สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบหลักประกันสุขภาพรอบล่าสุด ที่ปะทุขึ้นมาปีกว่า และยังคงยืดเยื้อชนิดที่ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไรนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกำลังทำให้ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีขอบเขตมากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบสุขภาพไทย) ติดกับดักและไม่สามารถพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น
ขณะที่มุมมองมองอีกด้าน กลับมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างนั้น จะเป็นตัวที่ก่อเกิดทำให้ระบบสุขภาพของไทยเดินหน้าไปได้ เพราะผ่านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนความเห็นต่างจนตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพใหญ่ได้
ขณะเดียวกัน เมื่อมองหลักหมุดหมายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปี 2558 ถือเป็นปีที่ 13 ที่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า และแน่นอนว่า เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ต้องมีการพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีภารกิจที่ท้าทายหลายประการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความยั่งยืนด้านการคลัง การขยายตัวของเทคโนโลยี และการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ได้เกิดข้อเสนอด้านปฏิรูประบบสาธารณสุขที่หลากหลายและมีทิศทางตลอดจนการมุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพ โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังได้ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำเสนอทิศทางการปฏิรูป โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุขดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานหลักในระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทิศทางการปฏิรูปที่ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก และความเท่าเทียมเป็นรอง ขณะที่อีกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมเป็นหลัก และประสิทธิภาพเป็นรอง
สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำซีรีย์ (series) ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้าขึ้น โดยสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในระบบสุขภาพไทย จำนวน 15 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า และหวังว่าซีรีย์ชุดระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้านี้ จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกฝ่ายในการออกแบบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง
ตอนที่ 1 ‘นพ.รัชตะ’ ศึกกระทรวงหมอต้องจบบนโต๊ะเจรจา
ตอนที่ 2 ‘นพ.ณรงค์’ เขตสุขภาพ จุดเริ่มต้นปฏิรูประบบสาธาณสุข
ตอนที่ 3 ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ อนาคตระบบสุขภาพต้องยุบรวมเหลือกองทุนเดียว
ตอนที่ 4 ต้องลงทุนสร้างระบบปฐมภูมิ วาระปฏิรูปในมุมมอง ‘อัมมาร สยามวาลา’
ตอนที่ 5 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ได้เวลากระจายอำนาจ รพ. กระตุกรัฐชัดเจนการเงินการคลัง
ตอนที่ 6 นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช 3 กับดักจมปลักระบบสาธารณสุขไทย
ตอนที่ 7 บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน 3 ระบบต้องทัดเทียม ‘วิทยา กุลสมบูรณ์’
ตอนที่ 8 นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ "หากยังขัดแย้งต่อไม่มีทางไปไหนได้เลย"
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 9 เปิดความคิด หมอรางวัลเจ้าฟ้า “ความเท่าเทียมต้องสำคัญที่สุด”
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร
ทิศทางของระบบสุขภาพมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง หลังโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินทางมาถึงปีที่ 12 ด้วยความขัดแย้งระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างรุนแรงยังไม่เคยปรากฏมาก่อน ถึงขั้นที่โรงพยาบาลจังหวัด ประกาศเลิก “สังฆกรรม” กับสปสช. จนกว่าสปสช.จะยอมรับข้อเสนอให้จ่ายตรงลงไปยังเขตสุขภาพ
อีกด้านหนึ่ง ภาคประชาชนก็เคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น เพื่อยื่นข้อเสนอให้ยุบ “กองทุนประกันสังคม” เพื่อรวมกับ “กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ให้ลดความเหลื่อมล้ำ ในสิทธิประโยชน์สำหรับการดูแลภาคประชาชนมากที่สุด
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และหมอรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อปี 2552 ผู้คร่ำหวอดกับการทำงานในฐานะผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย นานนับสิบปี บอกว่าโจทย์ใหญ่ของระบบสุขภาพไทยขณะนี้ คือ 1.มิติของปัญหาสุขภาพ จากโรคพฤติกรรม ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากเหล้า บุหรี่อาหาร และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมที่ โรค“ติดต่อ” เคยเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดในโลก
“สภาพปัญหามันเปลี่ยน วันนี้ ฆาตกรอันดับ 1 2 3 ของโลก ก็คือโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย ที่น่าเสียดายก็คือ เราไม่ได้ทำอะไรเลยกับโรคพวกนี้ กระแสดูแลสุขภาพ เพิ่งจะถูกปลุกขึ้นเมื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ซึ่งก็น่าเสียดาย ที่เราปล่อยให้เวลาล่วงไปมากเกิน” นพ.วิวัฒน์ระบุ
และ 2.มิติปัญหาการให้บริการ ซึ่งการเกิดขึ้นของ สปสช. มาเปลี่ยนระบบที่จากเดิม สธ.ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ซื้อบริการ และผู้ให้บริการด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่ เพราะผู้จัดการงบประมาณดูแลสุขภาพประชาชน และผู้กำหนดนโยบายสุขภาพ อยู่ต่างหน่วยงานกัน
“เป็นความขัดแย้งขนาดใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าจะต้องขยับกันอีกพักนึง ให้ลงตัวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นธรรมดา ที่คนคุมเงินจะเสียงดัง ส่วนคนที่ไม่ได้คุมเงิน เสียงก็จะไม่ค่อยได้ยิน กลายเป็นว่า สธ.แทนที่จะกำหนดนโยบาย สปสช.กลายเป็นคนกำหนดนโยบายบางอย่างว่า ถ้าอย่างนี้ เราจะซื้อ ถ้าอย่างนี้เราจะไม่ซื้อ แล้วจะได้ค่าตอบแทนอย่างไร กลายเป็นว่าคนที่จะกำหนดนโยบายกลับไม่ได้กำหนด หรือไม่ได้มีอำนาจกำหนดเท่าที่ควร ซึ่งยังคงมองไม่ออกว่าจะขยับกันอย่างไร” นพ.วิวัฒน์เล่าให้ฟัง
คุณหมอวิวัฒน์ บอกว่า ความขัดแย้งระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ส่วนตัวเขาคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะคนยังได้รับบริการอยู่ เพียงแต่ผู้ให้บริการยังคงติดขัดในเรื่องเทคนิคเล็กน้อย นั่นแปลว่า หากพัฒนาให้ดีขึ้น คนก็มีโอกาสได้รับการบริการที่ดีขึ้น
“สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้คือไม่ได้ตกลงกันระหว่างสองฝ่ายอย่างเป็นทางการ แล้วต่างคนก็ต่างพูด ซึ่งผมคิดว่าเราต้องยอมรับว่ามันเป็นปัญหา แล้วต้องมาหาทางแก้ หากเราปล่อยให้เลยตามเลย ไม่ได้คุยกัน ก็จะไม่มีทางแก้เลย แต่ถ้าเรายกขึ้นมาแล้วหาทางออก ก็อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้”
