กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการที่จะตรวจวิเคราะห์ คุณภาพของวัคซีน เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนชนิดของวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กตามนโยบายของประเทศ สอดคล้องกับแผนจัดการปิดฉากสุดท้าย ของการกวาดล้างโปลิโอตามมติของการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก โดยคณะกรรมการพัฒนาบัญชียา หลักแห่งชาติกำลังพิจารณาการนำวัคซีน IPV มาใช้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เพื่อให้สามารถจัดซื้อวัคซีน IPV มาใช้ได้ทันในปี 2558
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันวัคซีนโปลิโอมี 2 ชนิด คือ ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Oral Poliomyelitis Vaccine, OPV) เตรียมจากเชื้อไวรัสโปลิโออ่อนฤทธิ์ ซีโรทัยป์ 1, 2 และ 3 สายพันธุ์เซบิน ให้โดยการกินและชนิดเชื้อตาย (Inactivated Poliomyelitis Vaccine, IPV) ที่ผลิตโดยการทำให้เชื้อไวรัสโปลิโอตายด้วยความร้อนหรือสารเคมี ให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จากข้อมูลการใช้วัคซีนชนิดรับประทาน พบว่า ผู้ได้รับวัคซีนอาจเกิดอาการโรคโปลิโอที่เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีน OPV (Vaccine-associated paralytic poliomyelitis, VAPP) การเกิด VAPP จะไม่ทำให้เกิดการระบาดซ้ำของโรคโปลิโอ แต่หากเชื้อไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนมีการกลายพันธุ์ (Circulating Vaccine derived poliovirus, cVDPV) หลังจากที่เด็กได้รับวัคซีนแล้วจะเป็นสาเหตุของการระบาดของโรคโปลิโอได้ ซีโรทัยป์ที่เป็นสาเหตุของการเกิด cVDPV มากกว่า 90% คือ โปลิโอไวรัส ซีโรทัยป์ 2
ดังนั้นเพื่อลดการเกิด cVDPV และทำการกวาดล้างโรคโปลิโอ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงมีแผนการปรับเปลี่ยนการใช้วัคซีนชนิดรับประทาน ที่มีไวรัส 2 สายพันธุ์ (bivalent OPV, bOPV) โดยใช้ร่วมกับวัคซีน IPV แทนวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานที่มีองค์ประกอบของไวรัส 3 สายพันธุ์ (Trivalent Oral Poliomyelitis Vaccine, tOPV) ซึ่งเป็นไปตามมติของการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก (World Health Assembly, WHA) โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทุกประเทศใช้วัคซีน IPV ก่อนสิ้นปี 2558 เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กที่ได้รับวัคซีน bOPV จะยังคงมีภูมิคุ้มกันต่อโปลิโอไวรัส ซีโรทัยป์ 2 ที่ไม่มีอยู่ใน bOPV และในเดือนเมษายน 2559 กำหนดให้โรงงาน หยุดผลิตวัคซีนเดิมชนิด 3 สายพันธุ์ ทุกประเทศจะทำลายวัคซีนเดิมที่เหลือ ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้ทั่วโลกมีโอกาสบรรลุเป้าหมายปิดฉากสุดท้ายของการกวาดล้างโปลิโอได้มากขึ้นและลดการเกิดโรคโปลิโอที่เป็นผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ได้ ขณะนี้หลายประเทศได้ตกลงและดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
นพ.อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประเทศไทยมีนโยบายสอดคล้องกับแผนจัดการปิดฉากสุดท้าย ของการกวาดล้างโปลิโอตามมติของการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก โดยคณะกรรมการพัฒนาบัญชียา หลักแห่งชาติกำลังพิจารณาการนำวัคซีน IPV มาใช้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เพื่อให้สามารถจัดซื้อวัคซีน IPV มาใช้ได้ทันในปี 2558 โดยหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ในการควบคุมคุณภาพชีววัตถุของประเทศ คือ สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน้าที่หลักในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพประกอบการขึ้นทะเบียนและ การรับรองรุ่นการผลิตของวัคซีนก่อนอนุญาตให้จำหน่ายในประเทศ โดยการรับรองรุ่นการผลิตพิจารณาจากเอกสาร สรุปรายงานการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีน และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพและ ความปลอดภัยของชีววัตถุ ซึ่งมีความพร้อมทางห้องปฏิบัติการที่จะตรวจวิเคราะห์คุณภาพของวัคซีนทั้งชนิด bOPV ที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน และ IPV ที่มีการขึ้นทะเบียนแล้วตั้งแต่ปี 2540 ได้ตามข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น ความแรง ความปลอดภัยและคุณสมบัติทางเคมี-ฟิสิกส์ของวัคซีน จึงมั่นใจได้ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถรองรับการปรับเปลี่ยนชนิดของวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กตามนโยบายของประเทศได้ และกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลก
- 72 views