ท่ามกลางความขัดแย้งของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นตัวระบบหรือบุคคลก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ประเด็นการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ ด้วยการปฏิรูประบบสุขภาพของไทยกลับถูกลืมเลือน อาจเพราะกระแสการเมืองหนักหน่วงกว่าก็เป็นได้
ล่าสุดกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง เครือข่ายนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพและการคุ้มครองบริโภค ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อคณะกรรมาธิการปฎิรูปสาธารณสุข ต่อประเด็นการนำเสนอรายงานเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นำโดย น.ส.ณัฐกานต์ กิจประสงค์ ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เป็นตัวแทนยื่นหนังสือขอให้มีการพิจารณารายงานใหม่ก่อนเสนอ สปช. เนื่องจากมองว่า การปฏิรูประบบสุขภาพไม่มีความชัดเจน
อย่างเรื่องการวิเคราะห์ปัญหาของการปฏิรูปการคลังด้านสุขภาพขาดความรอบด้านและหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น จากการที่คณะกรรมาธิการฯ ตั้งประเด็นว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเติบโตเร็วกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีนั้น คณะกรรมาธิการฯ มองข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไปเพิ่มขึ้นมากในส่วนใด เช่น การที่เงินเดือนบุคคลกรเพิ่มร้อยละ 10 ทุกปี หรืออาจไปกระจุกที่ค่ายารักษาโรค ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากใน 3 ระบบสุขภาพ รัฐจ่ายให้ระบบสวัสดิการข้าราชการ มากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึง 6 เท่า และจ่ายให้กับคนงานในระบบระบบประกันสังคมน้อยมากการเหมารวมเช่นนี้จะทำให้เกิดภาพปัญหาที่พร่าเลือนและเสนอแนวทางปฏิรูปที่ผิดทาง
ที่สำคัญทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยังเห็นว่าการเสนอ ให้จัดตั้ง National Health Policy Board (NHB) ไม่ตอบโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพที่เป็นโจทย์ใหญ่ของปัญหา, มีความซ้ำซ้อนกับกลไกที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่ภารกิจไม่ชัดเจน เพราะดูทั้งนโยบาย การเงิน และการบริการ หรือการเสนอให้สร้างกลไกในการกระจายค่าเหมาจ่ายรายหัวไปยังเขตสุขภาพโดยตรง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจะพบว่า ในเรื่องการจัดตั้ง NHB หรือ คณะกรรมการควบคุมนโยบายสุขภาพระดับชาติ เป็นข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งก่อนหน้านี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.ได้เคยเสนอไว้ เนื่องจากมองว่า ส่วนกลางต้องทำหน้าที่ในการกำหนด ดูแลนโยบายด้านสุขภาพภาพรวม สนับสนุนให้เกิดกลไกบูรณาการการกำกับทิศทางและให้คำแนะนำในการดำเนินงานระบบสุขภาพระดับชาติ ซึ่งไม่ใช่กลไกอำนาจสั่งการ แต่เป็นกลไกที่สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคีสำคัญในระบบสุขภาพ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ/วิชาชีพ ประชาสังคมและเอกชนที่จะติดตามระบบสุขภาพในภาพรวมให้เป็นไปในทิศทางร่วมกัน ไม่ใช่แค่องค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น
นิมิตร์ เทียนอุดม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “นิมิตร์ เทียนอุดม” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนประชาชน เห็นว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขชุดนี้ เกิดคำถามมากมาย เนื่องจากหากจะปฏิรูประบบสุขภาพ จะต้องมีข้อเสนอที่ชัดเจนกว่านี้ แต่จากการพิจารณารายงานดังกล่าวกลับไม่มีความชัดเจน อย่างการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดที่เรียกว่า NHB ไม่มีความชัดเจนเลย จริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีด้วยซ้ำไป ไม่ใช่เพราะซ้ำซ้อนหน่วยงานไหน แต่เพราะไม่มีรายละเอียด ภาระหน้าที่ต่างๆ ตนมองว่าการจะปฏิรูประบบสุขภาพ สิ่งสำคัญต้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ต้องตอบโจทย์ได้ และต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน ให้ประชาชนทุกสิทธิได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ
จึงมีคำถามว่าจะต้องเสนอให้มีการรวมสามกองทุนสุขภาพหรือไม่ นิมิตร์ กล่าวว่า ไม่ใช่รวม 3 กองทุน แต่เป็นการทำงานที่ต้องควบคุมให้สิทธิประโยชน์ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานต้องใกล้เคียงกัน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพขึ้น ซึ่งมี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนให้สิทธิสุขภาพของคนทั้งสามกองทุนเท่าเทียมที่สุด
“ขณะนี้กำลังเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.เพื่อรองรับตั้งองค์กรกลางมาบริหารงาน ภายใต้แนวคิดที่จะไม่มีการยุบรวมกองทุน แต่ประสานการทำงานทั้ง 3 กองทุนร่วมกัน เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของ 3 กองทุนสุขภาพให้เท่าเทียมกัน ส่วนเรื่องหน่วยงานกลางในการจัดทำธุรกรรมการเบิกจ่ายระดับชาติ (National clearing house) ซึ่งมีการร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ด้วยนั้น จะทำหน้าที่ดูแลการเบิกจ่ายเงินแต่ละกองทุน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวขึ้น โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างผลักดันเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้หลายคนอาจกังวลว่า จะแยกการทำงานระหว่างองค์กรกลาง และหน่วยงานกลางจัดทำธุรกรรม จริงๆ แล้วไม่ใช่ หน่วยงานธุรกรรมจะอยู่ในองค์กรกลาง เพราะสุดท้ายแล้วสององค์กรต้องทำงานร่วมกัน” นายนิมิตร์กล่าว
ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เห็นว่าหากพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำ ในฐานะประชาชน ผู้ป่วย และตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหาย มองว่าควรอย่างยิ่ง และหากมีองค์กรกลางขึ้นมาจริงๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนจะเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะดูเหมือนสิทธิรักษาพยาบาลทุกวันนี้ไม่มีอะไรเท่ากัน ยิ่งการรักษาบริการของโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน ยิ่งในโรงพยาบาลเอกชนยิ่งควบคุมยาก ตรงนี้อยากให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น หากจะมีการปฏิรูประบบสุขภาพ ก็ควรจะยึดเรื่องลดความเหลื่อมล้ำกองทุนต่างๆ เป็นสำคัญ
“ประเด็นลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ต้องพิจารณากันไป แต่ที่แน่ๆ ในเรื่องร่วมจ่าย ทางเราไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีการร่วมจ่าย จะมาผลักภาระให้ประชาชนคงไม่ได้ ที่สำคัญดูเหมือนนโยบายร่วมจ่ายจะเป็นแบบลักปิดลักเปิด เดี๋ยวมีเดี๋ยวไม่มี ขึ้นอยู่กับนโยบาย ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น” ปรียนันท์กล่าว
- 6 views