ข้อเขียนจาก นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่นำเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชนที่ถูกร้องเรียนว่ามีราคาแพงเกินจริง มีทั้งหมด 4 ตอน ตอนแรกนั้น (ดู ที่นี่) นพ.วิชัย ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ ค่ายา และค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชนมีราคาแพง โดยระบุว่า มีต้นเหตุทั้งที่สมควรและไม่สมควร ซึ่ง นพ.วิชัยระบุว่า การที่ รพ.เอกชนจะมีกำไรนั้น เป็นเรื่องไม่ผิด และเป็นส่วนที่สมควรและยอมรับได้ ถ้าไม่เป็นการค้ากำไรจนเกินควร ขณะเดียวกัน จากเหตุที่ไม่สมควร คือ ระบบบริการที่ฉ้อฉล และระบบการควบคุมตรวจสอบล้มเหลว ตรงนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่ทำให้ค่ารักษามีราคาแพงเกินจริงด้วย
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 2 รพ.เอกชนค่ารักษาแพง : ปัญหาและทางออก (2)
นพ.วิชัย โชควิวัฒน
กรณีที่สอง ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงหรือแพงมหาโหด โดยไม่สมควร คือการรับไว้ในโรงพยาบาล (Admission) โดยไม่สมควรและไม่จำเป็น
กรณีคนไข้ที่เป็นไข้หวัด หรือท้องเสียตามที่ยกตัวอย่างมาแล้วจำนวนมาก ที่ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะสามารถรักษาหายโดยปลอดภัยได้ด้วยการรักษาแบบคนไข้นอก อาจจะถูกแพทย์สั่งให้รับไว้ในโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถเพิ่มการตรวจรักษา เพื่อเพิ่มรายได้และกำไรแก่โรงพยาบาลอีกมาก วิธีการก็อาจทำโดยการ “แจ้ง” แก่คนไข้ว่าต้องนอนโรงพยาบาล หากกลับบ้านอาจมีอันตรายร้ายแรงถึงตายได้ กรณีดังกล่าว คนไข้และญาติคนไข้เกือบจะร้อยทั้งร้อยก็ย่อมกลัวตาย และยอมเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล
ผู้เขียนเคยเป็นกรรมการแพทย์ในคณะกรรมการการแพทย์ประกันสังคม เคยไปเดินตรวจโรงพยาบาลเอกชน พบคนไข้ประเภทนี้จำนวนไม่น้อย ท่านรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาณสุขต่างก็เป็นแพทย์ทั้งสองท่าน ลองหาโอกาสไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเอกชนแบบไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า หรือส่งทีมออกไปเดินสำรวจก็จะพบปัญหาดังกล่าวนี้ได้ไม่ยาก
กรณีที่สาม ที่พบได้ไม่น้อย คือ การผ่าตัดที่ไม่จำเป็น เช่น กรณีคนไข้ปวดท้องแล้วถูกวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น คนไข้เหล่านี้เมื่อผ่าตัดแล้ว จะต้องส่งไส้ติ่งไปตรวจว่าอักเสบจริงหรือไม่ จะพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่พยาธิแพทย์อ่านผลว่า “ไส้ติ่งปกติ” (Normal Appendix) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการวินิจฉัยผิดโดยสุจริต แต่มีส่วนหนึ่งที่จงใจวินิจฉัยผิด ปัจจุบันค่าผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาลเอกชนราคาหลักแสน ยังไม่คิดค่าโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นอีกจิปาถะ
