โรคซาร์ส ที่ถูกขนานนามว่าเป็นโรคไข้หวัดอภิมหาภัยของโลก กระทั่งองค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศเตือนให้ทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายจากโรคซาร์ส เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 ตามมาด้วยประกาศแจ้งเตือนของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ ซึ่งเวลานั้น โรคได้แพร่กระจายไปถึง นครโตรอนโต ออตตาวา ซานฟรานซิสโก อูลัน บาตอ มะนิลา สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮานอย และฮ่องกง ในประเทศจีนเองซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโรคในเวลานั้นก็ปรากฏว่ามีโรคแพร่ออกไปจากกวางตุ้งถึง จิหลิน เฮอเป่ย ชานสี เทียนจิน และอินเนอร์มองโกเลีย

หากจะมาทำความรู้จักกับโรคอุบัติใหม่เช่นโรคซาร์ส ในหนังสือเรื่อง “ระบาดบันลือโลก เล่ม 4” ของศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ได้กล่าวถึงกำเนิดของโรคซาร์ส และช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดไว้อย่างน่าสนใจ...

ข่าวการระบาดของโรคซาร์สไม่ได้เริ่มที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศใด หรือองค์การอนามัยโลก แต่เริ่มที่

“แช็ทรูม” คืนหัวค่ำของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2546 แคเธอรีน สตรอมเม็น ครูสอนโรงเรียนประถมศึกษาในเมืองฟรีมอนท์ รัฐแคลิฟอร์เนีย นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในห้องครัวเพื่อเข้าแช็ทรูมของ “ทีเชอร์ เน็ท”(Teacher Net) ดังที่เคยปฏิบัติ คุยกันแก้เหงาแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับเพื่อนครูด้วยกัน มีชายผู้หนึ่งพลัดเข้ามาจากประเทศจีน ชายผู้นั้นใช้ชื่อว่า “เบ็น” แปลกตรงที่ไม่ได้แช็ทเรื่องเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ไม่เกี่ยวกับเรื่องอาหาร เรื่องวรรณคดี ไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมหรือการศึกษาแต่อย่างใด แต่กลับเป็นเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย

เบ็นเล่าว่าเขาอยู่ที่กวางตุ้ง ไม่ทราบว่ามีโรคประหลาดอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเขา มีผู้คนมากหน้าหลายตาอยู่ดีๆ ก็เป็นคล้ายๆ ไข้หวัด อีกวันสองวันก็หายใจไม่ออกและเสียชีวิต เพื่อนของเบ็นคนหนึ่งทำงานในโรงพยาบาลและมารดาของเพื่อนคนนั้นก็พลอยเสียชีวิตเช่นเดียวกัน ใครเข้าไปในโรงพยาบาลไม่มีวันได้เดินกลับ เสียชีวิตนอนกลับในโลงแคบๆ เหมือนกันทั้งหมด เบ็นพยายามติดต่อถามจากนอกประเทศจีนว่ามีใครรู้เรื่องนี้บ้าง ใครบ้างที่พอจะช่วยเขาได้

เคธีพลอยตื่นเต้นประสมกับตระหนก และตระหนักว่าน่าจะมีอะไรผิดปกติ มีโรคร้ายระบาดกระมังหรือว่ามีผู้ก่อเหตุเกิดสงครามเชื้อโรคหรือเปล่า เธอพยายามติดต่อกับเพื่อนบ้านเก่าแก่ซึ่งเคยเป็นแพทย์ทหาร และนักวิทยาการระบาด แต่ติดต่ออย่างไรก็ไม่สำเร็จ จึงส่งข่าวต่อไปที่เว็บไซท์ “โปรเม็ด ProMed” เจ้าหน้าที่ของโปรเม็ดพบข่าวนี้เข้า พยายามค้นหาในอินเทอร์เน็ท มีแต่ความว่างเปล่าเลยมีความพยายามสืบค้นต่อ โดยออกข่าวในเว็บไซด์พาดหัวว่า “โรคปอดบวมในกวางตุ้ง ผู้ใดทราบข่าวบ้าง ขอความกระจ่างและรายละเอียดด้วย” ผลคือเงียบสนิท

