“ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์”  กระทุ้งรัฐบาลหนุนงานป้องกันเอดส์ ไฟเขียว “งบค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์” กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมติ คกก.เอดส์ชาติ ต่อยอดหลังสิ้นสุดงบกองทุนโลก หวั่นป้องกันผู้ติดเชื้อเพิ่ม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการนำเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2559 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มเติมงบบริการติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ในส่วนของ “งบค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี” จำนวน 400.29 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดตั้งงบใหม่ที่เป็นไปตามมติคณะกรรมการเอดส์ชาติ ทั้งนี้ได้เป็นไปตามแผนการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ ภายหลังจากที่งบกองทุนโลก (Global Fund) ได้หมดลง

ทั้งนี้ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้ดำเนินการด้านการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในการช่วยให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างทั่วถึงภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แต่ในด้านการป้องกันนั้นพบว่ายังให้ความสำคัญไม่มากนัก แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ยังคงพบอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน เยาวชน และกลุ่มหลากหลายทางเพศ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการเดินหน้าเรื่องนี้ พร้อมเดินหน้าต่อยอดโครงการต่างๆ ภายหลังจากที่งบกองทุนโลกสิ้นสุดลง

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์นั้น ปัจจุบันแม้ว่าประชาชนจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเอดส์มากขึ้น โดยเฉพาะทัศนคติต่อผู้ติดเชื้อที่มองในมุมบวกมากขึ้น การเข้าใจต่อโรคและการรักษา แต่ในด้านการป้องกันพบว่า คนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักและไม่คิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อได้ ดังนั้นในการป้องกันจึงต้องทำให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องเอดส์เป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกคนมีโอกาสที่จะรับเชื้อเท่ากัน เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญต่ออุปกรณ์เพื่อใช้ในการป้องกันเอดส์ โดยเฉพาะถุงยางอนามัย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าคนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาการเข้าถึงถุงยาง แม้ว่ากรมควบคุมโรคและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีงบประมาณจัดซื้อถุงยางอนามัย แต่เป็นการแจกจ่ายให้เฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ส่งผลให้ยังเกิดปัญหาการเข้าถึง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับค่ารักษา การให้ยาต้านไวรัสกับผู้ติดเชื้อไปตลอดชีวิต การลงทุนในการป้องกันจะมีความคุ้มค่ากว่าและใช้งบประมาณที่น้อยมาก

“แม้ว่าปีนี้ บอร์ด สปสช.จะเสนอตั้งงบค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แต่ยังเป็นเพียงการเสนองบประมาณขาขึ้นเท่านั้น อยากให้รัฐบาลและสำนักงบประมาณเห็นถึงความจำเป็นของการป้องกันเอดส์ โดยงบที่ได้นี้เป็นการนำไปใช้เพื่อการป้องกันโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีผลต่อการดูแลประชากรทั้งหมด” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว.