ใครๆ ก็เขียนหนังสือว่าด้วยการสร้างสังคมเสมอหน้าทำได้อย่างไร ? หนังสือเล่มล่าสุดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่เจนีวา เรื่อง Labour Markets, Institutions and Inequality : Building Just Societies in the 21st Century, 2015 เสนอการวิเคราะห์และนโยบายสู่ความเสมอหน้าที่น่าสนใจมาก

บทที่ 1 เรื่อง นโยบายกระจายรายได้ โดย Malte Luebke พูดถึงแรงบันดาลใจของสังคมต่างๆ ที่ดำเนินนโยบายจนทำให้สังคมลดความเหลื่อมล้ำลงได้ มีข้อสรุปว่า ความเสมอภาคเป็นผลของการตัดสินใจทางการเมือง นั่นคือ สังคมไม่จำเป็นต้องเหลื่อมล้ำ เพราะกระแสของตลาด หลายสังคมทวนกระแสได้โดยเลือกที่จะสร้างความเสมอภาคด้วยนโยบายต่างๆ และปรับสถาบันให้เหมาะสม

เขาเจาะไปที่นโยบายภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ (ผ่านงบประมาณประจำปี) ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 ใน 25 ประเทศ ทั้งจากยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออก เขาพบว่าทุกประเทศมีนโยบายกระจายรายได้ แต่มากน้อยแตกต่างกันไป ประเทศแถบยุโรปเหนือ ได้แก่ เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์ เยอรมนี โปแลนด์ และสวีเดน สามารถลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ดูจากค่าจีนีของรายได้หลังจ่ายภาษีและรับเงินโอน (tax and transfer) ที่ลดลงได้ถึง 0.20 หรือมากกว่านั้น เช่น ค่าจีนีของรายได้ก่อนภาษีและเงินโอนอาจจะสูงถึง 0.50 แต่พอเสียภาษีและรับเงินโอนผ่านสวัสดิการสังคมต่างๆ แล้วค่าจีนีลดลงเหลือ 0.30 หรือต่ำกว่านั้น เพราะว่านโยบายภาษีและเงินโอนถูกออกแบบให้ลดความเหลื่อมล้ำลง

ตัวอย่างเช่น เบลเยียม มีค่าจีนีของรายได้ก่อนภาษีและเงินโอนที่ใกล้ 0.50 แต่หลังจากเสียภาษีและรับเงินโอนผ่านระบบสวัสดิการและการประกันสังคมต่างๆ ที่รัฐจัดให้แล้ว ค่าจีนีของรายได้ลดลงเหลือเพียง 0.25 หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งแสดงระดับความเสมอภาคที่สูงมากประเทศหนึ่งในโลก

สหรัฐอเมริกา มีค่าจีนีของรายได้ก่อนภาษีและสวัสดิการสังคมพอๆ กับเบลเยียมที่ 0.481 แต่สหรัฐอเมริกามีนโยบายกระจายรายได้ไม่แข็งขันเท่า หลังจ่ายภาษีและรับสวัสดิการสังคมแล้ว ค่าจีนีของสหรัฐลดลงน้อยกว่าและก็ยังสูงอยู่ที่ 0.43 ทั้งนี้ เพราะนโยบายภาษีและเงินโอนของสหรัฐ มีเป้าประสงค์เพื่อการกระจายรายได้น้อยกว่าที่เบลเยียมมากนั่นเอง ทำให้สหรัฐเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าบางประเทศ เช่น เยอรมนี (ค่าจีนี 0.32) ฝรั่งเศส (0.31)

ที่ ละตินอเมริกา เช่นที่บราซิล โคลอมเบีย และกัวเตมาลา ทุกแห่งมีค่าจีนีสูงก่อนนโยบายภาษีและเงินโอน คือมากกว่า 0.50 แต่ทุกแห่งนโยบายภาษีและเงินโอนลดค่าจีนีลงเพียงเล็กน้อย และบางแห่งกลับเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ที่โคลอมเบียความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนฐานะดี ได้รับเงินโอนหรือได้ประโยชน์จากการใช้งบประมาณภาครัฐมากกว่ากลุ่มรายได้ที่ต่ำกว่าและพวกคนรวยจ่ายภาษีน้อยมากหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายได้นั่นเอง