หลังจากนั้นไม่นาน มีรายงานทางอินเทอร์เน็ทของ “โปรเม็ด” ในวันที่ 12 มีนาคม อ้างถึงจดหมายเหตุโรคระบาดประจำสัปดาห์ขององค์การอนามัยโลก (WHO Weekly Epidemiological Record) ว่ามีการระบาดของโรคปอดบวมดังกล่าวจากกวางตุ้ง ความว่าตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2545 เป็นต้นมา มีโรคปอดบวมนอกรูปแบบ (Atypical pneumonia) เกิดขึ้นปุบปับที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 มีผู้ป่วยรวม 305 ราย ตาย 5 ราย จากการตรวจศพพบสาเหตุว่าบางราย (2 ราย) เกิดจากเชื้อจุลชีพก่อโรคชนิดหนึ่งคือ คลามีเดีย นิวโมนิเอ (Chlamydia pneumoniae) แต่ทางการจีนยังคงสงบนิ่ง ไม่รายงานให้ผู้ใดทราบ จนกระทั่งโรคมันฟ้องเองมีคนเอาข่าวออกไปปูดโดยมิได้ตั้งใจปล่อย โรคจึงถูกเปิดเผยออกมากลายเป็นเรื่องใหญ่

ผู้ป่วยรายแรกเกิดขึ้นที่เมือง ชุนเด  โฟชาน มณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ผู้ป่วยรายแรกนี้เป็นชาวนา เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล First People’s Hospital of Foshan ผู้ป่วยเสียชีวิตไม่นานหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ก็ไม่มีการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของการตายที่แน่ชัด เจ้าหน้าที่ทางการของจีนนอกจากจะไม่ได้แจ้งข่าวนี้ให้แก่ผู้ใด ยังพยายามปิดข่าว จำกัดมิให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าว ข่าวการปรากฏของโรคอุบัติใหม่นี้กว่าจะได้รับการเปิดเผยก็ล่วงเข้าเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดมา ความล่าช้าครั้งนี้ทำให้ทางการของจีนได้รับคำตำหนิอย่างกว้างขวางจากประชาคมโลก จีนได้ออกมาขออภัยในความล่าช้านี้ในภายหลัง

โรคไข้หวัดอภิมหาภัยนี้แพร่จากจีนไปยังฮ่องกง โดยน่าจะมาจาก ศ.นพ.หลิว เจียนหลุน แพทย์โรคไตจากมหาวิทยาลัยซงซาน ซึ่งเดินทางมาที่ฮ่องกง เข้าพักที่โรงแรม เมโทรโปล ย่านม่งก๊ก ฝั่งเกาลูน กระทั่งเสียชีวิตลงด้วยโรคนี้ที่ฮ่องกง แขกของโรงแรมที่พักชั้นเดียวกัน ติดโรคไป 16 คน และยังสามารถแพร่ต่อไปได้ร่วมพันคน

คำว่า โรคซาร์ส หรือในภาษาอังกฤษว่า SARS ซึ่งย่อมาจากคำว่า Severe Acute Respiratory Syndrome หรือภาษาไทยถ้าจะแปลกันตรงตัวก็น่าจะแปลว่า “กลุ่มอาการโรคระบบหายใจเฉียบพลันอย่างรุนแรง” เป็นคำที่เพิ่งมีการบัญญัติขึ้นมาใหม่ คำนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากการที่มีรายงานผู้ป่วยรายแรกที่ป่วยด้วยโรคนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2546 เป็นรายแรกจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เป็นนักธุรกิจชายชื่อ นายจอห์นนี เฉิน ซึ่งเดินทางมาจากสหรัฐฯ มาทำธุรกิจที่กวางตุ้ง และเดินทางต่อไปฮานอยโดยผ่านฮ่องกง แวะพักที่โรงแรมเมโทรโปล แล้วจึงเดินทางไปดำเนินธุรกิจที่เวียดนามต่อไป จอห์นนีเริ่มมีอาการป่วยคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เมื่อไปถึงฮานอยจึงไปขอรับการรักษาที่โรงพยาบาลฮานอยเฟร็นช์ ฮอสปิตอล ในกรุงฮานอยที่ชาวตะวันตกไว้ใจนิยมไปขอรับการรักษา ชั่วเวลาข้ามวันอาการของจอห์นนีทรุดหนักลง หายใจติดขัด ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สุดท้ายได้รับการส่งตัวไปรักษาที่ฮ่องกงและจบชีวิตที่นั่น ชื่อโรคกำเนิดที่จุดนี้เอง ก่อนไปสิ้นชีวิตที่ฮ่องกง จอห์นนี ได้แจกจ่ายเชื้อโรคซาร์สไว้ที่โรงพยาบาลฮานอย เฟร็นช์ ฮอสปิตอล จำนวนหนึ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ที่นั่นเสียชีวิตด้วยโรคซาร์ส 22  คนเป็นอย่างน้อย ก่อนที่ทั้ง 22 รายจะสิ้นใจ ก็แพร่โรคไปในชุมชนฮานอยอีกอย่างกว้างขวาง

เชื้อจุลชีพก่อโรคที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดมรณะคือ เชื้อ Corona virus สามารถแยกเชื้อจากเนื้อเยื่อของผู้ป่วยหลายคน และยังสามารถเพาะเชื้อได้จากจมูกและคอ และเมื่อทดสอบระบบภูมิคุ้มกันก็พบหลักฐานยืนยันว่าการตรวจทางอณูชีววิทยาก็พบว่ามีลักษณะเหมือน Corona virus สายพันธุ์ดั้งเดิม แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่อีกต่างหาก จึงเรียกว่า SARS Coronavirus หรือ Scorona virus

โรคซาร์ส มีระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ได้รับเชื้อโรคจนกระทั่งเกิดอาการของโรคโดยประมาณใช้เวลา 2-7 วัน แต่มีบางรายงานพบว่าอาจจะใช้เวลา 10 วัน สำหรับประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขให้ระยะเวลา 14 วัน ในการสังเกตอาการว่าจะเป็นโรคหรือไม่ โดยเริ่มเกิดอาการไข้ก่อน มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ไข้มักจะเกิดเฉียบพลัน ไข้สูงมาก อาจสูงกว่า 38 องศา ปวดศีรษะ รู้สึกไม่สบาย อ่อนเพลีย ปวดเนื้อปวดตัว อาจมีอาการปวดท้อง ท้องเสียหลังจากมีอาการ 2-7 วัน ประมาณร้อยละ 10-20 จะมีอาการท้องเดิน ผู้ป่วยจะมีอาการไอแห้งๆ เจ็บหน้าอก หายใจตื้น หรือหายใจหอบ หายใจติดขัด ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าโรคได้ดำเนินในทางที่หนักลง มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10-20 ที่อาการเป็นมากจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มีอัตราการตายร้อยละ 6-15 และมักลงเอยด้วยปอดบวมแล้วเสียชีวิต อาจจะมีอาการน้อยเมื่อเริ่มเป็นโรคแต่จะเห็นได้ว่าอาการที่ปรากฏไม่แตกต่างจากไข้หวัด

การแพร่กระจายของโรค ส่วนใหญ่แพร่โดยการที่มีการกระจายของน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยเมื่อเวลาจามหรือไอ เชื้อนี้จะอยู่ในอากาศ เมื่อเราสูดดม หายใจเข้าไปก็จะได้รับเชื้อนี้ และทำให้เกิดโรค แต่การแพร่กระจายของโรคอาจแพร่ด้วยวิธีอื่น เท่าที่มีหลักฐานพบว่าการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดมรณะผ่านทางน้ำลายหรือเสมหะที่เกิดจากการจามหรือไอมักจะติดคนใกล้ชิด เช่น ญาติพี่น้อง หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ สำหรับที่ฮ่องกงมีการระบาดเป็นกระจุก คือระบาดในอาคารเดียวกัน เนื่องจากพบว่าเชื้ออยู่ในอุจจาระ อาจจะระบาดจากระบบท่อระบายในห้องน้ำ กล่าวคือ ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดมรณะไปใช้ห้องสุขาของตึกนี้ด้วยอาการท้องร่วงมาก การแพร่กระจายของเชื้อ เนื่องจากตามระบบท่อระบายของส้วมมีปัญหา การระบายอากาศในห้องน้ำด้วยพัดลม การที่ท่อน้ำเสีย มีการรั่ว

ระยะเวลาแพร่เชื้อของโรคไข้หวัดมรณะ จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่เชื้อไข้หวัดมรณะจะแพร่เชื้อหลังจากผู้ป่วยเกิดอาการของโรค เช่น ไข้ ไอ หรือจาม และมีอาการผ่านไปแล้วประมาณ 5-7 วัน ต่างจากไข้หวัดใหญ่ซึ่งจะแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการและระยะที่เริ่มมีอาการเชื้อไข้หวัดมรณะจะแพร่ได้นานประมาณ 4-5 วัน ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย มีการใช้ของร่วมกัน เช่น ถ้วยแก้ว ผ้าเช็ดตัว หรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะอยู่ในรัศมี 1 เมตร รวมทั้งเจ้าหน้าที่บุคลากรทางแพทย์ที่ให้การดูแลผู้ป่วย จากข้อมูลในขณะนี้ยังไม่มีการระบาดแบบกระจายในชุมชน

สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดมรณะ จากข้อมูลล่าสุดในการรักษาไข้หวัดมรณะยังไม่มีแผนการรักษาที่ได้ผลดี การรักษาส่วนใหญ่รักษาแบบปอดบวมที่ไม่ทราบชนิดของเชื้อ ประกอบด้วยการรักษาแบบประคับประคอง บางคนให้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส เช่น oseltamivir หรือ ribavirin บางคนก็ให้ steroids แต่ผลของการรักษายังกำกวม

เก็บความและภาพจาก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ, ระบาดบันลือโลก เล่ม 4, 2552