สสจ.นครพนม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (EVD Exercise) รองผู้ว่าฯ นครพนม เผยแม้ไทยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่ยังมีความเสี่ยง จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐ ภาคสาธารณสุขและไม่ได้อยู่ในภาคสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อทดสอบการประสานงาน และการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผน ด้านนพ.สสจ.นครพนม แจงรูปแบบการประชุม ประกอบด้วยการบรรยาย การฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ Table-top Exercise การฝึกปฏิบัติการเฉพาะด้าน Drill Exercise การฝึกปฏิบัติสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย PPE ผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อม

นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (EVD Exercise) กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่พบการระบาดในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยมีมาของโรคนี้ และเป็นความเสี่ยงด้านสาธารณสุขต่อทุกประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่เริ่มการระบาดในเดือนมีนาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern ; PHEIC) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อหยุดยั้งการระบาดในทวีปแอฟริกา และลดความเสี่ยงของการแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นของโลก

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงของประชาชนชาวไทยในกลุ่มผู้เดินทางไปยังพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคดังกล่าว ตลอดจนผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่พบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งหากพบการระบาดของโรคนี้เป็นวงกว้างในประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจ และสังคมในภาพรวม จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ ทั้งภาคสาธารณสุข และที่ไม่ได้อยู่ในภาคสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทดสอบการประสานงาน และการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผน แนวทางตลอดจนกกหมายที่เกี่ยวข้อง ในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีพบผู้ต้องสงสัย และผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

 

นพ.ประภาส วีรพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ตามที่มีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นวงกว้างใน 3 ประเทศ คือ สาธารณรัฐกินี สาธารณรัฐไลบีเรีย และสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 และประเทศที่มีการระบาดในพื้นที่จำกัด 5 ประเทศ คือ สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย สาธารณรัฐเซเนกัล สหรัฐอเมริกา ราชอาณาจักรสเปน และสาธารณรัฐมาลี โดยเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลาที่มีความรุนแรงสูง อัตราตายประมาณร้อยละ 50 – 90

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ปัจจุบันพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 4 ราย แต่จากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการสรุปว่าผู้ป่วยทุกรายไม่ใช่ผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ พบว่าการระบาดในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และเป็นความเสี่ยงด้านสาธารณสุขต่อทุกประเทศทั่วโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม  จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินแบบบูรณา การกรณีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (EVD Exercise) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ ทั้งภาคสาธารณสุข (health) และที่ไม่ได้อยู่ในภาคสาธารณสุข (non-health) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศ

ความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย พบว่านักท่องเที่ยวจากประเทศในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคดังกล่าว เดินทางเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวในประเทศไทย ตลอดจนแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศที่พบการระบาด หากเกิดการติดเชื้อและกลับเข้ามาแพร่เชื้อ และเกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศ จะส่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคดังกล่าวในหลายๆ ด้าน เช่น ผลกระทบทางสุขภาพ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคม และความมั่นคง                

จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดน จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เพื่อป้องกันและบรรเทาความสูญเสียให้ได้มากที่สุด  สำหรับรูปแบบการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยการบรรยาย การฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ Table-top Exercise การฝึกปฏิบัติการเฉพาะด้าน Drill Exercise การฝึกปฏิบัติสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย PPE ผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อม ประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ สำนักงาน ปภ.จังหวัด ที่ทำการปกครองจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด หน่วยทหาร ตำรวจภูธรจังหวัด โรงพยาบาลนครพนม ประชาสัมพันธ์จังหวัด ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนทั้งสิ้น 200 คน 

อนึ่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (EVD Exercise) ในวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2558 ณ ห้องประชุมศรีโคตรบูรณ์ โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม