเห็นว่า รพ.เอกชน ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) หรือระบบประกันสังคม ซึ่ง รพ.รัฐ กับ รพ. เอกชน ควรมีมาตรฐานการรักษาแบบเดียวกันทุกคน เพราะเราพบว่า รพ.เอกชน มีหลายมาตรฐานมากในการรักษาประชาชน และสาเหตุหนึ่งที่ค่ารักษาพยาบาลแพงมาจากค่ายา
"คงไม่ถึงขั้นต้องให้รัฐบาลบังคับใช้มาตรา 44 จริงๆ เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ควรจะได้รับ ซึ่งจากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นหนี้สินตั้งแต่ระดับแสนบาทจนถึงระดับล้านบาท และมีผู้เสียหายกว่า 100 ราย ประมาณ 11 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินและค่าใช้จ่าย"
ที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่ากลุ่มเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์และนายกแพทยสภาเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล และค่ายาใน รพ.เอกชน บางแห่งที่มีราคาสูงกว่าท้องตลาด 100-200 เปอร์เซ็นต์ ว่าเรื่องดังกล่าวอยากให้ผู้เสียหาย หรือผู้เกี่ยวข้องมาร้องเรียนที่กรมการค้าภายใน หรือร้องเรียนผ่านสายด่วน โทร.1569 ว่า รพ.อะไรและยาประเภทไหนที่มีการเก็บค่ายาโหดขนาดนั้น เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้วมาวิเคราะห์ว่า รพ.เอาเปรียบผู้บริโภคมากแค่ไหน เพราะว่าการขายแพงมากเกินไปจะมีโทษตามกฎหมายปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวต่อว่า สินค้าหมวดยารักษาโรค ถือเป็นสินค้าและบริการที่มีการควบคุม แต่ยอมรับว่ายาแต่ละประเภทคงกำหนดราคาตายตัวไม่ได้เพราะยาบางประเภทจะนำเข้าจากต่างประเทศ และใช้วัตถุดิบแตกต่างกันไปรวมถึงค่าบริการด้วย เพราะต้องยอมรับว่า รพ.เอกชน ต้องคิดค่าใช้จ่ายแพงกว่าการบริการของรัฐเปรียบเสมือนกับโรงแรม ที่จะคิดค่าบริการแตกต่างกัน ทั้งด้านการอำนวยความสะดวก ความรวดเร็วเป็นต้น ในส่วนของ รพ.หากมีหลักฐานมาร้องเรียนกรมฯ เราจะเชิญผู้บริหาร รพ.มาแสดงหลักฐานเรื่องของต้นทุนต่าง ๆ ว่าสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน หากคิดราคาแพงเกินไปก็ดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดหรือรักษาระดับราคาสูงอย่างไม่เป็นธรรมหรือสูงเกินสมควรได้ อย่างไรก็ตาม รพ.เอกชน ถือเป็นทางเลือกแก่ผู้ป่วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแพงกว่า รพ.ของรัฐอยู่แล้ว
ด้านผู้อำนวยการ รพ.เอกชน แห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี เปิดเผยว่า กรณีค่ารักษาพยาบาลในส่วนของค่าธรรมเนียมบุคลากรทางการแพทย์ หรือค่าหมอ ได้รับการกำหนดตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 โดยจะมีราคาต่ำสุด-สูงสุดเพื่อใช้กำหนดแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่ตรวจรักษา ไม่ใช่ว่าจะราคาเหมือนกันทุก รพ.ซึ่ง รพ.เอกชน จำเป็นต้องหารายได้เพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทั้งสิ้น ซึ่งจะออกมาในรูปของค่าความเสื่อมทางการแพทย์ ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการต่าง ๆ
ผู้อำนวยการ รพ.เอกชน อีกแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพฯ อธิบายต่อกรณีดังกล่าวว่า ในส่วนของค่าหัตถการ หรือค่าผ่าตัดจะถูกกำหนดโดยแพทยสภา ซึ่งจะมีราคาเพดานสูงสุดตั้งไว้อยู่แล้ว โดยทาง รพ.ก็จะนำมาพิจารณาให้เหมาะสมและสัมพันธ์กับค่าครองชีพของประชาชนในละแวกใกล้เคียง และตามปกติแล้วราคาค่าเวชภัณฑ์ของ รพ.เอกชน แต่ละแห่งที่อยู่ในโซนเดียวกัน จะเกาะกลุ่มราคาไม่แตกต่างกันมาก นอกจากนี้การจัดทำบัญชีราคายา ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละ รพ.ว่าจะระบุรายละเอียดอย่างไรลงไปในใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล
ขณะที่ผู้ปกครองรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ได้พาบุตรชายและบุตรสาวรวม 2 คน ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคอีสุกอีใส ที่ รพ.เอกชน ชื่อดังแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ปรากฏว่าเสียค่าใช่จ่ายถึงคนละเกือบ 4 พันบาท รวมแล้ว 2 คนเกือบ 8 พันบาท โดยค่ายาแพงที่สุดกว่า 3 พันบาท ซึ่งถือว่าราคาสูงมากหากเทียบกับ รพ.เอกชน ด้วยกัน.-
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2558
- 2 views