ถามว่าผลลัพธ์สุดท้ายของการปฏิรูประบบสุขภาพคืออะไร ระหว่างการแก้ปัญหาโรคยากๆ และการสร้างระบบสุขภาพที่คนส่วนใหญ่เข้าถึง คุณหมอวิวัฒน์บอกว่า ปัญหาโรคยากขณะนี้ คิดเป็นแค่ 10% ของปัญหาสุขภาพองค์รวม เพราะฉะนั้น แม้จะรักษาโรคยากได้ดี ก็ไม่ได้หมายถึงคนกลุ่มใหญ่จะมีสุขภาพที่แข็งแรง
“สิ่งที่แก้ได้มากกว่าคือเรื่องความเท่าเทียม ไม่ใช่ว่าได้รับบริการเท่ากันทุกคน แต่คนที่พอมีฐานะ อาจได้รับบริการที่มีความสะดวกมากขึ้น แต่คนที่ไม่รวยก็ต้องได้เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ระบบแบบนี้ก็ถูกสร้างขึ้นนานแล้ว คือโรงพยาบาลเอกชน อาจจะดูแลคนที่ว่างเข้าโรงพยาบาลวันหยุด หรือใช้คลินิกนอกเวลา ส่วนคนที่ไม่มีกำลังซื้อพอ ก็เข้าโรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งต้องใช้เวลาธรรมดา แม้อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะฉะนั้นระบบสุขภาพที่ผมมองคือ ต้องทั่วถึง ทุกคนรับบริการได้ ส่วนการรักษาโรคยากๆ ก็ให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดูแล แล้วถ้ามีระบบที่ดี ก็ต้องมีระบบการส่งต่อ โรงพยาบาลทุกแห่งไม่ได้มีความจำเป็นต้องรักษาโรคยากๆ ทั้งหมด”
10 ปีอนาคตระบบสุขภาพ
พูดถึงฉากอนาคต 10 ปีข้างหน้าของระบบสุขภาพไทย คุณหมอวิวัฒน์ วิเคราะห์ตามหลักการขององค์การอนามัยโลก ซึ่งระบุว่า พื้นฐานระบบสุขภาพ มี 6 สาขา (Six Building Blocks) ข้อที่ 1 ได้แก่ ภาวะผู้นำและธรรมาภิบาล ซึ่งขณะนี้ สธ.ก็ทำได้สมบูรณ์แล้ว บทบาทองค์กรก็คงเป็นผู้กำหนดนโยบายตามเดิม 2.บริการสุขภาพ อาจต้องเปลี่ยนมาก เพราะโรคจากพฤติกรรมเยอะขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน และจำเป็นต้องรองรับชาวต่างชาติเข้ามารักษามากขึ้น ทำให้การบริการสุขภาพจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย 3.ยาและเทคโนโลยี คงไม่เปลี่ยนมากนัก เพราะเชื้อโรคยังเป็นตัวเดิม แต่ต้องเพิ่มเทคโนโลยีการรักษาทางไกลมากขึ้น และต้องผลิตยาแก้เชื้อโรคดื้อยามากขึ้น ส่วนยาก็ต้องไปพัฒนากลไกให้คนเข้าถึงได้มากกว่า
4.ระบบข้อมูลข่าวสาร อาจต้องให้ความสำคัญกับโรคออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น เนื่องจากจะมีการโฆษณาแบบผิดๆ เต็มไปหมด 5.กำลังคนด้านสุขภาพ น่ากังวลว่าจะมีการไหลจากภาครัฐไปเอกชนมากขึ้น หลังจากเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งรัฐต้องดูแลเรื่องสวัสดิการให้อยู่ในระบบให้ได้มากที่สุด และ 6.งบประมาณ ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ก็คงไม่มีการยุบสปสช. หรือพัฒนาให้ประชาชนร่วมจ่ายในราคาแพง เพราะจะมีผู้เสียประโยชน์เป็นล้านๆ คน เพราะฉะนั้น คงเปลี่ยนไม่ได้มากนัก
อย่างไรก็ตาม เรื่องงบประมาณในระบบสุขภาพนั้น นพ.วิวัฒน์ มองว่า สปสช.อาจต้องทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้นว่า รัฐจะให้อย่างเดียว เพื่อรักษาทุกโรคไม่ได้ เพราะขืนให้ไปเรื่อยๆ โดยที่ประชาชนไม่ดูแลสุขภาพตัวเองนั้น ไม่มีทางที่งบประมาณจะเพียงพอ จึงอาจต้องสร้างทางเลือกเพิ่มขึ้น ทั้งจากการเก็บภาษี หรือปรับโครงสร้างภาษี ให้เงินมาลงยังระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้น และอาจต้องเพิ่มการลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนเจ็บป่วยน้อยลง ผ่านกองทุนสุขภาพประจำตำบล
แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ นพ.วิวัฒน์บอกว่า งบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งอยู่ที่ปีละประมาณ 1.2 แสนล้าน ยังไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับงบประมาณประจำปี แต่ที่น่ากลัวคือ วิธีการคำนวณเป็นรายหัวว่าจะมีคนป่วยกี่คน แล้วเอาเงินเหมาจ่ายรายหัวมาเฉลี่ยให้คนจำนวนน้อยที่ป่วย