เมื่อพบว่า “ไส้ติ่งปกติ” แพทย์ก็จะอธิบายให้คนไข้สบายใจว่า แม้ปกติแต่ตัดออกไปก็ดีแล้ว เพราะเป็นอวัยวะที่ไม่มีประโยชน์ และอาจอักเสบขึ้นเมื่อใดก็ได้ หากไปอักเสบในป่า หรือที่ห่างไกลทุรกันดาร หรือระหว่างเดินทางไปต่างประเทศก็จะยุ่งยากและอันตรายมาก โดยไม่พูดถึงความเสี่ยงจากการผ่าตัด การให้ยาระงับความรู้สึก และค่าใช้จ่ายที่เสียไปโดยไม่สมควร
ผู้เขียนเคยประสบด้วยตนเอง เมื่อราว 20 ปีมาแล้ว มีญาติอายุประมาณ 50 ปี เส้นโลหิตในสมองแตก จากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (Arterio-venous หรือ A-V malformation) รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อไปเยี่ยมตรวจอาการและขอดูเวชระเบียนพบว่าสมองตาย (Brain Death) แล้ว ซึ่งย่อมแปลว่าไม่มีโอกาสหายหรือฟื้นแล้ว ถามน้องชายของญาติที่เฝ้าอยู่ บอกว่าหมอกำลังจะผ่าตัดสมอง ซึ่งจะมีโอกาสรอด 3% ผู้เขียนแนะนำว่าความจริงน่าจะเหลือ 0% แล้ว แต่น้องชายบอกว่าเมื่อหมอบอกมีโอกาสรอด 3% แม้เสียค่าใช้จ่ายเท่าไรก็ยอม ทั้งๆ ที่มิใช่คนมีฐานะดีอะไร ในที่สุดคนไข้ก็ถูกผ่าตัด เสียเงินไปอีกราว 4 แสน สมัยนั้น และเสียชีวิตในวันต่อมา
แน่นอนว่า คนไข้รายนี้ หากอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ก็ย่อมไม่มี “แรงจูงใจ” ให้ผ่าตัดที่ไม่จำเป็น และไม่สมควรเช่นนั้น
กรณีที่สี่ นอกจากการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นและไม่สมควรแล้ว ยังมีการสั่งตรวจและรักษาที่ไม่จำเป็นอื่นๆ อีกมากมาย คนไข้สูงอายุจำนวนมาก ที่หมดสติหรืออาจเสียชีวิตแล้ว ญาตินำส่งโรงพยาบาล หากเข้าโรงพยาบาลเอกชน จะมีการนำเข้าห้องไอซียู (ICU หรือ Intensive Care Unit) ใส่เครื่องช่วยพยุงชีพมากมาย ด้วยความหวังที่จะกู้ชีพให้ฟื้นคืนมา คนไข้เหล่านี้ส่วนหนึ่งสมควรช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้รอดหรือหาย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่สมองตายแล้ว ไม่ควร “ยืดความตาย” แต่โรงพยาบาลเอกชนมีแรงจูงใจสูงที่จะสั่งการตรวจวินิจฉัยเพื่อยืดการตาย เพราะจะเพิ่มรายได้และผลกำไรให้ได้มากมาย
คนไข้บางรายที่ “สิ้นหวัง” แล้ว จะต้องตายอย่างแน่นอน นอกจากการพยายามให้ความหวังและสั่งการตรวจรักษาไปเรื่อยๆ แล้ว ในวาระสุดท้าย โรงพยาบาลเอกชนมักมี “ประเพณีปฏิบัติ” ที่จะเชิญแพทย์ที่ปรึกษาหลายๆ แขนงมาตรวจเพื่อ “ช่วยคนไข้” โดยอ้างเหตุผลว่าเผื่อจะมีความหวังบ้าง ซึ่งในอีกแง่หนึ่งคือ การมาช่วยกัน “รีด” เอาจากคนไข้และญาติอีกหนึ่งรอบ ก่อนจะ “ปล่อย” ให้หลุดมือไป
กรณีดังกล่าวนี้ เป็นปัญหาในประเทศทุนนิยมหลายประเทศทั่วโลก เพื่อมิให้ปัญหานี้ขยายตัวในประเทศไทย ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อ “ปฏิรูประบบสุขภาพ” ในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ จึงมีการผลักดันจนเกิดมาตรา 12 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงเจตนาล่วงหน้าที่จะไม่ขอรับการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อยืดความตาย หรือ ยืดความทุกข์ทรมานออกไป โดยกฎหมายบัญญัติให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขสามารถยุติการรักษาดังกล่าวได้โดยไม่มีความผิด ปรากฏว่า แพทยสภากลับเป็นฝ่ายออกมาคัดค้านมาตรการดังกล่าวอย่างแข็งขัน โดยอ้างจรรยาบรรณวิชาชีพ ทำให้กฎหมายที่ออกมาแล้วไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควรจะเป็นมาจนทุกวันนี้
น่าสงสัยว่า การออกมาคัดค้านดังกล่าว เป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ เพราะมีกรรมการแพทยสภาหลายคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมในโรงพยาบาลเอกชน เพราะการยืดความตายในช่วงท้ายของชีวิต ย่อมทำรายได้ และผลกำไรให้แก่โรงพยาบาลเอกชนอย่างเป็นกอบเป็นกำ กรรมการในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่ เล่าให้ฟังด้วยความขมขื่นว่าว่า ตอนแม่ใกล้จะเสียชีวิต จะขอนำกลับไปบ้าน แต่ทางโรงพยาบาล(เอกชน) ไม่ยอม ต้องหมดไปอีกราว 20 ล้าน
ในสหรัฐอเมริกา หลายปีมาแล้ว มีผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลกว่าครึ่ง ใช้ไปในช่วงครึ่งปีสุดท้ายของชีวิต ทั้งนี้สหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลที่แพงที่สุดในโลกถึง 17.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ขณะที่ญี่ปุ่นใช้ 9.6% ของจีดีพี และปัจจุบันไทยใช้ 4%
โดยสรุปแล้ว ค่ารักษาพยาบาลที่แพงหรือแพงมหาโหดในโรงพยาบาลเอกชน เกิดจากทั้งเหตุที่สมควรและไม่สมควร เหตุที่ไม่สมควรที่เป็นเหตุใหญ่ เกิดจากการสั่งตรวจรักษา ผ่าตัด และใช้ยาที่เกินจำเป็นและไม่สมควร การคิดกำไรค่ายาแต่ละรายการแพงมาก กลายเป็นเหตุเล็กๆ เท่านั้น ค่ายาที่แพงส่วนใหญ่เกิดจากการสั่งใช้ยามากขนานเกินความจำเป็น และสั่งยาที่มีราคาแพงเพื่อทำกำไรให้มาก ถ้าสั่งใช้ยาเท่าที่จำเป็นและสมควร โดยไม่มุ่งสั่งใช้ยา ราคาแพง จะลดราคาลงได้มาก แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เองในโรงพยาบาลเอกชน
โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย เติบโตและมีอิทธิพลจนกลายเป็น “สัตว์ประหลาด” (monster) อย่างก็อตซิลลาที่ควบคุมไม่ได้ไปแล้ว จะหวังให้กลายเป็นก็อตซิลลาภาคล่าสุด คือ ก็อตซิลลา ที่มีจิตเมตตาต่อมนุษย์ก็คงยาก
ปัญหาเหล่านี้ย่อมไม่เกิดถ้าแพทย์ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่แพทย์ในโรงพยาบาลเหล่านี้จะยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพได้อย่างไร เพราะถ้าทำเช่นนั้น ก็จะถูกผู้บริหารตำหนิ กดดัน และต้องลาออกไปในที่สุด หลายคนจึงจำต้องปรับสภาพจากมนุษย์ “ผู้มีปัญญาอันเลิศ” เป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” (Homo economicus) ไปในที่สุด แพทยสภา ซึ่งควรทำหน้าที่ปกป้องจรรยาบรรณวิชาชีพก็หวังอะไรไม่ได้ เพราะโครงสร้างปัจจุบันของแพทยสภา ทำให้มุ่งปกป้องวิชาชีพ แทนที่จะปกป้องประชาชน ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษ จึงไม่ยอมให้แพทย์ “ควบคุมกันเอง” อย่างของประเทศไทย แต่กฎหมายอังกฤษกำหนดให้มีภาคประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการแพทยสภาถึงครึ่งหนึ่งแล้ว
ผู้เขียน : นพ.วิชัย โชควิวัฒน
ติดตามต่อ นพ.วิชัย โชควิวัฒน : รพ.เอกชนค่ารักษาแพง ปัญหาและทางออก (3)
- 313 views