เครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุข สถาบันนอกสมทบ พอใจผลบรรจุ ขรก. 205 อัตรา หรือร้อยละ 5 ชี้เป็นก้าวแรกที่ได้รับการพิจารณา แต่ยังไม่เป็นธรรม หากมองภาพรวมการบรรจุ 3 รอบ เหตุสายวิชาชีพอื่นได้รับบรรจุร้อยละ 66 พร้อมเสนอรัฐบาล และ สธ.หนุนวิชาชีพสาธารณสุข สอดคล้องทิศทางนโยบายสุขภาพประเทศ สร้างเสริม-ป้องกันโรค เผยปัจจุบันตามแผน Service Plan ยังขาด 30,000-40,000 คน
นายธนะพัฒน์ ทักษิณทร์ แกนนำเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งจบการศึกษามาจากสถาบันการศึกษานอกสมทบกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้มีหนังสือให้มีการคัดเลือกลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข เข้าบรรจุในตำแหน่งวิชาการสาธารณสุข ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้อนุมัติ ทั้งจากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาที่ร่วมผลิตและที่มิได้ร่วมผลิตในวิทยาลัยสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก โดยเป็นสัดส่วนของกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุขนอกสมทบ 205 อัตรา (ดูข่าว ที่นี่) มองว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี แม้ว่าการบรรจุในรอบนี้เมื่อคิดสัดส่วนจะเป็นเพียงร้อยละ 5 จากจำนวนนักวิชาการสาธารณสุขนอกสมทบ สธ. 4,000 คนก็ตาม แต่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้มีการบรรจุครั้งแรก ถือว่าผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยได้รับการบรรจุเลย และยังดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการรอสอบ ก.พ. ที่เรียกบรรจุเพียงแค่ 4-5 ตำแหน่งต่อปี
นายธนะพัฒน์ กล่าวว่า หากพูดถึงความเป็นธรรมในการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ จำนวน 21,000 ตำแหน่ง ตามที่ ครม.ได้อนุมัติปี 2554 นั้น ภาพรวมในการบรรจุทั้ง 3 รอบถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะก่อนหน้านี้สายวิชาชีพอื่นๆ ได้รับการบรรจุในสัดส่วนร้อยละ 66 ซึ่งเราคงต้องรอคิวการบรรจุตำแหน่งเพิ่มเติมตามปกติในครั้งต่อไป โดยได้รับการพิจารณาเช่นเดียวกับนักวิชาการสาธารณสุขที่เป็นสายสมทบ เนื่องจากทาง ก.พ.ให้มีการปรับเกลี่ยอัตราตำแหน่งในกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุขทั้งหมด ไม่ว่าจะจบจากสถาบันไหนก็ตาม จากที่แต่เดิมกลุ่มนักเรียนตามปกติต้องสอบบรรจุในลักษณะแอดมิชั่น แต่นักเรียนทุนจะได้รับการบรรจุเลย
ทั้งนี้ที่ผ่านมาแม้ว่า สธ.จะได้ให้นักวิชาการสาธารณสุขเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข แต่เมื่อดูรายละเอียดสวัสดิการก็ไม่ต่างจากลูกจ้างชั่วคราว เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องสวัสดิการที่ดีกว่า แต่ยังรวมไปถึงความก้าวหน้า และความมั่นคง เพราะในกรณีที่ทางหน่วยงานที่สังกัดไม่มีเงินสามารถเลิกจ้างได้ ตรงนี้ส่งผลกระทบต่องานสาธารณสุขของประเทศ เพราะนักวิชาสาธารณสุขบางคนทำงานในพื้นที่ต่อเนื่อง 7-8 ปี แต่ต้องเปลี่ยนไปทำงานที่อื่นด้วยสาเหตุนี้
นายธนะพัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันระบบสุขภาพทั่วโลกได้ให้ความสำคัญต่องานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ หรือแม้แต่นโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศไทยได้เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ป็นการสร้างนำซ่อมมากขึ้น มีนักวิชาการสาธารณสุขเป็นกลไกสำคัญ ทำงานในระดับปฐมภูมิกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมานโยบายด้านบุคลากร สธ.กลับไม่สอดคล้อง โดยเน้นกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล และวิชาชีพที่ทำงานในโรงพยาบาล ดังนั้นในช่วงที่ สธ.มีนโยบายทีมหมอครัวครอบครัวจึงเป็นโอกาสที่ดีของ สธ.ในการเพิ่มอัตราบรรจุนักวิชาการสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนเพิ่มขึ้น
“นักวิชาการสาธารณสุขเป็นด่านหน้าที่ทำงานกับประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ลดอัตราการป่วยที่เป็นการสร้างนำซ่อม รวมถึงเป็นกลไกในการควบคุมการระบาดของโรคต่างๆ ซึ่งตามโครงสร้างแผนการจัดบริการของ สธ. (Service Plan) ได้กำหนดอัตรานักวิชาการสาธารณสุขต่อจำนวนประชากรที่ 1 : 1,250 โดยขณะนี้น่าจะยังขาดอยู่ที่ 30,000-40,000 คน ดังนั้นจึงควรมีการสนับสนุนการผลิตและอนุมัติตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขให้มากกว่านี้” แกนนำเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุข กล่าวและว่า ส่วนกรณีข้อเสนอให้ สธ.ออกนอก ก.พ.เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการด้านกำลังคนนั้น ความเห็นส่วนตัวนั้นเห็นด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร สธ.
- 55 views