สภาพบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปกำลังกระทบต่อนโยบาย "30 บาทรักษาทุกโรค" ซึ่งเป็นนโยบายสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงแม้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง แต่อีกนัยหนึ่งก็ถูกยกขึ้นเป็นตัวอย่างของนโยบายประชานิยมเช่นกัน
ดร.โบคยองเซียว นักวิชาการแลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพและการเมือง กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในปี 2001
ตามข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) การใช้นโยบายดังกล่าวทำให้ประชาชน คนไทยผู้ที่ไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพราว 30% มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล และในปี 2014 ชาวไทย 99% มีหลักประกันสุขภาพคุ้มครอง
ชัดเจนว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยให้คนจนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งส่งผลให้อัตราการตายในทารกและเด็ก ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าถึงการรักษามากขึ้น เช่น เคมีบำบัด การผ่าตัดหัวใจ และการรักษาโรคไต
อย่างไรก็ตาม นโยบาย 30 บาทรักษา ทุกโรค กลับถูกใช้เป็นนโยบายประชานิยมเพื่อเรียกคะแนนจากคนในชนบท และชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นด้วยเช่นกัน
การก้าวขึ้นสู่อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2001-2015 ไทยเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว 9 ครั้ง และมีการทำรัฐประหารอีก 2 ครั้ง จากการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ กับกลุ่มผู้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ความเห็นเกี่ยวกับการคงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แบ่งออกเป็นสองข้าง ทั้งการเป็นนโยบายในอุดมคติสำหรับผู้ยากไร้ แต่ก็เป็นนโยบายส่งเสริมประชานิยมในขณะเดียวกัน
ต่อมาภายหลังการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ พ.ค. ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยพยายามอย่างยิ่งที่จะขัดขวางนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจไทย ในระหว่างนั้นก็พยายามสร้างแม่พิมพ์สำหรับประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลให้อนาคตของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคไม่มีความแน่นอน
ทั้งนี้ ในช่วงต้นของการบริหารประเทศโดย คสช. มีแนวโน้มสูงที่จะปฏิรูปนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ให้สัดส่วนที่คนไข้ต้องจ่ายสูงขึ้น แต่ในเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศแล้วว่าจะไม่มีการยกเลิกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ผู้มีรายได้สูงควรออกจากโครงการดังกล่าว เพื่อรัฐบาลจะได้มีทุนมากขึ้นสำหรับรักษาคนจน
ดร.โบคยองเซียว แสดงความเห็น ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค จะเป็นประชานิยมที่อันตราย ไม่มีเสถียรภาพและสิ้นเปลือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของคนไทยทั้งประเทศได้ คนไทยทุกคนควรมีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยไม่แบ่งแยกฐานะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17 เมษายน 2558
- 46 views