บอร์ด สปสช.เห็นชอบให้ รพ.และสปสช.ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิว่างก่อนได้ ตามมาตรา 8 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อช่วยกลุ่มผู้มีสิทธิว่างต่อเนื่องร่วม 30,000 ราย/ปี เข้าถึงการรักษาและได้รับการคุ้มครองสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน หลังก่อนหน้านี้อนุมัติหน่วยบริการ-สปสช.เป็นตัวแทนขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ม.8 ในกลุ่มเด็ก 0-5 ปี ผู้มีสิทธิว่างหลังหมดสิทธิระบบประกันสังคม-สวัสดิการข้าราชการ ขณะที่หน่วยบริการได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่ม
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูแลประชาชนประมาณ 48 ล้านคน ซึ่งในแต่ละปีจะมีประชาชนประมาณ 30,000 รายที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลประจำ หรือที่เรียกกันว่า สิทธิว่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กแรกเกิด และประชากรที่เปลี่ยนสิทธิ เช่น จากประกันสังคมหรือจากสิทธิข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งการที่ประชาชนมีสิทธิว่างนั้น ส่งผลกระทบด้านการรับการรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะหากไปรักษากรณีฉุกเฉินที่สถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่าย ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 สปสช.ได้จ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับผู้ป่วยสิทธิว่างนี้ประมาณเกือบ 40 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมบอร์ดสปสช.เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา จึงเห็นชอบให้ หน่วยบริการที่ให้บริการสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจัดให้บุคคลดังกล่าวลงทะเบียนเพื่อเลือกหน่วยบริการแทนได้ โดยให้แจ้ง สปสช.ทราบภายใน 30 วันนับแต่ให้บริการ และในกรณีที่ตรวจสอบภายหลังพบว่าหน่วยบริการยังไม่ได้ทำการลงทะเบียน ขอให้มอบ สปสช.ดำเนินการลงทะเบียนแทนเป็นการชั่วคราวก่อน โดยให้เลือกหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ตำบลหรืออำเภอตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน หรือหน่วยบริการที่มีการรักษาต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความสะดวกและความจำเป็นของผู้มิสิทธิเป็นสำคัญ และหากผู้มีสิทธิไม่พอใจที่ สปสช.เลือกให้ สามารถขอเปลี่ยนหน่วยบริการในภายหลังได้
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องให้หน่วยบริการหรือ สปสช.ทำการลงทะเบียนหน่วยบริการแทนผู้มีสิทธิว่างนั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนกลุ่มนี้ต้องเสียสิทธิในการเข้ารับบริการฉุกเฉินหรือกรณีเหตุจำเป็นกับสถานบริการที่ไม่ได้ร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามมาตรา 7 นอกจากนี้ยังเพิ่มค่ารักษาเหมาจ่ายรายหัวให้กับหน่วยบริการที่ผู้มีสิทธิว่างเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง รวมถึงงบส่งเสริมป้องกันและงบผู้ป่วยในของแต่ละเขต พร้อมกันนี้ยังเป็นการลดภาระกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการตามจ่ายค่ารักษาผู้มีสิทธิว่างตามมาตรา 8
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพมาโดยตลอด เพื่อให้สิทธิครอบคลุมคนไทยทั้งหมด ซึ่งนอกจากผู้มีสิทธิว่างที่ไม่เคยมีการลงทะเบียนในระบบแล้ว ยังมีผู้มีสิทธิว่างอีก 2 กลุ่มก่อนหน้านี้ ที่ใช้มาตรา 8 รองรับ โดยให้หน่วยบริการและ สปสช.ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการเช่นกัน คือ กลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี โดยบอร์ด สปสช.ได้มีมติบอร์ดรองรับเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ในประชากรสิทธิว่างที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน โดยกลุ่มนี้มีทั้งผู้ที่หมดสิทธิประกันสังคมเกิน 6 เดือน ซึ่งมีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่ลงทะเบียนสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกลุ่มผู้ที่หมดสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ บุตรอายุเกิน 20 ปี, ข้าราชการที่พ้นสภาพโดยการรับบำเหน็จ และครอบครัวข้าราชการที่พ้นสภาพโดยผู้มีสิทธิรับบำเหน็จหมดสิทธิ บอร์ด สปสช.จึงได้มีมติรองรับ เมื่อเดือนสิงหาคม 2554
“จากที่บอร์ด สปสช.เห็นชอบให้หน่วยบริการและ สปสช.ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการให้กับผู้ที่มีสิทธิว่างทั้ง 3 กลุ่มเป็นการชั่วคราว ก็เพื่อการคุ้มครองสิทธิให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพรองรับ และเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ซึ่งนับเป็นภารกิจที่สำคัญของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
- 973 views