เครือข่ายสุขภาพในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคห่วงประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน เรียกร้องให้ประเทศที่ร่วมเจรจาปกป้องระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยา ในการเจรจา RCEP รอบที่ 7 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในสัปดาห์นี้
ตามที่นักเจรจาการค้าจาก 16 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค คือกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กำลังเข้าร่วมในการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รอบที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยในสัปดาห์นี้ นักกิจกรรมเพื่อการเข้าถึงการรักษาถ้วนหน้าพบว่า ความหวังของพวกเขากำลังจะถูกทำลายจากการเจรจาต่อรองครั้งนี้ โดยฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน
นายชิบา ภูไรลัตภัม ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (APN+) กล่าวว่า เราต่างมีความกังวลอย่างมากจากรายงานที่ว่าในการเจรจาต่อรอง RCEP นั้น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เรียกร้องการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มอาเซียน จีน และอินเดีย โดยข้อเรียกร้องนั้นมากเกินกว่าข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก
“สมาชิกในเครือข่ายของเราทั่วทั้งภูมิภาคต่างต้องพึ่งพายาชื่อสามัญที่ราคาไม่แพงในการรักษา ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค มีผู้ติดเชื้อฯเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้รับยาต้านไวรัสฯ การที่มีข้อกำหนดใดๆ ที่จะมีผลทำให้การผลิตยาและจัดหายาชื่อสามัญในราคาไม่แพงต้องหยุดชะงักลงนั้น ย่อมมีผลร้ายโดยตรงต่อชีวิตและสุขภาพผู้ป่วยนับล้านรายในภูมิภาคฯ”
รายงานข่าวระบุว่า ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งมากเกินกว่าข้อกำหนดของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลก อาทิ การยืดระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรเกินกว่า 20 ปี และ ให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญได้ ถึงแม้ว่ายานั้นจะไม่มีสิทธิบัตรแล้วก็ตาม และทำให้ขั้นตอนในการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือ ซีแอลมีความยุ่งยากมากขึ้น นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ยังรวมไปถึงการปรับหลักเกณฑ์พิจารณาการจดสิทธิบัตรให้รับจดสิทธิบัตรง่ายขึ้น ตัดทอนกระบวนการจดทะเบียนสิทธิบัตร และมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายซึ่งจะมีผลรวมถึงการยึดกักยาชื่อสามัญในระหว่างการขนย้ายด้วย
“ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ประเทศเหล่านี้ต่างต้องปฏิบัติตาม WTOให้สิทธิบัตรเป็นเวลา 20 ปี และทุนสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาซึ่งเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของโครงการการรักษาเอชไอวีในประเทศต่างๆกำลังถูกลดทอนอย่างมาก เพราะถูกจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางโดยธนาคารโลก ขณะเดียวกันบริษัทยาข้ามชาติทยอยเลิกขายยาในราคาถูกพิเศษ หรือไม่ให้สิทธิโดยสมัครใจกับบริษัทยาสามัญในการผลิตยาราคาถูกอีกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การผูกขาดทางการตลาดของยารักษาโรคอย่างยาวนานและเคร่งครัดขึ้นตามที่ได้มีการเรียกร้องในการเจรจา RCEP นั้นรังแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเท่านั้น” ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (APN+) กล่าว
หากดูประวัติศาสตร์ในกลุ่มประเทศสมาชิกความตกลง RCEP จะพบว่า เป็นประเทศที่ได้ใช้ความเป็นผู้นำในการสร้างความสมดุลย์ระหว่างข้อกำหนดขององค์การการค้าโลกกับระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยา ด้วยการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการใช้ยาสามัญเพื่อรักษาเอชไอวี โรคหัวใจและโรคมะเร็ง อาทิ มาเลเซีย (พ.ศ.2546), อินโดนีเซีย (พ.ศ. 2547, 2550 และ 2555), ไทย (พ.ศ. 2549, 2551 และ 2555) และ อินเดีย (พ.ศ. 2555)
“เหตุผลในการปฏิบัติเช่นนี้ย่อมมีความชัดเจนอยู่แล้ว เพราะนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ราคายาต้านไวรัสเอชไอวีลดลงจาก 15,000ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เหลือเพียง 350 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เนื่องจากเกิดการแข่งขันในการใช้ยาชื่อสามัญ โดยอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก RCEP เป็นประเทศที่จำหน่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีชื่อสามัญ 80% ของที่ใช้กับผู้ป่วยผู้ใหญ่ และ90% ของผู้ป่วยเด็กให้กับประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในกลุ่ม RCEP ต้องรักษาความสามารถในการใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อให้เข้าถึงยาชื่อสามัญได้ต่อไป” ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (APN+) กล่าว
