13 เมษายนของทุกปี นอกจากเป็น"วันสงกรานต์" แล้ว ยังถือเป็น "วันผู้สูงอายุ" ที่ลูกหลานทุกคนควรให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงวัยที่บ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าใส่ใจกันเฉพาะวันนี้วันเดียว เพราะการดูแลผู้เฒ่าผู้แก่เป็นสิ่งที่ลูกหลานพึงกระทำตลอดชั่วอายุของท่าน รวมไปถึงภาครัฐก็ต้องให้ความสนใจ มีการจัดระบบบริการสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนกลุ่มนี้ด้วย
 
ที่ผ่านมา ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ได้ชูนโยบายทีมหมอครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย สหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทำหน้าที่เชิงรุกในการดูแลสุขภาพคนในชุมชนทุกครัวเรือน อีกหน้าที่ที่สำคัญของทีมหมอครอบครัว คือ การดูแลผู้สูงอายุที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคนทั่วประเทศ โดยในกลุ่มนี้มีประมาณ 800,000 คน ที่เป็นผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ เป็น กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ในภาวะพึ่งพิงตั้งแต่ปานกลางไปจนถึงมาก โดยทีมหมอครอบครัวจะลงพื้นที่เพื่อติดตามอาการ และดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น
 
แต่การจะดูแลคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีทีมเฉพาะ ที่ทำงานในระดับพื้นที่ เพราะการดูแลคนเฒ่าคนแก่ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ไม่ใช่แค่การดูแลสุขภาพ แต่ยังรวมทั้งเรื่องสังคม
 
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในทศวรรษใหม่ ว่า เดิมทีการดูแลผู้สูงอายุยังไม่เป็นระบบเพียงพอ ล่าสุด สธ.ร่วมกับ สปสช.และสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันในการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุสู่สุขภาพดีทั้งกายและใจ โดยจากการประเมินจำนวนผู้สูงอายุ 10 ล้านคน อยู่ในภาวะพึ่งพิงอีกประมาณ 800,000 คน จำเป็นต้องได้รับการบริการสาธารณสุขและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะมีค่าใช้จ่ายรายหัวละ 20,000 บาทต่อประชากรผู้สูงวัย ซึ่งคิดเป็นงบประมาณทั้งหมดอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท โดยจะมาจาก 2 ส่วน คือ งบจากรัฐบาล และงบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเทศบาลต่างๆ โดยมี 3 กลยุทธ์ คือ 1.จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ขึ้นทุกตำบล จำนวน 8,000 แห่งทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี โดยศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่วางแผน กำหนดแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งเป็นสถานที่ฝึกอบรมอาสาสมัครในการดูแลผู้สูงวัย หรือที่เรียกว่า Caregiver ตั้งเป้าประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ 2.กลยุทธ์การฝึกอบรมและการว่าจ้างกำลังคน โดยจะมีผู้จัดการศูนย์ในการดูแล และ 3.กลยุทธ์ในการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการเป็นพี่เลี้ยงเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
"การดำเนินการดังกล่าวต้องค่อยเป็นค่อยไป เบื้องต้นในปีงบประมาณ 2559 จะใช้งบ 600 ล้านบาท และงบจาก อปท.อีก 500 ล้านบาท มาใช้ในการบริหารจัดการก่อน โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปี 2558-2559 นับจากนี้ คือ อปท.ทุกแห่งจะทยอยมีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุขึ้น ซึ่งอาจจะต่อขยายจากศูนย์เด็กเล็กเดิม หรืออาจพัฒนาขึ้นที่ รพ.สต. หรือภายในบริเวณวัดของตำบลนั้นๆ ขณะเดียวกัน จะมีการพัฒนาการบริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งเชิงรุกสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะป่วยต้องติดบ้านติดเตียง และการดูแลเชิงรับที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพ ชีวิตฯ โดยจะจัดกิจกรรม ให้คำปรึกษาการส่งเสริมสุขภาพที่ดี การดูแลผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะมีกิจกรรมออกกำลังกาย ทั้งหมดก็เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรม ไม่เหงา ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และเป็นการทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และหลังจากนั้นในปีต่อๆ มา ก็จะมีการพัฒนายิ่งขึ้น จนครบภายใน 5 ปี ก็จะเกิดระบบสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุอย่างครบวงจร" นพ.ประทีปกล่าวเมื่อถามทางฟากของผู้ปฏิบัติงาน อย่าง นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี บอกว่า แม้ที่ผ่านมาในเรื่องหมอครอบครัวมีการดำเนินการมาก่อนแล้ว แต่ไม่เป็นระบบ และไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ พื้นที่ไหนพร้อมก็ทำกัน แต่นโยบายครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยเรื้อรังที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ เนื่องจากภายหลังจากที่รับการรักษาจนอาการดีขึ้นและออกไปพักฟื้นที่บ้าน มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลับเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใหม่ และวนอยู่อย่างนี้ ส่วนใหญ่มาจากแผลกดทับและภาวะโรคที่ลุกลาม นั่นเพราะขาดการดูแลอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคนในครอบครัวขาดความรู้ในการดูแลผู้ป่วย ดังนั้น เมื่อมีการจัดทีมหมอครอบครัวขึ้น นอกจากจะมีการทำงานเชิงรุกลงพื้นที่แต่ละครัวเรือนแล้ว ยังให้ความรู้ความเข้าใจกับญาติในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งยังมี อสม.คอยดูแล
 
"สำหรับ รพ.แก่งคอย ได้ร่วมกันทำงานกับ รพ.สต.และ อสม.ในการจัดตั้งทีมเยี่ยมบ้านขึ้น ช่วงแรกเป็นการติดตามผู้ป่วยรายบุคคล และค่อยขยายจำนวนผู้ป่วยที่ต้องติดตามดูแลออกไป แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก จึงดึงจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ทั้งจากผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วย รวมทั้งญาติ เนื่องจากทุกคนก็ล้วนเป็นคนในพื้นที่ การทำงานก็เปรียบดุจญาติ เต็มใจช่วยเหลือ โดยมีการให้เบอร์ติดต่อของทีมหมอครอบครัวขึ้น หากจำเป็นก็สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันที ซึ่งผู้ปฏิบัติงานไม่คิดว่าเป็นการรบกวน เพราะทราบดีว่าผู้ป่วยและญาติ หากไม่ลำบากหรือเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากรบกวนทั้งนั้น" นพ.ประสิทธิ์ชัยกล่าว
 
ทั้งนี้ นพ.ประสิทธิ์ชัยยังบอกว่า การผลักดันทีมหมอครอบครัวเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะถือเป็นการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อผู้สูงวัยทศวรรษใหม่ เพราะขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยพบถึงร้อยละ 15 ของประชากร จึงต้องมีกลไกการดูแลที่ดี เพราะผู้สูงอายุเหล่านี้มักจะมีภาวะเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม ทั้งทางกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม พวกเราไม่ควรละเลย
 
ไม่ว่านโยบายนี้จะทำมาก่อนหรือไม่ แต่ขอให้นับจากนี้ทำให้ดี ให้เห็นเป็นรูปธรรมเป็นพอ
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 11 เมษายน 2558