“ปัญหาก็คือ ระบบสาธารณสุขบ้านเรา ยังไม่แข็งพอที่จะทำให้คนที่ไม่ควรป่วย ไม่ป่วยได้ตลอดไป ซึ่งก็ต้องกลับมาเรื่องเดิมคือ สธ.และสปสช.มีข้อมูลคนขนาดไหนว่า คนที่แข็งแรงจะแข็งแรงไปตลอด และจะมีวิธีอย่างไรในการดูแลสุขภาพคนให้ไม่ป่วยจากโรคที่เกิดจากพฤติกรรม” นพ.วิวัฒน์รุบ
ส่วนประเด็นการกระจายตัวของโรงพยาบาลนั้น นพ.วิวัฒน์มองว่า ขณะนี้ สภาพชุมชนเมืองเริ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้จำนวนคนเข้าโรงพยาบาลล้นเกินไป อย่างไร้ทิศทาง ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะควบคุมคุณภาพการรักษาได้ลำบาก เพราะฉะนั้น ในอนาคต อาจต้องผลิตหมอ และกระจายหมอ ไปประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลให้ครบทุกแห่ง ขณะเดียวกัน หากทิศทางกระจายอำนาจประสบความสำเร็จ ก็ควรให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยดูแลค่าใช้จ่าย และบริหารงานบุคคล
ถามถึงทิศทางกระจายอำนาจแบบ “โรงพยาบาลบ้านแพ้ว” นพ.วิวัฒน์ บอกว่า น่าเสียดาย ที่ไม่ได้มีความพยายามกระจายอำนาจให้เป็น“บ้านแพ้ว 2” มากนัก เพราะหากสธ.ทำจริง ก็น่าจะเกิดขึ้นไปนานแล้ว ที่เป็นอยู่ขณะนี้ คือทุกคนเกิดความไม่มั่นใจว่า หากโรงพยาบาลเป็นอิสระ แล้วโรงพยาบาลจะเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ขณะเดียวกัน การหาผู้บริหารที่มีความสามารถ ก็ยากเช่นเดียวกัน
“ความสำเร็จของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ไม่ใช่รูปแบบการออกนอกระบบ แต่อยู่ที่ความร่วมมือของชุมชน และตัวผู้บริหาร ซึ่งประเทศไทย ผู้บริหารที่เก่งแบบหมอวิทิต (นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว องค์การมหาชน คนแรก) อาจมีไม่มาก ยิ่งถ้ามีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารแล้วกรอบไม่แข็ง มันก็อาจจะเกิดหายนะตามมา คนที่เดือดร้อนก็คือประชาชน” นพ.วิวัฒน์ระบุ
อย่างไรก็ตาม คุณหมอวิวัฒน์บอกว่า ใน 10 ปีข้างหน้า เป็นไปได้ที่จะมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งเป็นอิสระ แล้วมีชุมชนช่วยกันดู ผลักดันหาเงินทุน และสานต่องาน ก็น่าจะประสบความสำเร็จ
ขณะที่ การกระจายอำนาจในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ ที่สธ.พยายามผลักดัน ก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน แต่ในอนาคต อาจต้องคุยกันว่า ตัวชี้วัดของแต่ละเขตจะทำอย่างไรให้ไม่ลักลั่นหัน ไม่ใช่แต่ละเขตแข่งขันกันจนเกินสมควร แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การผสมผสานระหว่างรูปแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และเขตบริการสุขภาพ โดยสธ.เป็นหน่วยงานกลางกำหนดนโยบาย น่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์กับประชาชนที่สุด
“ถ้ารูปแบบเขตสุขภาพประสบความสำเร็จ คงต้องมีใครพยายามทำโรงพยาบาลบ้านแพ้วประจำเขต คือแต่ละเขตสุขภาพ อาจต้องมีโรงพยาบาลที่เป็นอิสระ ดูแลโดยเขตเอง สร้างตึกเอง ขยายกำลังคนเอง เพื่อทดลองการบริหารงานแบบอิสระ แต่แน่นอนบางอันอาจยังต้องได้รับการควบคุมโดยรัฐ ก็เหมือนกับเราดูแลลูก ถ้าลูกเราตั้งตัวเองได้แล้วก็ปล่อยให้เขามีครอบครัว มีงานทำ แต่ลูกเราที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เราก็ต้องดูแลกันต่อไป” นพ.วิวัฒน์กล่าว
หนุนแนวคิด 1 โรงพยาบาล 2 ระบบ
คำถามอีกข้อที่ถูกยกขึ้นมาตลอด 12 ปี คือ เมื่อถึงจุดที่ต้องทบทวนแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพ “ความเท่าเทียม” หรือ“ประสิทธิภาพ” ในการรักษาพยาบาลสำคัญกว่ากัน
มุมมองของ นพ.วิวัฒน์ ซึ่งทำงานในองค์การอนามัยโลกมานานหลายสิบปี คิดว่า “ความเท่าเทียม” ต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก แต่ไม่ใช่เท่าเทียมในความหมายถึงว่า ทุกคนต้องได้รับการบริการที่ดีที่สุดทุกคน
