สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบหลักประกันสุขภาพรอบล่าสุด ที่ปะทุขึ้นมาปีกว่า และยังคงยืดเยื้อชนิดที่ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไรนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกำลังทำให้ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีขอบเขตมากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบสุขภาพไทย) ติดกับดักและไม่สามารถพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่มุมมองมองอีกด้าน กลับมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างนั้น จะเป็นตัวที่ก่อเกิดทำให้ระบบสุขภาพของไทยเดินหน้าไปได้ เพราะผ่านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนความเห็นต่างจนตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพใหญ่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมองหลักหมุดหมายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปี 2558 ถือเป็นปีที่ 13 ที่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า และแน่นอนว่า เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ต้องมีการพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีภารกิจที่ท้าทายหลายประการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความยั่งยืนด้านการคลัง การขยายตัวของเทคโนโลยี และการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ได้เกิดข้อเสนอด้านปฏิรูประบบสาธารณสุขที่หลากหลายและมีทิศทางตลอดจนการมุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพ โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังได้ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำเสนอทิศทางการปฏิรูป โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุขดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานหลักในระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทิศทางการปฏิรูปที่ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก และความเท่าเทียมเป็นรอง ขณะที่อีกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมเป็นหลัก และประสิทธิภาพเป็นรอง

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำซีรีย์ (series) ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้าขึ้น โดยสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในระบบสุขภาพไทย จำนวน 15 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า และหวังว่าซีรีย์ชุดระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้านี้ จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกฝ่ายในการออกแบบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง 

ตอนที่ 1 ‘นพ.รัชตะ’ ศึกกระทรวงหมอต้องจบบนโต๊ะเจรจา

ตอนที่ 2 ‘นพ.ณรงค์’ เขตสุขภาพ จุดเริ่มต้นปฏิรูประบบสาธาณสุข

ตอนที่ 3 ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ อนาคตระบบสุขภาพต้องยุบรวมเหลือกองทุนเดียว

ตอนที่ 4 ต้องลงทุนสร้างระบบปฐมภูมิ วาระปฏิรูปในมุมมอง ‘อัมมาร สยามวาลา’

ตอนที่ 5 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ได้เวลากระจายอำนาจ รพ. กระตุกรัฐชัดเจนการเงินการคลัง

ตอนที่ 6 นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช 3 กับดักจมปลักระบบสาธารณสุขไทย

ตอนที่ 7 บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน 3 ระบบต้องทัดเทียม ‘วิทยา กุลสมบูรณ์’

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 8 นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ "หากยังขัดแย้งต่อไม่มีทางไปไหนได้เลย"

นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ 

12 ปี ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในมุมมองของ นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน (รพร.สว่างแดนดิน) จ.สกลนคร คือช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก จากความไม่ลงตัวของการแบ่งบทบาท ระหว่างผู้ซื้อ อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้ให้บริการ อย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จนกลายเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ระบบสุขภาพมีความเสี่ยงที่จะถึงจุดชะงักงัน

“จริงอยู่ที่งบประมาณมันเพียงพอขึ้นมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การทำงานซ้ำซ้อน ระหว่างสปสช.และสธ. เพราะสธ.เขาบริหารคน แต่ไม่ค่อยมีเงิน ขณะที่สปสช.มีเงิน แต่กลับบริหารคนไม่ได้ กลายเป็นว่าต่างคนก็ต่างกำหนดงาน คนหนึ่งเอาเงินมาล่อให้ทำ ส่วนอีกคนใช้อำนาจบริหารบุคคลมาสั่งให้ทำ แล้วที่แย่กว่านั้นคือ นอกจากข้างบนจะไม่คุยกันให้ดีแล้ว ก็ยังขัดแย้งกันเองอีก” นพ.วิโรจน์ขยายความปัญหาให้ฟัง

