กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง 4 โรค ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ลมชัก และหลังผ่าตัดสมอง รวมทั้งผู้ที่อยู่ในภาวะเครียด ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์คนเดียว เพราะมีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการวูบ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เสี่ยงเสียชีวิตได้สูง โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่โชเฟอร์หรือมีอาชีพขับรถรับจ้าง ควรตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อรู้ความผิดปกติของตัวเอง และรักษาควบคุมอาการต่อเนื่อง
จากกรณีที่โชเฟอร์รถทัวร์สายกรุงเทพ-ท่าช้าง วัย 68 ปี วูบและเสียชีวิตคาพวงมาลัยขณะขับรถ บนถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ทำให้เกิดอุบัติเหตุเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2558) นั้น ในวันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2558) นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า อุบัติเหตุดังกล่าว นับเป็นอุทธาหรณ์ของผู้ที่ต้องทำหน้าที่ขับรถหรือมีอาชีพขับรถรับจ้าง ทั้งผู้ที่อยู่วัยแรงงานและสูงอายุ ควรหันมาใส่ใจสุขภาพ เนื่องจากวัยนี้มักจะเกิดโรคเรื้อรังอย่างไม่รู้ตัวมาก่อน และทำให้เกิดอาการวูบขณะปฏิบัติงาน ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ร่างกายสูญเสียความรู้สึกตัวและแรงของกล้ามเนื้อชั่วคราว ทำให้ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ ที่พบบ่อยมี 4 โรค ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ลมชัก และผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดสมองมาก่อน รวมทั้งผู้ที่อยู่ในภาวะเครียด ซึ่งจะมีอาการนอนไม่หลับ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์คนเดียว
นพ.สมชายโชติ กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เพื่อให้รู้ความผิดปกติของตัวเอง และได้รับการรักษาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง หากเป็นผู้ที่มีอาชีพขับรถหรือต้องทำงานกับเครื่องจักร ควรกินยาและปฏิบัติตามการรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิด บางคนเข้าใจผิดคิดว่าหายจากโรค ไม่มีอาการผิดปกติ จึงไม่กินยาและไปตรวจตามนัด ซึ่งเป็นอันตราย จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการโรคกำเริบมากขึ้น หากเกิดอาการขณะปฏิบัติงานหรือขับขี่รถ จะให้เกิดอุบัติเหตุได้
นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก และแพทยสภา เพิ่มความเข้มงวดการออกใบรับรองแพทย์ให้ผู้ขับขี่รถ โดยได้เสนอเพิ่มโรคที่มีความเสี่ยงเกิดอันตรายขณะขับรถเพิ่มอีก 4 โรค ได้แก่ ลมชักที่กินยาควบคุมอาการไม่ได้ โรคเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลิน อาจเกิดอาการวูบจากน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างกะทันหัน และผู้ป่วยหลังผ่าตัดสมองบางรายที่อาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมการทรงตัว และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และมีผลต่อการตัดสินใจในการควบคุมบังคับรถ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทั้งตนเองขณะขับขี่ ผู้ร่วมเดินทาง และผู้อื่นในท้องถนน ผู้ป่วยดังกล่าวควรได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด หากสภาพร่างกายไม่พร้อม แพทย์จะแนะนำให้หยุดขับรถชั่วคราว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป จากเดิมที่กฎหมายการจราจรขนส่งทางบกในการขอใบอนุญาตขับรถ กำหนดไว้ 5 โรค ได้แก่ โรคเรื้อน โรคเท้าช้าง ติดยาเสพติด พิษสุราเรื้อรัง และวัณโรคระยะติดต่อ
สำหรับผู้ที่ต้องขับขี่รถ ควรมีการเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อม โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากขับรถระยะทางไกลควรพักทุก 4 ชั่วโมงหรือทุก 300 - 400 กิโลเมตร และควรมีคนขับสำรอง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ก่อนออกเดินทางควรศึกษาเส้นทาง และตรวจสอบความพร้อมของรถทุกครั้ง
- 222 views