นสพ.เดลินิวส์ : บอร์ดประกันสังคมเสนอ รมว.แรงงาน แต่งตั้งอนุกรรมการการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทน ประกันสังคมชุดใหม่ แทน นพ.สมเกียรติ อดีตปลัดแรงงาน ที่เป็นประธานชุดเดิมแม้ยังไม่หมดวาระ เหตุบอร์ด สปส.กังวลอนุกรรมการฯ ชุดเดิม มีบางคนเป็นเจ้าของ รพ.เอกชน เจ้าของโรงงานผลิตยา หวั่นมีผลประโยชน์ทับซ้อน
นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผย ว่า เร็ว ๆ นี้ได้เสนอ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว. แรงงาน พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ (บอร์ด) การแพทย์ของกองทุนเงินทดแทนชุดใหม่ โดยมี นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯชุดใหม่ครั้งนี้เพื่อเป็นหนึ่งในนโยบายการปฏิรูประบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนตามนโยบายของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจน รัตน์ รมว.แรงงาน ที่ต้องการให้ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และไม่มีเรื่องของผลประโยชน์
"จริงๆ แล้วจะตั้งคณะอนุกรรมการการแพทย์ ของกองทุนเงินทดแทนชุดใหม่ตั้งแต่ 5 เดือนที่แล้ว แต่ไม่สามารถทำได้เพราะหลายคนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่ไปติดต่อทาบทาม ไม่สะดวกที่จะเข้ามารับหน้าที่ กระทั่งติดต่อ นพ.ชาตรี ได้ยอมเข้ามาช่วยรับหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และคนที่ติดต่อยอมเข้ามาเป็นอนุกรรมการก็ลงตัวในที่สุด" ประธานบอร์ดสปส.กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทนชุดใหม่แทนคณะอนุกรรมการฯชุดเดิม ที่มี นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ อดีตปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานฯ ทั้งที่ยังไม่หมดวาระการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าอนุกรรมการบางคนเป็นเจ้าของโรงพยาบาล และบางคนเป็นเจ้าของโรงงานผลิตยา ทำให้บอร์ด สปส.กังวลว่าอาจจะทำให้มีปัญหาประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
นายนคร ยังกล่าวถึงกรณีที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ออกไปอีก 3 เดือน หลังครบกำหนดในวันที่ 31 มี.ค.ที่ ผ่านมา แต่ปรากฏว่ายังมีการปราบปรามจับกุมแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง ว่า ในการประชุมอนุกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (อกนร.) ที่มี พล.อ.สุรศักดิ์ รมว.แรงงาน เป็นประธานนั้น ได้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในการผ่อนผันการจับกุมปราบปรามแรงงานต่างด้าวออกไปตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้หลบซ่อนอยู่ใต้ดินจนไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้ง รมว.แรงงาน ยังพูดชัดเจนในที่ประชุม อกนร. หากมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือเรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าวโดยมิชอบ จะมีโทษถึงขั้นไล่ออกจากราชการ และดำเนินคดีอาญาอย่างเต็มที่.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 เมษายน 2558
- 6 views