“ความกังวลของพวกเราไม่ได้มีเฉพาะเรื่องราคายาต้านไวรัสเอชไอวีเท่านั้น ผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีในภูมิภาคฯ กำลังร่วมกันท้าทายบริษัทยาข้ามชาติกิลิแอด (Gilead) ในการขอจดสิทธิบัตรยาใหม่ที่ชื่อ Sofosbuvir แต่มาตรฐานการพิจารณาที่เคร่งครัดเพื่อให้ได้สิทธิบัตรที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นอีกประเด็นที่กำลังถูกลดทอนจากการเจรจาครั้งนี้เช่นกัน ทั้งที่ประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างจีน ไทย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีจำนวนมาก”
ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (APN+) กล่าวถึงประเทศอย่างอินเดียและฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายมีหลักเกณฑ์เคร่งครัดในการจดสิทธิบัตร ไม่ให้คำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น หรือที่เรียกว่าสิทธิบัตรไม่มีวันหมดอายุ (Evergreening Patent) – เป็นวิธีที่ผู้ถือสิทธิบัตรพยายามยืดเวลาในการผูกขาดทางการตลาดโดยการยื่นขอสิทธิบัตรซ้ำซ้อนโดยการเปลี่ยนรูปแบบยาหรือยาเดิมแต่มีวิธิการใช้ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา – เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยได้มีการใช้ข้อกำหนดที่เคร่งครัดขึ้นในการตรวจสอบคำร้องขอจดสิทธิบัตรจากบริษัทยา อย่างไรก็ตาม รายงานต่างๆ ทำให้เชื่อได้ว่า การเจรจา RCEP ในเรื่องสิทธิทางปัญญาจะทำให้ข้อกำหนดเหล่านี้อ่อนลงไปมาก
ทางด้าน น.ส. เคย์ ที ตัวแทนจากเครือข่ายพนักงานบริการเอเชีย (Asia Pacific Network of Sex Workers - APNSW) กล่าวว่า พวกเราเครือข่ายพนังงานบริการเอเชีย (APNSW) มีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะเข้ามากีดกันการเข้าถึงยาชื่อสามัญที่ใช้ในการรักษาเอชไอวี โรคตับอักเสบซี โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และ โรคอื่นๆ อีกมากมาย
“สมาชิกของเราในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอย่างประเทศเมียนมาร์และกัมพูชามีความกังวลเรื่องการเข้าถึงยาชื่อสามัญในการเจรจาการค้าเสรีขณะนี้ เราเชื่อมั่นว่า การเจรจา RCEP จะไม่มีผลกระทบต่อความยืดหยุ่นของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายใต้องค์การการค้าโลก ในการที่ยังไม่จำเป็นต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ จนกว่าจะถึงปี พ.ศ. 2564” เคย์ ที กล่าว
ในประเทศสมาชิก RCEP นั้น มี 3 ประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุดซึ่งได้รับอนุญาตให้เลือกได้ว่าจะใช้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ข้อตกลง TRIPS ขององค์การการค้าโลกหรือไม่ จนถึงปี พ.ศ. 2564 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ระบุว่าระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ข้อตกลง TRIPS นี้มีความสำคัญในการพัฒนาความสามารถของผู้ผลิตยาในประเทศ และการพัฒนาฐานทางเทคโนโลยี แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าองค์ประกอบของความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะมีผลกระทบต่อเสรีภาพของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในการที่จะเลือกว่าจะใช้การคุ้มครองสิทธิทางปัญญาภายใต้ข้อตกลง TRIPS ขององค์การการค้าโลกหรือไม่ รวมถึงข้อผ่อนผันอื่นๆ ที่จะได้รับในปีต่อๆ ไปหรือไม่
“ความตกลง RCEP ควรจะสร้างตัวอย่างในการจัดลำดับความสำคัญให้สุขภาพมาก่อนผลประโยชน์ทางการค้าหรือธุรกิจ ความตกลง RCEP ควรจัดทำวาระเชิงบวกด้านสาธารณสุขและการเข้าถึงยา โดยสนันสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาใช้กฎหมายเพื่อให้มั่นใจในการเข้าถึงยารักษาโรค สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการผลิตยาชื่อสามัญในประเทศต่างๆ กำหนดสัดส่วนทรัพยากรเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เราขอเรียกร้องให้ประเทศในกลุ่มความตกลง RCEP เปิดเผยเนื้อหาของการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุน และให้ใช้การปรึกษาหารืออย่างเปิดเผยและกว้างขวาง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อตกลงทางการค้าเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยา” ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (APN+) กล่าว
- 8 views