กฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ยังคงเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างกันอยู่มาก ทุกครั้งที่มีข้อเสนอหรือมีความคืบหน้าในการดำเนินการ จะมีการคัดค้านที่ทรงพลังจากแพทยสภา ในฐานะภาพลักษณ์ของการเป็นตัวแทนกลุ่มแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลัก ภาพที่ออกมาจึงเป็นเหมือนว่า ผู้ป่วยหนุนกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่แพทยสภาคัดค้านกฎหมายฉบับนี้
ที่ผ่านมา มีการสื่อสารในประเด็นนี้ ทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน แต่ดูเหมือนว่า ยังคงไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกันได้ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็หยิบยกประเด็นที่ระบุว่าเป็นโทษมานั้น ฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ได้ขอให้แพทย์ที่คัดค้านศึกษาข้อกฎหมายให้ละเอียด และยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับแพทย์ทุกมาตรา
และล่าสุด จากบทความของ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา เรื่อง ทำไมแพทยสภาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (ดู ที่นี่) ก็ได้มีบทความนำเสนอข้อมูลอีกด้านจาก ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ สำนักข่าว Health Focus จึงได้นำมาเผยแพร่ต่อ เพื่อให้เป็นข้อมูลจากทั้ง 2 ด้านให้ผู้อ่านได้พิจารณา ดังนี้
คำถามถึงแพทยสภา กรณีคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
สืบเนื่องจากกรณี พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา แถลงเหตุผล “ทำไมแพทยสภาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” เผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ 14 เมษายน 2558 พร้อมผลักดันให้ขยายการคุ้มครองของมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้ครอบคลุมผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและข้าราชการแทนนั้น
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับประชาชนที่แพทยสภาประกาศจุดยืนชัดเจนว่า เห็นด้วยและสนับสนุนหลักการและวิธีปฏิบัติตาม มาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทั้งๆ ที่ แพทยสภาคัดค้านมาตรา 41 มาตั้งแต่ต้น ถึงขั้นแพทย์บางคนแต่งชุดดำประท้วง ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ในช่วงสิบปีเศษที่ผ่านมาว่าแพทยสภาผิดชัดเจนในเรื่องนี้ และต้องกลับลำ 180 องศา เห็นด้วยและสนับสนุนให้ขยายการครอบคลุมของมาตรานี้ให้เกิดอานิสงส์แก่อีก 2 กองทุนใหญ่
นอกจากนี้ แพทยสภายังประกาศชัดเจนตามการแถลงข้อ 1 ว่า “หลักการที่สำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และมาตรา 41 ไม่แตกต่างกัน คือ ชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ช่วยแก้ไขความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ ช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้ เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และคนไข้ มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขให้น้อยที่สุด”
ความจริง ถ้าแพทยสภาเห็นด้วยกับหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ตามที่แถลงนี้ ก็ไม่สมควรคัดค้านมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้
เหตุผลเดียวที่แพทยสภายังคงค้านร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ปรากฏในคำแถลงข้อ 7 ที่ระบุว่า “อาจเกิดความเสียหายจากการตั้งกองทุนใหม่” ซึ่ง “มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าปีละนับพันล้านบาทและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ .... เงินจำนวนพันล้านหรือมากกว่านั้นต่อปีที่จะต้องสูญเปล่าจากการบริหารกองทุน.....”
คำถามแรกต่อแพทยสภา คือ แพทยสภากำลังใช้วิธีเดิมๆ ในการบิดเบือนข้อมูลตัวเลขให้ดูน่ากลัวหรือไม่ เพราะแม้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจะมีการกำหนดให้ตั้งกองทุนเพื่อการนี้ แต่ก็ใช้หลักการเดียวกันกับ มาตรา 41 คือให้ใช้เงินไม่เกินร้อยละ 1 เหมือนกัน และยังกำหนดไว้ในร่างฯ มาตรา 16 ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นสำนักงานเลขานุการของกองุทน จึงไม่มีการตั้งสำนักงานขึ้นใหม่ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณด้านบริหารลงได้มาก และค่าใช้จ่ายด้านบริหารที่จำเป็นตามร่างฯ มาตรา 13 และร่างฯ มาตรา 15 ก็จำกัดไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ตามร่างฯ มาตรา 17
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจากกองทุนส่วนใหญ่จึงย่อมต้องจ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่ผู้รับบริการ จะ “สูญเปล่า” ได้อย่างไร
แน่นอนว่า การจ่ายเงินค่าเสียหายตามร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะต้องสูงกว่าที่เคยจ่ายตามมาตรา 41 อย่างแน่นอน เพราะกำหนดให้จ่ายสูงขึ้น เพื่อเหตุผลสำคัญคือเพื่อลดเหตุจูงใจในการฟ้องร้องแพทย์หรือโรงพยาบาล ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้เสียหาย แพทย์-พยาบาล และโรงพยาบาล นั่นเอง
อย่างไรก็ดี เชื่อว่า แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น แต่ไม่น่าจะสูงเท่ากับที่อดีตนายกแพทยสภา (นพ.อำนาจ กุสลานันท์) เคยเสนอให้จ่ายตามมาตรา 41 เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า
คำถามข้อที่สองต่อแพทยสภาคือ ที่แพทยสภาแถลงไว้ในตอนท้ายของข้อ 1 ที่ว่า ทั้งร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหาย และมาตรา 41 เหมือนกันที่ “มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขให้น้อยที่สุด” นั้น เป็นความพลั้งเผลอหรือจงใจให้ทุกฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อนเช่นนั้น เพราะความจริงหลักการส่วนนี้มีอยู่ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ แต่ไม่มีในมาตรา 41 ตรงกันข้าม ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีมาตรา 42 ให้ “ไล่เบี้ย” เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ ที่จงใจทำให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงด้วย ซึ่งน่ายินดีที่ตั้งแต่มีกฎหมายมาตรานี้ สปสช. ไม่เคย “ไล่เบี้ย” เอากับผู้ใดเลย แม้ สตง. จะตั้งข้อสังเกตให้ดำเนินการก็ตาม
อนึ่ง ข้อความตอนท้ายที่เขียน “ให้น้อยที่สุด” เป็นข้อความที่ผิด ที่ถูกต้องต้องเป็น “ให้เหลือน้อยที่สุด”
คำถามข้อที่สามก็คือ การที่คำแถลงของแพทยสภาอธิบายแต่ข้อที่เหมือนกันของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ กับ มาตรา 41 เป็นการจงใจไม่ชี้ให้เห็นความแตกต่างที่สำคัญ ที่ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ มีข้อดีกว่ามาตรา 41 ใช่หรือไม่ ?
