ในปี 1500 เป็นต้นมา ศูนย์กลางของน้ำตาลในทวีปยุโรปคือบราซิล จากนั้นอังกฤษก็ตามมาโดยทำให้บาร์เบโดสกลายเป็นเกาะแห่งน้ำตาล หลังจากนั้นฝรั่งเศสก็เข้ามาทำไร่อ้อยที่เกาะฮิสแปนิโอลาใหม่อีกครั้ง ยิ่งมีการปลูกอ้อยมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโรงงานเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งสร้างท่าเรือเพื่อขนส่งน้ำตาลและนำทาสจากแอฟริกาเพื่อมาทำงานในไร่มากขึ้นด้วย

ภาพของทาสแอฟริกันในไร่อ้อย

เพียงระยะเวลาแค่ร้อยกว่าปีเศษ ระหว่างปี 1701 ถึง 1801 มีการนำทาสแอฟริกันจำนวน 252,500 คนไปยังบาร์เบโดส ซึ่งเป็นเกาะที่มีพื้นที่เพียงแค่ 166 ตารางไมล์ (ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก) ต่อมาอังกฤษเริ่มออกล่าอาณานิคม หาเกาะที่ปลูกอ้อยมาเป็นของตนให้มากขึ้น โดยเริ่มจากจาเมกาซึ่งอังกฤษยึดมาจากสเปนในปี 1665 ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการนำทาสแอฟริกันจำนวนมากไปทำงานที่บาร์เบโดสนั้น มีการนำทาสแอฟริกันถึง 662,400 คน ไปยังจาเมกา กล่าวได้ว่า น้ำตาลผลักดันให้ผู้คนกว่า 900,000 คนเป็นทาสแรงงาน โดยข้ามจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังบาร์เบโดสและจาเมกา และนี่เป็นเพียงแค่สองเกาะในบรรดาเกาะทั้งหลายที่มีการทำไร่อ้อย

ฝรั่งเศสเห็นว่าการทำไร่อ้อยสร้างความร่ำรวยให้อย่างมหาศาล จึงเริ่มเข้าไปแย่งชิง ทำให้พื้นที่ครึ่งนึงของเกาะฮิสแปนิโอลาที่ปกครองอยู่(ปัจจุบันคือเฮติ) กลายเป็นอาณานิคมไร่อ้อยของตนเอง นอกจากนี้ยังรวมถึงเกาะมาร์ตินีก กวาเดอลูป และเฟรนช์เกียนาบริเวณชายฝั่งอเมริกาใต้ด้วย เกาะเหล่านี้มีทาสแอฟริกันเข้าไปทำงานมากกว่าเดิมอีกเป็นแสนๆคน ช่วงปี 1753 เรือของอังกฤษนำทาสโดยเฉลี่ยปีละ 34,250 คนจากแอฟริกาไปทำงานและเมื่อถึงปี 1768 จำนวนทาสก็สูงถึง 53,100 คน

น้ำตาลกองพะเนินอยู่ที่ท่าเรือใกล้ๆ กับไร่อ้อยถือเป็นสิ่งใหม่ของโลก มันให้รสชาติแสนหวาน ให้ความพึงพอใจอย่างแท้จริง แถมยังมีราคาถูกขนาดที่คนธรรมดาสามัญสามารถซื้อหาได้ นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าผู้คนทั่วโลกต้องอาศัยการเรียนรู้เพื่อให้ชอบรสชาติเค็ม เปรี้ยว และรสที่คละกัน ทว่าเราต่างก็ชอบรสหวานนับตั้งแต่วินาทีที่เกิดมา น้ำตาลทรายจึงเป็นผลิตผลอย่างแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติซึ่งสนองความอยากนั้นได้อย่างดีที่สุด และชีวิตอันขมขื่นของทาสชาวแอฟริกันก็ทำให้มีน้ำตาลออกมามากมายจนความหวานของมันได้แพร่กระจายไปทั่วโลก

