นักวิชาการเสนอ สปช.เก็บภาษีสุราแบบผสม ทั้งตามปริมาณและมูลค่าที่คิดจากราคาขายปลีก พร้อมปรับเพดานภาษีสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ชี้ช่วยลดผลกระทบการบริโภค ให้ความเป็นธรรมผู้ผลิต ลดการเลี่ยงภาษี
นายนพพล วิทย์วรพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการปฏิรูประบบภาษีอากรของประเทศไทย ศวส.ในฐานะองค์กรวิชาการด้านแอลกอฮอล์เพื่อลดปัญหาผลกระทบปัญหาที่เกิดจากสุราจึงได้ทำหนังสือส่งถึงประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง ข้อเสนอการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตสุรา
โดยจากการวิจัยพบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม โดยในปี 2549 พบว่า เกิดผลกระทบทางสังคมเป็นมูลค่าถึง 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าการใช้เครื่องมือทางด้านภาษี ปรับเพิ่มราคาสินค้าให้สูงขึ้น จะทำให้การบริโภคลดลง ถือเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุดในการควบคุมการบริโภคดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบ
นายนพพล กล่าวว่า แม้ว่าการใช้เครื่องมือทางภาษีจะส่งผลดีต่อการควบคุมการบริโภค แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ขัดขวางการแข่งขันของผู้ผลิต ศวส.จึงจัดทำข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบภาษีสรรพสามิตสุรา ดังนี้ 1.สนับสนุนการจัดเก็บภาษีระบบหนึ่งบวกหนึ่งคือ เก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์และตามมูลค่า และควรให้มูลค่าของภาษีที่จัดเก็บมีทิศทางการเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ หรือตามสภาพ มากกว่าการจัดเก็บภาษีตามมูลค่า หรือราคาสินค้า การจัดเก็บภาษีสองระบบมีข้อดีและด้อยต่างกัน โดยการเก็บตามปริมาณจะสอดคล้องกับการส่งเสริมสุขภาพจะลดผลกระทบทางสังคมได้ แต่ก็มีความด้อยที่ค่าภาษีจะลดลงตามภาวะเงินเฟ้อ ถือเป็นภาษีลักษณะถดถอย จึงต้องใช้ระบบการเก็บภาษีตามมูลค่าของสินค้ามาคำนวณด้วย เพื่อไม่ให้สินค้าราคาแพง จ่ายภาษีเท่ากับสินค้าราคาถูก แต่ที่ไม่ใช้การเก็บภาษีตามมูลค่าอย่างเดียว เพราะจะไม่สามารถลดผลกระทบจากการดื่มได้ ผู้บริโภคยังดื่มเครื่องดื่มดีกรีสูงเช่นเดิม
2.สนับสนุนให้มีการกำหนดเพดานภาษีในระดับสูงและมีความเท่าเทียมกัน เนื่องจากอัตราภาษีที่จัดเก็บจริงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภทจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าเพดานภาษีมาก ที่ผ่านมาการปรับเพดานภาษี มีการปรับน้อยครั้ง จึงต้องเพิ่มเพดานภาษีพร้อมกับปรับอัตราภาษีให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งกำหนดให้มีการปรับอัตราภาษี 1 - 2 ปีต่อครั้ง โดยอัตราภาษีที่จัดเก็บแต่ละประเภท ควรอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน?เพื่อสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ และข้อเสนอ 3.สนับสนุนให้มีการใช้ราคาขายปลีกเป็นฐาน ในการคำนวณอัตราการจัดเก็บภาษีตามมูลค่า เพราะทำให้เกิดความชัดเจนในการจัดเก็บภาษี และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี ที่อาจใช้กลยุทธ์ในการกำหนดราคาขายให้ต่ำ ?อีกทั้ง กรมสรรพสามิตควรมีราคาขั้นต่ำของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละประเภทเพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษี และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ราคาขั้นต่ำควรถูกกำหนดโดยคณะกรรมการที่มีตัวแทนของผู้บริโภคเข้าร่วม
- 75 views