ผอ.รพ.ปัตตานี ชี้จุดอ่อนประบวนการรับฟังความเห็นบัตรทอง หลังรับข้อเสนอไปปรับปรุง ยังคงพิจารณาและตัดสินใจจะทำตามข้อเสนอหรือไม่โดยคนกลุ่มเดียว ยัน ต้องเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่พิจารณาโดยคนกลุ่มเดียว เสนอตั้ง คกก.มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย มองผลกระทบข้อเสนอรอบด้านก่อนเดินหน้า พร้อมวิจารณ์การจัดประชุมรับฟังความเห็น ถูกแยกส่วนมองไม่เห็นภาพรวม แถมกลายเป็นเวทีโจมตี ขึ้นป้ายเรียกร้องให้ปลดผู้บริหาร ไม่ใช่เวทีหารือหาข้อสรุปร่วมกัน
14 ก.พ. 58 นพ.สุภาพ ไพศาลศิลป์ ผู้อำนวยการ รพ.ปัตตานี กล่าวถึงการประชุมรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับประเทศ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า การจัดประชาพิจารณ์มีส่วนดีคือทำให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอความเห็นต่อระบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องปรับปรุ่งเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ดีมาก เพราะในเวทีจะประกอบหลายภาคส่วนทั้งผู้ให้บริการและรับบริการที่ต่างร่วมกันสะท้อนประเด็นต่างๆ แต่ที่เป็นจุดอ่อนของการจัดประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา คือในการนำเสนอความเห็นจะถูกแยกส่วนต่างๆ อาทิ เรื่องการจัดสรรงบประมาณ สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการบริหารกองทุน เป็นต้น ทั้งที่แต่ละเรื่องแต่ละปัญหาเป็นเรื่องที่โยงและมีผลกระทบถึงกัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างมองไม่เห็นปัญหาในระบบทั้งหมด มองเห็นแต่เฉพาะในส่วนที่นำเสนอเท่านั้น
“การดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อมีการปรับหรือเดินหน้าข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่ง ก็จะกระทบต่อส่วนอื่น เพราะต่างเป็นเรื่องที่เชื่อมต่อกัน เนื่องจากงบประมาณเหมาจ่ายนั้นจำกัด เมื่อเติมงบเพิ่มเติมให้เรื่องใด ส่วนอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบ จึงควรเป็นเวทีที่สะท้อนให้เห็นปัญหาร่วมกันทั้งหมด” นพ.สุภาพ กล่าวและว่า นอกจากนี้ในเวทีการประชุมยังมีการเตรียมประเด็นเพื่อเปิดรับฟังความเห็นมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นประเด็นเฉพาะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ความสนใจเท่านั้น และส่วนใหญ่ยังเป็นประเด็นย่อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแยกเงินเดือน โรคค่าใช้จ่ายสูง หรือแม้แต่เรื่องค่าเสื่อม เป็นต้น แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณในภาพรวม”
นพ.สุภาพ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการรวบรวมความเห็นแล้ว กระบวนการหลังจากนั้นเป็นเรื่องการดำเนินการตามข้อเสนอจากที่ประชุม ซึ่งแน่นอนว่าบางเรื่องย่อยได้รับการตอบสนอง แต่บางเรื่องก็ไม่ได้รับการตอบสนองขึ้นอยู่กับการพิจารณาหลังจากนี้ ส่วนตัวเข้าใจว่าทุกเรื่องที่มีการพูดในเวทีคงไม่สามารถตอบสนองได้ทั้งหมด แต่ประเด็นคือ ที่ผ่านมา สปสช.ใช้กระบวนการอะไรในการตัดสินเพื่อเดินหน้าข้อเสนอ ใช้คนกลุ่มเดียวมาตัดสินใจหรือไม่ เพราะขั้นตอนตรงนี้สำคัญพอๆ กับการรับฟังข้อเสนอ ซึ่งควรมีคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมสำคัญในระบบสุขภาพ อย่างผู้ให้บริการกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยแพทย์ เข้ามีส่วนร่วม
“แม้ว่าในการพิจารณาเพื่อเดินหน้าข้อเสนอ ใน บอร์ด สปสช.จะมีผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการอยู่ แต่บางครั้งเขาก็ไม่เข้าใจเรื่องที่นำเสนอได้ เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องเฉพาะ บอร์ดส่วนใหญ่จึงพิจารณาไปตามที่คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ได้นำเสนอเข้ามา หากไม่มีข้อสงสัยหรือประเด็นติดค้างก็จะเดินหน้าไปตามนั้น ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการนี้” ผอ.รพ.ปัตตานี กล่าว
นพ.สุภาพ กล่าวว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวในช่วง 7-8 ปี ที่ผ่านมา งบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น 38% โดยงบที่ได้เพิ่มเติมนั้นถูกนำมาปรับเพิ่มในส่วนต่างๆ ไม่เท่ากัน อย่างเช่น งบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 70% งบกองทุนเฉพาะโรคเพิ่มขึ้น 100% งบกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มขึ้น 50% แต่งบผู้ป่วยในกลับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งการจัดสรรงบแบบนี้ทำให้เกิดผลกระทบ อย่างไรก็ตามข้อเสนอบางอย่างเป็นข้อเสนอที่ดี เช่น การหางบเพิ่มเติมเข้ามาในระบบ การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง การให้บริการอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งส่วนตัวก็ไม่คัดค้าน แต่ต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณา ถือเป็นกระบวนการสำคัญ เพราะการปรับเพิ่มส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมในระบบ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน
นพ.สุภาพ กล่าวต่อว่า ประเด็นหนึ่งที่อยากสะท้อนความเห็นคือ เท่าที่เห็นเวทีการรับฟังความเห็นกลายเป็นเวทีการโจมตีกันไปแล้ว เช่น มีการเรียกร้องให้มีการปลดผู้บริหาร มีการชูป้ายอย่าเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ซึ่งส่วนตัวไม่อยากเห็นภาพแบบนี้ แต่ควรเป็นเวทีในการนำเสนอความเห็นและหาข้อสรุปร่วมกันมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมา การที่ สธ.นำเสนอเรื่องเขตสุขภาพก็ไม่ได้เป็นการมุ่งเพื่อดึงอำนาจบริหารงบประมาณ แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการรักษาพยาบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามในการจัดประชุมรับฟังความเห็นในครั้งต่อไปนั้น ควรเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมอย่างที่ดำเนินอยู่ แต่ควรปรับในส่วนของกระบวนการการพิจารณาข้อเสนอเพื่อผลักดันที่ควรเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น
- 3 views