บทความจาก นพ.สุธีร์ แจง 4 ข้อเข้าใจผิด ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ชี้เจตนารมณ์ กม.ไม่ต้องการพิสูจน์ถูกผิดเพื่อเอาผิดกับบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนการขยาย ม.41 ให้ครอบคลุมทุกสิทธิ์ไม่สามารถทำได้ เหตุกรมบัญชีกลางยัน ผิดวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนบัตรทองที่ใช้สำหรับผู้ป่วยบัตรทองเท่านั้น ยันมีผู้แทนวิชาชีพสาธารณสุข 9 คนอยู่ในคณะกรรมการ ระบุ ร่าง กม.ทั้งของ คปก. และ สธ.ผ่านการรับฟังความเห็น และปรับปรุงเนื้อหาที่เห็นแย้งแล้ว เชื่อผู้ค้านยังไม่ได้ศึกษาข้อ กม.ที่มีการเปลี่ยนแปลง วอน รมว.สธ.เร่งเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้า ครม.เพื่อรับหลักการ ก่อนเสนอ สนช.เพื่อใช้เวทีของ กมธ.แลกเปลี่ยนอย่างเปิดเผยต่อไป
นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นมา นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ลงนามสรุปความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี บัดนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากรัฐบาล จึงเป็นโอกาสที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แสดงความไม่เห็นด้วย ด้วยประเด็นต่างๆ ล่าสุดมีความเห็นต่างดังบทความ "ความขัดแย้ง การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล" ของ นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ (หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 พฤษภาคม 2558 ดู ที่นี่) ซึ่งได้นำเสนอความกังวลใจ 4 ประเด็นคือ 1) ชื่อของร่าง พ.ร.บ. 2) การให้เงินช่วยเหลือเท่ากับตัดสินว่าผู้ให้บริการเป็นผู้ผิด 3) สามารถแก้ไขมาตรา 41 ให้ครอบคลุมผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ได้ และ 4.) พ.ร.บ.นี้จะเป็นภาระทางการเงินของประเทศ
จากการวิเคราะห์บทความนี้พบว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้อธิบายตอบทั้ง 4 ประเด็นเหล่านี้ไว้หมดแล้ว ซึ่งสามารถหาอ่านได้ด้วยตนเองโดยไม่ยาก จากเว็บไซต์ของคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย (http://www.lrct.go.th)
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดต่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวในบุคลากรทางการแพทย์ อันเกิดจากบทความนี้ จึงจะอธิบายชี้แจงทีละประเด็นดังนี้คือ
ประเด็นแรก
เรื่องชื่อของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นคำที่ใช้ตรงไปตรงมาว่า "คุ้มครองผู้ที่ได้รับความเสียหาย" การใช้คำว่า "คุ้มครองผู้เสียหาย” ก็คล้ายกับ พ.ร.บ.อื่นๆ ที่ใช้คำนี้เช่นกัน หากบุคลากรทางการแพทย์ได้อ่าน ร่าง พ.ร.บ.ครบถ้วนจริงๆ จะเห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.บ. มาตราที่ 6 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ความเสียหายอาจเกิดขึ้นจากธรรมชาติของโรค และภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยก็เป็นได้ ไม่ใช่เกิดจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียว นอกจากนี้ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรทางแพทย์หลายภาคส่วน ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ไม่ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องชื่อของ ร่าง พ.ร.บ.แต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง
เรื่องการตัดสินถูกผิด คำพูดที่ว่า "คณะกรรมการเกือบทั้งหมดไม่ใช่บุคลากรสาธารณสุขอาจไม่เข้าใจเรื่องมาตรฐานวิชาชีพและระบบการทำงานด้านสาธารณสุข” ข้อความนี้ดูจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาก เพราะ ร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 7 มีผู้แทนสภาวิชาชีพด้านบริการสาธารณสุขทั้ง 8 สาขาจำนวน 8 คน และ ผู้แทนคณะกรรมการวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะจำนวน 1 คนมาจากการเลือกกันเองของคณะกรรมการวิชาชีพสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 9 คนนั่งในคณะกรรมการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
ส่วนที่กล่าวว่า “ถ้าระบุไว้ในกฎหมายว่าเมื่อจะนำคำวินิจฉัยคณะกรรมการไปใช้ในการตัดสินถูกผิดตามกฎหมายอื่นๆ ให้ส่งไปให้สภาวิชาชีพหรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นก่อน ก็น่าจะลดความวิตกกังวลในข้อนี้ลงไปได้” เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายนี้ไม่ต้องการพิสูจน์ความถูกผิด จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องส่งผลการวินิจฉัยเพื่อการตัดสินความผิด และการชดเชยความเสียหายนี้ เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมไม่ใช่เพื่อการเอาผิดกับบุคลากรทางการแพทย์แต่อย่างใด
ประเด็นที่สาม
นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ ชี้ว่า “การขยายความคุ้มครองตามมาตรา 41 ไปยังผู้ที่ใช้สิทธิบัตรอื่นๆ ก็น่าจะสามารถกระทำได้โดยไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย” จากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กับอธิบดีกรมบัญชีกลาง ที่กรมบัญชีกลางเมื่อวันที่ 1 สิ่งหาคม 2556 ทางกรมบัญชีกลางได้ให้ความเห็นไว้ว่า "เกี่ยวกับเงินมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยระบบของเงินงบประมาณแล้ว อาจไม่สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ เพราะเป็นคนละวัตถุประสงค์กัน เนื่องจากวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อจ่ายให้โรงพยาบาลเพื่อการรักษา แต่ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อชดเชยกับผู้ได้รับความเสียหาย” จึงสรุปว่าข้อเสนอนี้ของ นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ ไม่สามารถทำได้ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย
ประเด็นที่สี่
การเป็นภาระทางด้านการเงิน พบว่าบทความพยายามยกตัวอย่างอ้างอิงว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่ใช้งบประมาณบริหารสำนักงาน 1,943 ล้านบาทต่อปี และแจกแจงว่าตำแหน่งต่างๆ ได้รับเงินเดือนจำนวนมากเหล่านี้ อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ว่างบบริหารจัดการจะเป็นเช่นนี้จริง ซึ่งเป็นการคาดเดาของผู้เขียนแต่ฝ่ายเดียว สิ่งที่ต้องพิจารณาในประเด็นนี้คือ หากไม่มีกองทุนนี้ ย่อมจะทำให้ผู้ป่วยต้องฟ้องร้องผ่านศาลแทน ส่งผลทำให้โรงพยาบาลและแพทย์อาจต้องทำประกันการฟ้องร้อง ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะต้องไปบวกรวมกับค่ารักษาพยาบาล และส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นทั้งระบบ เหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอเมริกามาแล้ว
ดังนั้นในภาพรวมแล้วการชดเชยโดยภาครัฐนี้ จะทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศได้มากกว่า และตรงกับข้อสรุปที่กรมบัญชีกลางที่ให้ไว้คือ "แนวทางเกี่ยวกับกรณีแพทย์ในหน่วยงานภาครัฐทำความเสียหายแก่ประชาชน รัฐต้องรับผิดชอบ"
โดยสรุปแล้ว ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นฉบับของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือฉบับของกระทรวงสาธารณสุข ล้วนได้ผ่านกระบวนการมาตรฐานเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงการเปิดรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย และยังได้มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาใหม่แล้ว ความเห็นแย้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่าหลายประเด็นได้ถูกอธิบายไว้แล้ว หรือแก้ไขในร่าง พ.ร.บ. ไปแล้ว แต่ผู้คัดค้านอาจยังไม่ได้ศึกษาให้ครอบคลุมให้ทันสมัย
ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะได้นำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เสนอต่อครม.เพื่อรับหลักการ และส่งเข้าสนช.เพื่อให้ทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ได้ใช้เวทีของคณะกรรมาธิการในการถกแถลงร่วมกันอย่างอิสระเปิดเผยต่อไป
ผู้เขียน : นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ปัองกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- 19 views