นสพ.คมชัดลึก : สรพ.หนุนกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย ชี้หลักการสากลต้องแยกการพิสูจน์ถูกผิดและการชดเชยออกจากการกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดแพทย์ หรือเหตุสุดวิสัยคนไข้ก็ควรได้รับการชดเชย ส่วนความเสียหายที่เป็นไปตามธรรมชาติของโรคจะไม่ได้รับการชดเชย
นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล
นสพ.คมชัดลึก : นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวถึงกรณีแพทยสภาคัดค้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่าการจ่ายเงินชดเชยโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะการจ่ายเงินชดเชยและการพิสูจน์ถูกผิดไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องกัน ซึ่งกฎหมายของต่างประเทศก็เป็นเช่นนี้ เช่น นิวซีแลนด์ และสวีเดน ที่ระบุว่าจะต้องสร้างกำแพงแยกกันชัดเจนใน 2 เรื่องนี้ เพราะผู้เสียหายเกิดความเสียหายขึ้นจริง อย่างไรก็ควรได้รับค่าชดเชย แต่หากนำการพิสูจน์ถูกผิดเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย จะเกิดการเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียหายว่าพิสูจน์แล้วผู้ให้บริการทำถูกต้อง ไม่ผิดจึงไม่จ่าย ทั้งที่ความเสียหายมันเกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งตรงนี้จะไม่ยุติธรรมต่อผู้ป่วยเพราะนั่นคือชีวิตของคนคนหนึ่ง
"ส่วนที่กังวลว่าจะเข้ามาขอรับเงินมากขึ้นนั้น กฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนว่าจะจ่ายค่าชดเชยในความเสียหายที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของโรค ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดแพทย์ หรือเหตุสุดวิสัยคนไข้ก็ควรได้รับการชดเชย ส่วนความเสียหายที่เป็นไปตามธรรมชาติของโรคจะไม่ได้รับการชดเชย เช่น ผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุเลือดออกในสมอง สมองบวมซึ่งตามธรรมชาติของโรคสมองจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนไข้อาการแย่ลงดังนั้นเมื่อก่อนมาถึงโรงพยาบาลผู้ป่วยอาการยังดีอยู่ แต่พอมาถึงโรงพยาบาลแล้วอาการเกิดแย่งลงอย่างรวดเร็วจากภาวะสมองบวมขึ้นอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิตนั้น ญาติจะมาร้องว่าโรงพยาบาลดูแลไม่ดี ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นไม่ได้เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ ของโรค เป็นต้น ส่วนการพิสูจน์ถูกผิดนั้นต้องมี แต่ควรแยกเป็นอีกระบบที่ไม่เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชย เพื่อให้ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จะได้เป็นบทเรียนต่อไป แต่หากเอาไปผูกกับการจ่ายเงินชดเชยจะเกิดอคติว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย และจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ยอมพูดความจริง" ผอ.สรพ.กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 16 มีนาคม 2558
- 7 views