“บริการสุขภาพ มันก็เหมือนกับนั่งเครื่องบิน บางคนนั่งชั่นหนึ่ง บางคนนั่งชั้นธุรกิจ บางคนชั้นประหยัด แต่ทุกคนก็ถึงจุดหมายเหมือนกัน เพียงแต่การบริการมันอาจจะต่างกันบ้าง ซึ่งถ้าคุณอยากได้บริการดี คุณก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ไม่ว่าอย่างไรคุณก็ต้องได้รับการรักษา ในมุมมองผมคำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ คือได้ผลงานมากขึ้น โดยใช้คนน้อยลง แต่ในความจริงแล้ว ถ้าต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ไปรับคนหนึ่งคนได้รับการรักษา เสียเงินเป็นหมื่นเป็นแสนก็ต้องใช้ หรือใช้เงินมหาศาลเพื่อรักษาโรคร้ายแรงโรคเดียว ก็จำเป็นต้องทำ เพราะฉะนั้นคิดเรื่องประสิทธิภาพอย่างเดียวไม่ได้เลย” นพ.วิวัฒน์ระบุ
ส่วนการทำให้ระบบอยู่ได้ โดยที่รัฐบาลไม่สูญเสียภาระงบประมาณไปกับการรักษาพยาบาลมากนักนั้น นพ.วิวัฒน์บอกว่า น่าศึกษาโมเดลของการสร้าง “ตึกพิเศษ” แบบที่โรงพยาบาลศิริราชสร้างอาคาร “ปิยมหาราชการุณ” เพื่อให้การรักษาแบบพรีเมียม
“อันที่จริงเราก็ทำอยู่แล้ว ที่ให้คนรวยอยู่ห้องพิเศษ แล้วเอาเงินคนรวยมาช่วยคนจน คนรายได้น้อยก็เซ็นชื่อรับค่ารักษาฟรีไป แต่ในอนาคต เราอาจต้องทำหนึ่งโรงพยาบาล สองรูปแบบมากขึ้น รูปแบบหนึ่ง เน้นบริการเป็นพิเศษ คนที่สะดวกมาเสาร์อาทิตย์หรือมาตอนเย็นก็ได้ แต่ต้องยอมจ่ายแพงกว่า เหมือนอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ของโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือเหมือนอาคารปิยมหาราชการุณ ซึ่งสองที่นี้ก็ไม่ได้มาหากำไรอะไรมากมาย แต่เราเอาเงินจากคนรวย มาช่วยคนจน เพื่อให้โรงพยาบาลเราอยู่ได้”
นพ.วิวัฒน์ ย้ำว่าระบบสุขภาพที่ดีจะต้องไม่แสวงหากำไร คือหาเท่าที่จะหาได้เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าคนที่พอมีเงิน ก็จะยินดีจ่ายมากกว่าที่จะจ่ายให้โรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลเอกชน แสวงหากำไรล้วนๆ แต่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจะหากำไรแค่เพียงบางส่วน ไม่ใช่เพื่อเข้ากระเป๋า แต่เป็นกำไรที่จะซื้อบริการให้กับคนจน
“ผมเชื่อว่าโมเดลนี้น่าสนใจ และสธ.ก็น่าจะวิเคราะห์กันว่า โรงพยาบาลจังหวัด จะสามารถทำโมเดลนี้มากน้อยแค่ไหน ไม่ให้กระทบกับการให้บริการปกติ แล้วหมอหรือบุคลากรเก่งๆ ก็จะมาทำงานในคลินิกพิเศษนี้ได้ ไม่ให้ไหลไปภาคเอกชน สุดท้ายก็อาจจะใช้วิธีดึงคนนอกระบบ มาเป็นลูกจ้าง แต่ก็ต้องยึดหลักการของโรงพยาบาลรัฐไว้ให้แน่นว่าไม่ได้แสวงหากำไร และการให้บริการปกติ จะต้องไม่ได้รับผลกระทบ”
ขณะที่การอภิบาลด้วยการ “ร่วมจ่าย” นั้น คุณหมอวิวัฒน์ก็เชื่อว่ายังเป็นไปได้ในอนาคต ในระดับบริการที่ “แพงมาก" เช่น การตรวจโรคยากๆ ก็น่าจะทำได้ แต่หากให้ร่วมจ่ายในบริการที่เคยฟรีอยู่แล้วจะไม่มีทางได้ และจะไม่ได้รับการยอมรับทันที แต่ด้วยตัวเลขงบประมาณขณะนี้ ก็เชื่อว่ารัฐยังสามารถดูแลได้อยู่
แต่ข้อเสนอให้ยุบกองทุนรวมกันนั้น คุณหมอวิวัฒน์บอกว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก กองทุนประกันสังคม ส่วนใหญ่มาจากการร่วมจ่ายสมทบของผู้ประกันตน ขณะที่กองทุน “30บาท” นั้น ฟรีแทบจะทั้งหมด
“ในความเห็นผม การลดความเหลื่อมล้ำนี่ไม่ใช่การรวมกองทุน แต่เป็นการทำข้อตกลงว่าจะทำอย่างไรให้ทั่วถึงเท่าเทียม คำว่ารวมกันแปลว่ายุบสองอันแล้วรวมเป็นอันเดียว เหมือนรวมบริษัท ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็แล้วแต่ หากแก้ความรู้สึกของคนที่จ่ายสมทบ และไม่ได้จ่ายสมทบ ให้รู้สึกเท่าเทียมกันได้ ข้อเสนอรวมกองทุน ก็น่าสนใจ” นพ.วิวัฒน์ระบุ
ตอนต่อไป ระบบบริการสุขภาพต้องเป็นของ “รัฐ” อย่าปล่อยให้เข้าสู่ “ตลาดเสรี” นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ
- 45 views