ระหว่างศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 19 น้ำตาลเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจทั้งหมดโดยเชื่อมโยงยุโรป แอฟริกา เอเชีย และทวีปอเมริกาเข้าด้วยกัน ยุคแห่งน้ำตาลที่แท้จริงได้เริ่มต้นขึ้นและพลิกโฉมโลกแบบที่ไม่เคยมีผู้ปกครองอาณาจักรหรือสงครามใดทำได้มาก่อน

ช่วงปี 1800 เมื่อชาวอังกฤษบริโภคน้ำตาลถึงสิบแปดปอนด์ต่อปีนั้น มีการผลิตน้ำตาลอยู่ทั่วโลกประมาณ 250,000 ตัน โดยผลผลิตเกือบทั้งหมดถูกส่งไปยังยุโรป หนึ่งศตวรรษต่อมาในปี 1900 โลกมีผลผลิตน้ำตาลถึงหกล้านตัน โดยมีการใช้น้ำตาลทำแยม เค้ก น้ำเชื่อม และใส่น้ำชา และทุกประเทศที่ทันสมัยต่างก็เต็มไปด้วยโรงงาน ขณะนั้นชาวอังกฤษบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยเก้าสิบปอนด์ต่อปี และในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตัวเลขก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ กระทั่งปัจจุบันการบริโภคน้ำตาลในชาวอเมริกันเพียงแค่ 40 ปอนด์ต่อปี แต่นั่นก็เพราะมีสารให้ความหวานในรูปแบบอื่นๆ เช่น น้ำเชื่อมข้าวโพดซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำตาลทราย

ในประวัติศาสตร์ยุคน้ำตาล ซึ่งรวมระบบทาส โรงงาน และการค้าระหว่างประเทศเข้ามาแทนที่ยุคน้ำผึ้ง ซึ่งผู้คนบริโภคอาหารในท้องถิ่น อยู่อาศัยในผืนดินของบรรพบุรุษและให้ความสำคัญกับขนบประเพณีมากกว่าการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่น้ำตาลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก น้ำตาลซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากการมีทาสและการพึ่งพาคนงานในโรงงานผู้ยากแค้น น้ำตาลทำให้เส้นทางของคนคุมทาสผู้โหดเหี้ยมกับเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่มาบรรจบกัน กระนั้นเหตุผลนี้ยังได้ทำให้น้ำตาลกลายเป็นไพ่ใบสุดท้ายในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของบรรดาทาสด้วย

เมื่อกล่าวถึงระบบทาส เรานึกถึงสภาพนรกในไร่อ้อย แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือทาสชาวแอฟริกันล้วนเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้และมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก เพราะหยาดเหงื่อแรงงานของพวกเขาทำให้เกิดยุคน้ำตาลหรือยุคอุตสาหกรรมขึ้นมา เราจึงไม่ควรมองว่าทาสเหล่านี้เป็นเพียงผู้เคราะห์ร้ายแต่พวกเขาเป็นผู้สร้าง อีกทั้งยังเป็นกระบอกเสียงของโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการพูดและการกระทำของพวกเขาในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพนั้น ทำให้ชาวยุโรปเริ่มมองเห็นว่าทาสเหล่านั้นก็เป็นมนุษย์ และทำให้ยุคน้ำตาลกลายเป็นยุคของอิสรภาพด้วยเช่นกัน

Cane sugar factory in Netherlands East Indies around 1850 by A. Salm (โรงงานน้ำตาลของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ ประมาณปี 1850 ตั้งอยูในเขตอาณานิคม คือประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน)

อ้อยเตรียมเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลในฮาวาย สหรัฐอเมริกา

เก็บความจาก

หนังสือเรื่อง “น้ำตาลเปลี่ยนโลก” Sugar Changed the World, Marc Aronson และ Marina Budhos เขียน วิลาสีนี เดอเบส แปล, น้ำตาลเปลี่ยนโลก Sugar Changed the World, สำนักพิมพ์มติชน, 2555 

ขอบคุณภาพจาก

http://www.organicnutrition.co.uk/articles/is-sugar-bad-for-you.htm

http://www.food-info.net/uk/products/sugar/history.htm

http://americancountryside.com/2010/12/01/the-history-of-sugar-in-hawaii/