ข้อดีกว่าของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ซึ่งเป็นสาระสำคัญอย่างมากและไม่ปรากฏใน มาตรา 41 คือ ร่างมาตรา 28 ที่บัญญัติให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการที่จะ “ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด...... หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้” ในกรณีผู้ให้บริการสาธารณสุขถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาท และศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด สาระสำคัญของร่างฯ มาตรา 28 นี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ “ผู้ให้บริการสาธาณสุข” โดยเฉพาะแพทย์ แพทยสภาละเว้นไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ได้อย่างไร
ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ และมาตรา 41 ยังมีข้อแตกต่างสำคัญอีก 2 ข้อ
ข้อแรก ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายสร้างกลไกให้สามารถครอบคลุมการคุ้มครองข้าราชการ และประกันสังคม โดยชัดเจน
การที่แพทยสภาอ้างว่า มีการแก้ไข พ.ร.บ. ประกันสังคม เปิดให้ใช้เงินกองทุนประกันสังคมจ่ายเป็นค่าเสียหายแก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการได้ ความจริงแม้จะมีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังอาจมีปัญหาหากประกันสังคมจะบริหารจัดการเรื่องนี้เอง ซึ่งจะทำให้เกิดการลักลั่น และกระทบต่อผู้ประกันตน เหมือนที่บริหารระบบบริการแยกกันกับ สปสช. ในเวลานี้ ซึ่งจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโดยใช่เหตุด้วย
ในส่วนของสวัสดิการข้าราชการ ก็จะประสบปัญหาเช่นเดียวกันหากใช้วิธีขยายมาตรา 41 ตามที่แพทยสภาเสนอ
ข้อสอง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ กล่าวถึงบริการภาคเอกชนไว้ชัดเจน ให้เป็นระบบสมัครใจ ซึ่งข้อนี้หลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้กรรมการแพทยสภาบางคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในโรงพยาบาลเอกชน คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. นี้ เพราะไม่ต้องการให้โรงพยาบาลเอกชนที่มิได้เข้าระบบต้องมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน แต่ต้องการให้โรงพยาบาลเอกชนเหล่านั้นได้รับอานิสงส์จากมาตรา 41 โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่าย
คำถามก็คือ เหตุใดแพทยสภาไม่กล่าวถึงประเด็นนี้เลย
คำถามสุดท้าย ที่แพทยสภาอ้างว่า การแถลงจุดยืนนี้ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 7 (6) ในฐานะที่แพทยสภา “เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย” คำถามก็คือ ปัญหาเรื่องนี้ แพทยสภามีระบบการประชาพิจารณ์ หรือรับฟังความคิดเห็นโดยให้ข้อมูล ทุกด้าน “โดยสุจริต” แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป ก่อนที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายในมาตราดังกล่าวหรือไม่
แพทยสภาได้สรุปอย่างอหังการว่า “การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอย่างถึงที่สุดของแพทยสภา เป็นการทำเพื่อประโยชน์ต่อคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ และประเทศชาติ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติจนไม่อาจเยียวยาได้ ดังโครงการหลายโครงการที่หลักการดี แต่เมื่อลงมือปฏิบัติ สร้างปัญหาที่ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้”
คำถาม ก็คือ แพทยสภาเคยผิดพลาดอย่างร้ายแรงกรณีคัดค้านมาตรา 41 จนต้อง “กลับลำ 180 องศา” มาแล้ว การอ้างอำนาจตามกฎหมาย และอ้างประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยสิ่งที่แถลงมีข้อเคลือบแคลงให้โต้แย้ง และตั้งคำถามได้มากมายเช่นนี้ แพทยสภากำลังเดินตามรอยของนักการเมืองในระบอบ “ประชาธิปไตยสามานย์” ซึ่งอ้าง “อำนาจ” สร้างความบอบช้ำให้ประเทศชาติมามากจนต้องเกิดการ “เว้นวรรค” ประชาธิปไตยเช่นในขณะนี้ ใช่หรือไม่
การละเว้นไม่กล่าวถึงประโยชน์จากมาตรา 28 ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกแขนง กรณีเกิดความผิดพลาดก็ดี การจงใจไม่กล่าวถึงการให้สถานพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโดยสมัครใจก็ดี การจงใจหรือพลั้งเผลอในการกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาระบบความปลอดภัยอย่างไม่ถูกต้องก็ดี ล้วนเป็นหลักฐานที่แพทยสภาไม่อาจตีขลุมอ้างได้เลยว่าการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่กำลังกระทำอยู่ในขณะนี้ “เป็นการทำเพื่อประโยชน์ต่อคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ และประเทศชาติ” อย่างที่อ้างไว้ได้เลย
- 49 views