นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : "สมเด็จพระเทพฯ" ทรงห่วงคนไทยภูเขาห่างไกล รับสั่งนายกรัฐมนตรีช่วยดูแลประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างทั่วถึง ขณะรัฐบาลรับสนอง สั่งห้าม "แรงงาน-มหาดไทย" ดูแลช่วยเหลือการจ้างงานในพื้นที่ห่างไกลบริเวณชายแดน พร้อมสั่งเร่งรัดจัดสรรที่ทำกินให้ประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวานนี้(18 ก.พ.) ถึงการเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ จ.น่าน ในงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ ที่ข่วงเมืองน่าน อ.เมืองน่าน ว่า พระองค์ท่านทรงรับสั่งถึงเรื่องพระราชกรณีกิจของพระองค์ท่านที่ทรงดูแลประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยพระองค์ท่านได้เสด็จเยี่ยมเยือนประชาชนทุกจังหวัดมาโดยตลอด
"พระองค์ท่านมีรับสั่งให้ช่วยดูแลประชาชนให้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยเรามีคนจน 1 จน 2 และจน 3 ซึ่งคนจน 1 และ 2 ดีขึ้น พระองค์ท่านจึงรับสั่งถึงคนจนระดับ 3 ที่อยู่ตามชายขอบ ชาวไทยภูเขาว่าเราต้องทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความมั่นคง เพราะทุกคนก็อยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องสวัสดิการต่างๆ ซึ่งหากรัฐรับมาดูแลทั้งหมดเราจะทำอย่างไรเพราะมีจำนวนมาก ผมจึงสั่งการใน ครม.ว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาวิธีการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการเล่าเรียนหนังสือที่อาจจะคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ สามารถนำมาพัฒนาประเทศต่อไป" นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรารภว่า ภายหลังนายกฯ มีภารกิจเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชุมโครงการหลวง และเดินทางไป จ.น่าน เพื่อร่วมงานเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านตรัสถึงความเป็นห่วงประชาชนที่เป็นคนจน ที่ปัจจุบันมีทั้งคนจนปกติ คนจนมากและคนจนมากที่สุด โดยพระองค์ตรัสว่า ท่านเข้าถึงคนจนและจนมาก แต่คนจนที่สุดท่านยังเข้าถึงไม่ทุกกลุ่ม พระองค์จึงฝากรัฐบาลว่าขอให้ช่วยประชาชนส่วนนี้ที่มักอาศัยตามขอบชายแดน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ จึงได้มอบหมายกระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยนำเรื่องนี้ไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนนี้มาทำงานตามความสมัครใจ โดยจะมีการฝึกฝนด้านฝีมือแรงงานเพื่อให้เป็นแรงงานมีคุณภาพ ทั้งยังเป็นการตอบรับต่อนโยบายในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งสามารถทำงานในพื้นที่ใกล้ที่อาศัยและยังเป็นมาตรการป้องกันการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กับประชาชนที่ขาดหรือมีไม่เพียงพอว่า นายกฯ ได้ปรารภว่า ในอดีตมีหลายวิธีการเพื่อช่วยเหลือ เช่น การจัดสรรที่ดินสปก. แต่ในระยะหลังที่ดินสปก.ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือนายทุนเป็นส่วนใหญ่ จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการในส่วนนี้ด้วยการเรียกคืนที่ดินกลับคืน อาจมีการฟ้องร้อง ชดใช้และดำเนินการจัดสรรที่ดินในส่วนนี้เสียใหม่ให้มีความเหมาะสม ป้องกันไม่ให้ถูกเปลี่ยนมือได้อีก เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนได้ใช้ประโยชน์
ขณะเดียวกัน นายกฯยังได้ปรารภว่าในพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ก็ต้องมีการจัดระเบียบว่าส่วนใดสามารถจะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นสภาพป่าได้ ก็ให้ดำเนินการ หากพื้นที่ใดเป็นป่าเสื่อมโทรมจนไม่สามารถทำอะไรได้แล้วก็ต้องจัดระเบียบอาจให้มีการเช่า หรืออื่นใดตามที่หน่วยงานราชการกำหนด แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่มีการขายต่อ นอกจากนี้พื้นที่ป่าต้นน้ำต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนต้องอพยพประชาชนที่เข้าไปบุกรุกออกมาแล้วจัดสรรหาที่ว่างอื่นให้อยู่ไปพลางก่อนหลังจากนั้นจึงจะให้จัดสรรที่ทำกินให้ประชาชนต่อไป
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นายกฯ ได้ปรารภว่ามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางส่วนที่มักให้ข้อมูลไม่ตรงความเป็นจริงกับประชาชน เช่น ในอดีตมีการสนับสนุนให้ประชาชนปลูกยางในพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก โดยระบุว่าดีกว่าวิธีอื่นเพื่อให้เกิดพื้นที่ป่ามากขึ้น ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่ เป็นสิ่งที่ผิดหลักการ "การที่ป่าจะเป็นป่ามันต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชพรรณหลากชนิด นายกฯ จึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปกำชับเจ้าหน้าที่ว่า ห้ามไปให้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะเช่นนี้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้บุกรุกการใช้พื้นที่ป่าไปในทางที่ไม่ถูกต้อง"
ขณะเดียวกัน นายกฯ ได้เน้นย้ำถึงความเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะกำหนดแนวพื้นที่ป่าสงวนให้ชัดเจนและกำหนดเขตพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบเข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่รบกวนสภาพของป่าสงวน และเป็นการป้องกันการบุกรุกด้วย โดยนายกฯ ได้ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เป็นหน่วยงานหลักเข้าไปบริหารจัดการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558
- 18 views