อาชีพพนักงานห้องเก็บศพ เป็นอาชีพหนึ่งที่น้อยคนนักว่าจะมีอยู่ในโรงพยาบาล อาชีพที่ต้องทำงานอยู่กับศพทุกวัน และยังต้องทำงานประสานกับญาติของผู้เสียชีวิตท่ามกลางความสูญเสีย แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถทำงานกับร่วมกับร่างที่ไร้ลมหายใจได้ตลอด
อังคาร มารวิชัย
อังคาร มารวิชัย พนักงานห้องเก็บศพ ฝ่ายพิธีการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำงานในตำแหน่งห้องพนักงานเก็บศพ เคยทำงานเป็นพนักงานคั้นมะพร้าวที่บริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อวันหนึ่งมาเที่ยวที่กรุงเทพ มีเพื่อนแนะนำว่าที่ รพ.จุฬาฯ รับสมัครเจ้าหน้าที่ห้องเก็บศพ จึงได้สมัครและได้มาทำงานในตำแหน่งดังกล่าวในตอนนั้นด้วยวัย 24 ปี
"หลายคนพอรู้ว่าผมทำงานที่ห้องเก็บศพ ทุกคนจะถามว่า ไม่กลัวเหรอ ? แต่ผมไม่กลัวหรอก เพราะเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติ อีกทั้งศพทั้งหลายเราเจอกันทุกวัน ยิ่งในบ้าน ในตู้เย็นมีศพเป็นจำนวนมาก เช่น ศพของเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ ทั้งหมู ไก่ ปลา แล้วทำไมเราถึงไม่กลัวศพเหล่านั้น ศพคนก็เหมือนกัน ผมคิดได้แบบนี้จึงไม่มีความกลัว"
อังคารบอกว่า ที่ฝ่ายจะมีเจ้าหน้าที่ชายเท่านั้น มีเพียงกัน 6 คน ทำงานวันละ 2 คน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และผลัดเปลี่ยนกันตลอด ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่ไม่หนักมาก มีผลตอบแทน และสวัสดิการที่ดี ในแต่ละวันจะมีศพเข้ามาเฉลี่ยวันละประมาณ 3-4 ศพ มีตู้แช่ศพทั้งหมด 24 ตู้ ความรู้ในการดูแลศพจะได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นพี่
การทำงานในแต่ละวัน ทางฝ่ายจะต้องรอรับโทรศัพท์จากตึกที่รักษาผู้ป่วยว่า วันนี้มีผู้เสียชีวิตที่ตึกใดบ้าง จากนั้นเมื่อทางฝ่ายรับศพมาแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะนำศพเข้าตู้แช่ศพ เพื่อรอญาติมาติดต่อขอรับศพ และหลังจากที่ญาติมารับศพ ทางเจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดศพและเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ตามที่ญาติผู้เสียชีวิตร้องขอ รวมทั้งเรื่องเอกสารต่างๆ
ทั้งนี้หลักในการทำงานของเจ้าหน้าที่เก็บศพ จะต้องให้ความเคารพแก่ทุกศพ ให้ความเสมอภาคแก่ศพและญาติโดยไม่เลือกว่าผู้เสียชีวิตจะมีชื่อเสียงมากน้อยเพียงใด และอาจมีต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตด้วย
การทำงานท่ามกลางความสูญเสียและโศกเศร้าของญาติผู้เสียชีวิตการ และการประสานงานในเรื่องต่างๆ กับญาติผู้เสียชีวิตเจ้าหน้าที่ต้องใจเย็นและพูดจาที่สุภาพนุ่มนวล ดังนั้นการทำงานในฝ่ายนี้จะต้องมีความอดทนและมีขันติ
เมื่อถามว่า มาทำงานตรงนี้แล้วเราจะได้อะไร อังคาร บอกว่า สิ่งที่ได้มีงานทำที่มั่นคง และได้บุญด้วย อีกทั้งยังเป็นงานที่มีเกียรติ เพราะเราไม่ใช่ญาติผู้เสียชีวิต แต่เราได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจัดการและเป็นธุระให้กับศพในช่วงที่ญาติพบกับความโศกเศร้า
อังคาร กล่าวว่า การทำงานอยู่กับศพทุกวันนี้ได้ เราไม่ต้องมีคาถาใด อย่างเดียวที่ยึดไว้ คือ การเคารพผู้ที่เสียชีวิตทุกครั้งก่อนที่จะทำอะไรต่างๆ ให้กับผู้เสียชีวิต อีกทั้งงานที่ทำทุกวันนี้ทำให้เราเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมะ ในที่สุดทุกชีวิตต้องตาย
“พนักงานห้องเก็บศพ เป็นงานที่มีเกียรติ ได้บุญ สร้างความภูมิใจให้กับตนเอง และได้ทำงานกับองค์กรการกุศลอย่างสภากาชาดไทยแล้ว ที่ทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งฝ่าย มีความเสมอภาคทุกคน ยิ่งทำให้เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง” อังคารกล่าว
- 1394 views