นสพ.มติชน : หากพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นปัญหาที่คนทั่วไปต่างเข้าใจว่าทุกคนต่างมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน โดยกลุ่มประชากรไทย ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทย มี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับรองให้อาศัยอยู่ถาวร และกลุ่มที่ครม.ผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอพิสูจน์สถานะ
แต่สำหรับกลุ่มคนไทยที่ตกสำรวจไม่ได้รับสัญชาติไทย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ รวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ส่งผลให้การป้องกันควบคุมโรคไม่สามารถทำได้ รวมไปถึงความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคก็ยังเป็นปัญหา
จากปัญหาดังกล่าว ทางสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดย นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้ง มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ สำรวจปัญหาการรักษาพยาบาลของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง และโรงเรียนบ้านเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 29-30 มกราคม จากการสรุปข้อมูล พบว่า สถานการณ์ปัจจุบันของผู้มีปัญหาไม่มีสถานะทางทะเบียนยังมีกลุ่มผู้ตกหล่นจากการสำรวจอยู่อีกมาก ส่วนหนึ่งมาจากพูดภาษาไทยไม่ได้ จึงไม่สามารถสื่อสาร หรือขอขึ้นเลขทะเบียน 13 หลัก หรือขอขึ้นทะเบียนมีบัตรประชาชนได้
นายวรญาณ บุญณราช นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง เล่าว่า พื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษ พื้นที่ทั้งหมดตั้งอยู่บนดอยสูง มีประชากร 70,000 คน มีแนวชายแดนติดกับพม่ายาว 92 กิโลเมตร โดยมี 9 ชนเผ่า อาทิ เผ่าอาข่า ไทใหญ่ ลาหู่ ฯลฯ และยังคงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี การดำเนินชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการแต่งกาย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมเฉพาะพื้นที่ แต่ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ยังคงมีปัญหาพอสมควร โดยเฉพาะตลอดแนวชายแดนยังพบปัญหายาเสพติด ซึ่งยังเป็นเส้นทางลำเลียงที่มีความเสี่ยงในการใช้ขนย้ายยาเสพติดอีกด้วย ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องของสถานะและสิทธิของประชากรก็ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะประชากรที่อยู่มานานแต่ไม่มีสัญชาติไทยถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ขาดสิทธิต่างๆ มากมาย
"ปัญหาสถานะบุคคล ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประชากรแม่ฟ้าหลวง โดยเฉพาะในพื้นที่นี้มีกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิถึง 18,000 คน ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดใน จ.เชียงราย และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจาก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สำหรับการทำงานด้านยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ได้มีความพยายามขับเคลื่อนกลไกจากการระดมการมีส่วนร่วม เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนและแก้ปัญหาจากหลายฝ่ายร่วมกันอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะ ขณะนี้จะมีการเสนอเพิ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะ ให้เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในพื้นที่แม่ฟ้าหลวงมีเพียง 216 คน ซึ่งเป็น กลุ่มเด็กนักเรียนเท่านั้น
ด.ญ.จันทร์ทิพย์ นายโง่ย อายุ 14 ปี หนึ่งในเด็กที่อยู่ที่กลุ่มบุตรของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่กล้าไปไหน เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีบัตรประชาชน กลัวว่า ไปไหนจะถูกจับ แต่ล่าสุด พวกผู้ใหญ่บอกว่า พวกตนอยู่ในประเทศไทยมานาน และอีกไม่นานหากรัฐบาลช่วยเหลือ จะไปไหนก็ได้ ไม่ต้องกลัว และยังได้มีสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป
ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา ผู้อำนวยการ รพ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เล่าว่า ที่ผ่านมาจะมีกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิมารับการรักษาพยาบาลประมาณ 10 คนต่อวัน ผู้มารักษาแม้ไม่มีหลักฐานทางสัญชาติ โรงพยาบาลก็รับรักษาหมด โดยจะต้องมีบุคลากรที่ทำหน้าที่เป็นล่ามเพื่อการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจในการรักษาหรือบริการ ซึ่งกรณีที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องสอบถามที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ ในกรณีถ้าไม่มีเงินทางโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวงจะทำการรักษาไปก่อนแล้วจะทำบิลค้างชำระให้ภายหลัง
"ปัญหาที่ผ่านมาสำหรับการรักษาบุคคลที่ไม่มีสถานะและสิทธิ หรือไม่มีเลข 13 หลัก คือ การเคลื่อนย้าย เนื่องจากจะถูกตรวจจากด่านตรวจต่างๆ ทำให้ต้องเสียค่าปรับหรืออาจถูกจับได้ สิ่งสำคัญอยากวอนให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นคนที่มีสัญชาติไทยหรือไม่มี แต่ก็อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยก็ควรได้รับโอกาสอย่างน้อยในการรักษาชีวิตก็ยังดี" ทพญ.ปาริชาติกล่าว
แม้ไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เป็นสิทธิของคนไทยที่มีเลข 13 หลักเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งอยู่ในแผ่นดินไทยเพียงแต่รอการพิสูจน์สถานะ ยังคงกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ มีเพียงความหวังว่าสักวันจะได้สิทธิเหมือนคนไทยคนอื่น
ภาครัฐจึงเป็นความหวังของพวกเขา...
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558
- 42 views