เขาบอกว่า สถานะเช่นนี้ ทำให้ทรัพยากรที่จัดสรรลงมาในระบบสุขภาพไม่เคยพอเสียที เพราะเป้าหมายที่ทั้ง 2 หน่วยงานกำหนด เป็นคนละเป้ากัน ทำให้การทำงานจริงสับสนวุ่นวายกันไปหมด ซึ่งในความเห็นเขา ปัญหาสำคัญมาจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ให้อำนาจหน้าที่ สปสช. เกินกว่าการเป็น “ผู้ซื้อ” ไปมาก

เช่น ให้สปสช.เป็นผู้ซื้อ แต่กลับมีอนุกรรมการควบคุมมาตรฐานของหน่วยบริการ หรือให้อำนาจสปสช.ในการจัดสรรเงินไปยังกองทุนย่อยต่างๆ ด้วยตัวเอง ทั้งที่อำนาจกำหนดว่าจะจ่ายเงินเพื่อเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ ควรจะเป็นของฝ่ายนโยบายและแผนของสธ. ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายระดับชาติ แต่สปสช.กลับมีแผนกวิเคราะห์แผน และตั้งเป้าหมายด้วยตัวเอง ทำงานซ้ำซ้อนกับกระทรวง

“ที่มันกระทบกับประชาชน ก็เพราะคนเหล่านี้เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งควรจะอยู่ในภาคบริการให้มากขึ้น ไม่ใช่มานั่งสุมหัววางแผน ทำงานแบบเดียวกัน แล้วก็ทะเลาะกันเอง หากเราเปลี่ยนให้คนเหล่านี้ไปอยู่ในภาคบริการแทน แล้วมาตกลงคุยบทบาทให้ดี เพื่อให้กรมกองต่างๆ เล็กลง ก็จะได้คนเพียงพอ และใช้งบประมาณ รวมถึงทรัพยากรน้อยลง เงินของการบริหารสองส่วนนี้ก็เอาไปยังหน่วยบริการเพิ่มขึ้นได้” นพ.วิโรจน์อธิบายปัญหาให้เห็น

ส่วนภาพอนาคต 10 ปีข้างหน้านั้น เขาตั้งความหวังไว้ 5 ประเด็น คือ 1.ต้องมีการสร้างสมดุลของระบบ ให้ระบบบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชนไม่แตกต่างกันสุดขั้ว และสร้างสมดุลการดูแลสุขภาพระหว่างผู้รับบริการ และผู้ให้บริการด้วย 2.มีการร่วมมือกันทำงานในทุกภาคส่วน แทนการทะเลาะกัน 3.เทคโนโลยีในระบบสาธารณสุข ต้องถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม 4.ประชาชนต้องพึ่งตัวเองได้ 5.ต้องกระจายอำนาจการบริหารจัดการมากขึ้นเรื่อยๆ และ 6.ผู้รับบริการต้องตระหนักและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสุขภาพตัวเอง

ทว่า หากภาพความขัดแย้งระหว่าง 2 หน่วยงาน ยังคงชัดเจนอยู่อย่างนี้ คงไม่อาจไปถึงดวงดาวได้ ขณะเดียวกัน การเอาประชาชนเป็นตัวประกัน โดยต่างคนต่างก็อ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ประชาชน จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น โดยไม่วันใดก็วันหนึ่ง มีความเสี่ยงที่จะกระทบประชาชนจริงๆ

สำหรับวิธีการที่จะไปให้ถึงนั้น ผู้อำนวยการรพร.สว่างแดนดิน บอกว่า เรื่องการสร้างสมดุลนั้น ค่อนข้างยาก เพราะไปเกี่ยวพันกับกลไกธุรกิจของเอกชน ซึ่งปัจจุบัน หลายโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว ซึ่งเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็มีหน้าที่สำคัญคือ ทำกำไรให้ได้สูงสุด ทำให้กลไกสุขภาพ กลายเป็นการซื้อขายเชิงกำไรขาดทุน

“การรักษาของภาครัฐและเอกชนดูจะห่างกันมากขึ้นทุกที ขณะที่ภาคเอกชนขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ภาครัฐกลับถูก ‘ตอน’ จากงบประมาณ เพราะฉะนั้น อาจถึงเวลาต้องออกกฎหมายกำหนดเพดานราคาค่าบริการของภาคเอกชน เพื่อไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายเกินจริงไปจนน่าเกลียด”

ขณะที่ การสร้างสมดุลระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการนั้น คุณหมอวิโรจน์บอกว่า แรงจูงใจของประชาชนขณะนี้คือทำงานหาเงินเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้สนใจดูแลสุขภาพตัวเอง และระบบที่มีกลับโยนไปให้บุคลากรสธ.ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนแทน ซึ่งหากเกิดปัญหาสุขภาพมากๆ เข้าก็แน่นอน บุคลากรสธ.ย่อมดูแลไม่ได้ จึงอาจต้องใช้กฎหมายควบคุมแบบเดียวกับกฎหมาย “ให้คาดเข็มขัดนิรภัย” หรือ “ให้สวมหมวกกันน็อก” ซึ่งแต่ละปีสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก และสร้างแรงจูงใจบางอย่าง ให้ประชาชนมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของตัวเอง

เช่น จากเดิมที่ให้ข้าราชการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่รู้จบ เปลี่ยนเป็น แต่ละปีมีวงเงินค่ารักษาพยาบาล 1 หมื่นบาท แล้วถ้าใช้ไม่หมด จะได้โบนัสตอบแทนคืน ซึ่งน่าจะสร้างแรงจูงใจให้คนดูแลตัวเองมากขึ้น

สำหรับการร่วมมือกันระหว่างสปสช. และสธ. นั้น เขาบอกว่า อาจถึงเวลาต้องปรับบทบาทหน้าที่ระหว่างสปสช.และสธ.ใหม่ ด้วยการให้ตัวแทน 2 หน่วยงาน รวมถึงภาคประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง มาหารือกันว่าประชาชนต้องการอะไร และหน่วยงานสามารถตอบสนองอย่างไรก็ตาม

ด้านการจัดการเทคโนโลยีนั้น คุณหมอวิโรจน์ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่ประเมินเทคโนโลยีและการเข้าถึงยาอย่างโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (ไฮแทป) ซึ่งล้วนมีแต่ระดับ “หัวกะทิ” ทำงานอยู่ แต่สธ.กลับนำไปใช้จริงน้อยมาก ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่จะลดภาระ กับความซ้ำซ้อนทางงบประมาณได้

ส่วนระบบที่พึ่งตนเองได้ คุณหมอขยายความว่า ปัจจุบัน ต้องพึ่งยาจากต่างประเทศ ทำให้สูญเสียงบประมาณไปมาก ซึ่งก็ถึงเวลาแล้วที่โรคง่ายๆ ก็ถึงเวลาพิจารณาว่าอาจต้องใช้ยาแผนไทย ที่ผลิตเองเป็นอันดับแรก และก็ถึงเวลาที่สธ. ต้องวางแผนพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น

เขตสุขภาพ ยิ่งเริ่มยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง

สำหรับระบบกระจายอำนาจ ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นั้น คุณหมอบอกว่า ประเด็นสำคัญคือต้องทำให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยบริการเพิ่มจำนวนโดยไร้การควบคุม อย่างในปัจจุบัน ที่พระสงฆ์หรือนักการเมืองขอให้สร้างตึก หรือสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม ก็ต้องสร้าง แต่ระบบเขตของสธ. ที่ให้ผู้ตรวจราชการสธ. เป็นซีอีโอเขต ดูแลงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขาก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

“เขตสุขภาพ ควรจะเป็นบอร์ดที่ประกอบด้วย ผู้ซื้อบริการ ผู้ให้บริการ และภาคประชาชน มาทำหน้าที่จัดการทรัพยากร อย่างน้อยที่สุดก็คือต้องมีอำนาจจัดการงบประมาณ แล้วผู้ตรวจฯ ค่อยมานิเทศน์ว่า ทำได้ตามเป้าหรือไม่ ไม่ควรจะก้าวก่ายงบประมาณใดๆ ทั้งสิ้น เพราะงบประมาณมันต้องแยกผู้ซื้อ และผู้ให้บริการ ถ้าให้ผู้ให้บริการจัดการ หลักการมันก็เสียหมด” ผู้อำนวยการรพร.สว่างแดนดินแสดงความคิดเห็น

“ขั้นตอนง่ายๆ คือ สธ.ชี้เป้า ว่าควรทำอย่างนี้ สปสช.ในฐานะผู้ซื้อบริการส่งงบประมาณมาให้บอร์ดเขต ที่มีตัวแทนทุกส่วนมาพูดคุยกัน บนพื้นฐานข้อมูล ถ้าผู้ให้บริการบอกไม่พอ ก็จัดสรรใหม่ ทุกคนมีอำนาจเท่ากัน ไม่ใช่ของสธ.คนเดียว”

ส่วนการจัดการในรูปแบบ องค์กรมหาชน อย่าง “โรงพยาบาลบ้านแพ้ว” นั้น เขาเห็นว่าถ้าที่ไหนพร้อม พอเลี้ยงตัวเอง ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเชื่อมโยงกับเขตบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ก็ต้องขึ้นกับเขตสมุทรสาคร แต่จากที่ประเมินสภาพโรงพยาบาลส่วนใหญ่ขณะนี้ ยังเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

“ต้องยอมรับว่า เราหาคนเหมือนพี่วิทิต (นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว) ได้ยาก เพราะหมอไม่ได้เป็นนักบริหาร นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการตลาดแบบพี่วิทิต เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับว่าคนที่บริหารโรงพยาบาล อาจไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ ไม่อย่างนั้นก็ไปไม่รอด เพราะแค่บริหารโรงพยาบาลทั่วไปก็ยากแล้ว”

ปัจจัยระยะสั้น รพศ.-รพช.ขัดแย้งหนัก

ถามถึงปัจจัยระยะสั้นที่จะส่งผลกระทบให้เป้าหมายไปไม่ถึงฝั่งฝัน คุณหมอบอกว่า ที่น่ากังวลที่สุดคือความขัดแย้งภายในหน่วยงานที่จัดการนโยบายระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งขณะนี้ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีความขัดแย้งกันอย่างสูง ตั้งแต่ความไม่เข้าใจเรื่องระบบส่งต่อ และค่าตอบแทน ที่รพช.ได้สูงกว่า

“ตอนนี้กลายเป็นว่า ปลัดกระทรวงฯ ดึงรพศ./รพท.มาเป็นพวก ขณะที่สปสช.มีรพช.หนุน ซึ่งประเด็นง่ายๆ ที่รมว.สธ.มอบนโยบายอย่าง ทีมแพทย์ประจำครอบครัว หรือการสร้างระบบสุขภาพของแต่ละหน่วยบริการอย่างไร้รอยต่อ แทบเป็นไปไม่ได้เลย หากเกิดความขัดแย้งลักษณะนี้ เพราะฉะนั้น หากจะเริ่มแก้ปัญหาก็ต้องสลายขั้วให้ได้ก่อน”

ส่วนปัจจัยระยะยาว คุณหมอบอกว่าปัจจัยภายใน มี 4 ข้อ ได้แก่  1.สธ.และสปสช.ต้องผ่าตัดโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อให้หน่วยงาน และกรม-กอง เล็กลง ไม่เทอะทะเหมือนในปัจจุบัน 2.ระบบธรรมาภิบาล ซึ่งถ้ายังมีการโกงกิน หรือกินค่าหัวคิว งบประมาณเท่าไรก็ไม่พอ 3.กำลังคน ซี่งต่างคนต่างกำหนดทำให้ซ้ำซ้อนกัน และ 4.ประสิทธิภาพของผู้บริหาร ให้มองภาพรวมขององค์กรมากขึ้น

ขณะที่ภาวะสุขภาพที่สำคัญที่คุณหมอบอกว่าน่าจับตา ได้แก่ 1.สังคมผู้สูงอายุ เพราะรัฐต้องใช้งบเยอะมากในการบริหารจัดการ 2.โรคติดต่ออุบัติใหม่ ซึ่งเป็นผลพวงจากสังคมเปิด และการเปิดประชาคมอาเซียน และ 3.อุบัติเหตุ ที่มีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ

เท่าเทียมกับประสิทธิภาพ

เป้าหมายที่สำคัญซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามุ่งหน้าไปถึงทุกปี คือทำอย่างไร ให้ช่องว่างของระบบการรักษาพยาบาล “เท่าเทียม” กันมากขึ้น

คุณหมอบอกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของบ้านเรา เริ่มต้นจากฐานคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนที่ “ขายบ้าน” “ขายวัว” และ “ขายควาย” เข้าถึงระบบบริการภาครัฐโดยไม่ต้องล้มละลาย

“แต่เดิมบริการภาครัฐบริหารจัดการได้ไม่ดีพอ เมื่อเปลี่ยนเป็นสปสช.จัดบริการแทน หลายเรื่องก็ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ทั้งผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนลิ้นหัวใจ รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ การล้างไต หรือการผ่าตัดต้อกระจก แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ หากจัดบริการให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จุดพอดีจะอยู่ตรงไหน”

เขาบอกว่า เมื่อการเข้าถึงบริการดีขึ้นเยอะมาก ก็ถึงเวลาต้องหันกลับมามองประสิทธิภาพในการบริหาร และการจัดการงบประมาณแทน

“ผมคิดว่าปัญหาขณะนี้ มันเกิดจากการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะถ้าจัดการมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ในเขต 8 เราสามารถดูแลคนไข้เปลี่ยนหัวใจ หรือรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ในมาตรฐานเดียวกันทั้งเขต ทั้งที่ทรัพยากรก็เท่าที่อื่น แต่เราเน้นเรื่องประสิทธิภาพแทน นั่นทำให้ผมคิดว่าเราอาจต้องเปลี่ยนทิศทางมาเน้นเรื่องประสิทธิภาพดีก่อน ถ้าประสิทธิภาพดี ก็จัดการได้เท่าเทียม และถ้าบริหารดี ประสิทธิภาพดี ก็มีเงินเหลือ เงินเหลือก็ทำอย่างอื่นได้ แต่ถ้ากระจายความเท่าเทียมไปอย่างเดียว อย่างไม่มีประสิทธิภาพ สุดท้าย มันจะสิ้นเปลืองทรัพยากรมากกว่าที่ควรจะเป็น” ผู้อำนวยการรพร.สว่างแดนดินระบุ

อีกประเด็นที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในระบบสุขภาพก็คือ จะทำอย่างไรให้ 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ เหลื่อมล้ำให้น้อยที่สุด

นพ.วิโรจน์ แสดงความคิดเห็นว่า สิทธิในการรับบริการที่แตกต่างกันมากขณะนี้ ถึงเวลาที่ต้องทำให้เท่ากัน จะต้องไม่มีอีกแล้ว ที่ กองทุนนี้รักษาได้ แต่กองทุนนี้รักษาไม่ได้ เช่น ประกันสังคม ตรวจร่างกายประจำปีไม่ได้ แต่สปสช. และข้าราชการทำได้ ก็ต้องพิจารณาว่ามีข้อใดไม่เท่า แล้วหาระบบจัดการที่ทำให้เท่ากัน

“แล้วระเบียบในการเรียกเก็บเงินก็ควรจะต้องเป็นระเบียบเดียวกัน แต่ผมก็ไม่คิดว่าเราจะต้องรวมทุกกองทุนเข้าด้วยกันเหมือนที่เขียนใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ นะ เพราะขืนรวมจริง จะเกิดความขัดแย้งในระดับบริหารของแต่ละกองทุนแน่นอน แต่ก็ถึงเวลาที่ต้องเริ่มต้นคิดแล้วว่าจะเริ่มอย่างไร” นพ.วิโรจน์สรุปในตอนท้าย

ตอนต่อไป เปิดความคิด หมอรางวัลเจ้าฟ้า “ความเท่าเทียมต้องสำคัญที่สุด นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร