นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม DDC Forum เรื่อง "อันตรายจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส" ว่า ในช่วงฤดูหนาวประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างนิยมเดินทางไปพักผ่อนตามยอดดอยหรือสถานที่ต่างๆ ที่มีอากาศหนาวเย็น จึงทำให้ต้องอาบน้ำอุ่นจากเครื่องทำน้ำอุ่น โดยเฉพาะตามรีสอร์ทต่างๆ ที่อาจมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้แก๊สแทนระบบไฟฟ้า ว่า จาก ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี พ.ศ. 2551 – 2558 มีรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย จำนวน 23 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 6 ราย (อัตราป่วยตาย ร้อยละ 26.09)
เพศหญิง ร้อยละ 61 พบในอายุระหว่าง 10 – 54 ปี เกิดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม เฉพาะในเดือนมกราคม 2558 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยสัมผัสแก๊สพิษจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จำนวน 4เหตุการณ์ จากจังหวัดภาคเหนือ พบผู้ป่วย 10ราย เสียชีวิต 2ราย ซึ่งผู้ป่วยหรือเสียชีวิตมักเป็นเป็นผู้ที่อาบน้ำในลำดับท้ายๆ หลังจากมีผู้อาบน้ำไปแล้วหลายราย และห้องน้ำที่ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สที่เกิดเหตุมักเป็นห้องน้ำที่มีขนาดเล็ก มีช่องระบายอากาศเล็กหรือไม่มีเลย ไม่มีการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ นอกจากนี้ ยังพบว่าทุกเหตุการณ์เป็นเครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.)
สาเหตุที่ทำให้ผู้อาบน้ำป่วยและเสียชีวิต เกิดเนื่องจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สเผาไหม้ออกซิเจนเพื่อทำความร้อน ในขณะเดียวกัน ก็สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ขึ้น ดังนั้น หากห้องน้ำมีระบบการระบายอากาศที่ไม่ดีก็จะเกิดการสะสมของก๊าสพิษเหล่านี้ขึ้น และการสูดดมก๊าสคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป จะทำให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้น้อยลง ร่างกายขาดออกซิเจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเลือดจาง หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งได้รับแก๊สพิษโอกาสเสียชีวิตสูง
คำแนะนำในการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส คือ
1. เปิดพัดลมดูดอากาศทุกครั้งที่อาบน้ำ ถ้าพัดลมหรือไฟฟ้าไม่ทำงาน ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส
2. หากอาบน้ำติดต่อกันหลายคน ให้เปิดพัดลมดูดอากาศและเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 10นาที ก่อนคนถัดไปจะเข้าอาบ
3. ไม่ควรอาบน้ำนานเกิน 10นาที เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของแก๊สพิษในระดับที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต
4. ควรมีเพื่อนอยู่ในบริเวณที่สามารถเรียกขอความช่วยเหลือ หากมีเหตุฉุกเฉิน
5. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนศีรษะ มึนงง หรือได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่น รีบออกจากห้องน้ำและแจ้งเจ้าหน้าที่
6. การช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้รีบนำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่งที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม ให้ออกซิเจนหากมีถังออกซิเจน สังเกตอาการถ้าผู้ป่วยหมดสติ หากผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น และรีบนำส่งหรือแจ้งสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
- 294 views