สำหรับแถบประเทศละตินอเมริกานั้น ระบบภาษีแตกต่างจากที่ยุโรปเหนือมาก ตรงที่อิงภาษีจากการบริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าภาษีรายได้ หรือภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า (ไม่ต่างจากไทย) และระบบสวัสดิการสังคมให้ผู้ได้ประโยชน์เป็นผู้จ่ายเองเป็นหลัก ทำให้ระบบภาษีเป็นแบบถดถอย คือคนรวยจ่ายน้อยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ แต่คนจนจ่ายมากเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์รายได้ของเขา

ที่เอเชียตะวันออก เช่น เกาหลี ไต้หวัน น่าสนใจมาก เพราะค่าจีนีของรายได้ก่อนภาษีและเงินโอน เริ่มต้นก็ต่ำแล้วคืออยู่ที่ประมาณ 0.33 และหลังภาษีและเงินโอนก็ลดลงไปอีกที่ 0.31-0.32 ทั้งนี้ เพราะทั้งสองประเทศเคยมีการปฏิรูปที่ดินมาก่อนที่จะเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านสินทรัพย์โดยเฉพาะที่ดินต่ำมากและเป็นเหตุให้ไม่ต้องดำเนินนโยบายกระจายรายได้มากนัก

ในเมืองไทยความเหลื่อมล้ำของรายได้ก่อนเสียภาษีและรับเงินโอนจัดว่าสูงคือระหว่าง 0.48-มากกว่า 0.50 เมื่อเทียบกับหลังเสียภาษีรับเงินโอน จะไม่ต่างจากกันมากนัก แถมมีข้อมูลจากบางแหล่งบอกว่าบางปีรายได้หลังภาษีและเงินโอนมีค่าจีนีสูงกว่าก่อนเสียภาษีและรับเงินโอนเสียอีก  ถ้าจริงก็ไม่ค่อยน่าแปลกใจ เพราะเรามีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินสูงมาก (ผาสุก บรรณาธิการ สู่สังคมไทยเสมอหน้า  2557) เพราะระบบภาษีของเราเป็นภาระกับคนรายได้น้อยมากกว่าคนรวย เพราะเราพึ่งภาษีทางอ้อมเป็นหลัก และการใช้จ่ายจากงบประมาณให้ประโยชน์กับคนรวยมากกว่าคนรายได้น้อย เช่น ทีดีอาร์ไอ พบว่า "กลุ่มมีฐานะดีได้รับประโยชน์จากรายจ่ายรัฐด้านการศึกษามากกว่ากลุ่มอื่น สาเหตุหลักเกิดจากการที่รัฐให้การอุดหนุนจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในสัดส่วนที่สูงมาก" นอกจากนั้นพบว่ารายจ่ายด้านการก่อสร้างถนนและการขนส่งมวลชน "กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การที่รัฐเน้นการลงทุนด้านถนนมากกว่าการขนส่งมวลชน ทำให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับกลุ่มผู้มีรายได้สูงในทุกภูมิภาค" (TDRI,2558)

ลองนึกดูแล้วกันว่าคนที่มีที่ดินในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในภูมิภาคที่ใกล้โครงการสร้างถนนและสาธารณูปโภค จะได้ประโยชน์จากมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพียงใดในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมานี่ กระทรวงการคลังผลักดันนโยบายภาษีมรดกและภาษีที่ดินในขณะนี้ เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มที่จะจัดสร้างสินค้า สาธารณูปโภคและบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคนอย่างเสมอหน้า เป็นการทำถูกทิศทางแล้ว เพราะจะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลงและจะยังเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนชั้นกลางรายได้ดีขึ้นจะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เป็นไปอย่างคึกคักมากขึ้น การก่อสร้างจะเฟื่องฟูขึ้นและหมายความว่าตลาดสำหรับสินค้าต่างๆ จะ ขยายตัว

รออยู่แต่เพียงให้รัฐบาลใจกล้าดำเนินนโยบายเหล่านี้อย่างจริงจังเท่านั้น

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 17 เม.ย. 2558