ชุมชนจะเข้มแข็งได้ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จะต้องอยู่ดี กินดี มีความสุข ชุมชนนั้นถึงจะพัฒนาไปได้ นอกจากนี้การมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งจะส่งผลให้การพัฒนาชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
นายศิวโรฒ จิตนิยม ประธานสถาบันการเงินชุมชน และอสม. ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าของรางวัลชัยนาทนเรนทร สาขาผู้นำชุมชนดีเด่น ประจำปี 2557 กล่าวถึงการขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาพของตำบลหนองสาหร่ายว่า ตนทำงานเป็น อสม.มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธาน อสม.ในทุกระดับตั้งแต่อำเภอไปจนถึงระดับจังหวัด และในปี พ.ศ.2548-2549 จึงได้เริ่มเข้าสู่การทำงานด้านสถาบันการเงินของชุมชน
เมื่อถามว่าทำไมถึงมาทำงานด้านสุขภาพด้วย นายศิวโรฒ บอกว่า ปัญหาที่พบในชุมชนหนองสาหร่ายที่สามารถสรุปได้มีมากถึง 7 ปัญหา ถ้าเราซึ่งเป็นผู้นำชุมชนสามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้ แน่นอนชุมชนของเราจะต้องมีความสุขได้เช่นกัน
ปัญหาที่พบนั้นได้แก่
1.ปัญหาหนี้สิน ในปี พ.ศ.2557พบว่า ประชาชนในพื้นที่มีหนี้สินรวมกันแล้วสูงถึง 106 ล้านบาท ส่วนสาเหตุของการเกิดหนี้ คือ การทำนาที่ไม่ได้ผล และมีอุปนิสัยบริโภคนิยม ทุกคนอยากมีอยากได้ทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัว
2.ปัญหาอาชีพและรายได้ที่ไม่สัมพันธ์กัน ประชาชนในพื้นที่ส่วนมากเป็นเกษตรกร มีรายได้ที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผลผลิต
3.ปัญหาด้านวัฒนธรรม ความเกื้อกูลของคนในชุมชนเริ่มสูญหายไป ความเคารพระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่เริ่มไม่มี
4.ปัญหาเรื่องการเมืองและผู้นำในท้องถิ่น ที่ไม่สามารถรู้เท่าทันนักการเมืองท้องถิ่น หรือความขัดแย้งในท้องถิ่น
5.ปัญหาเรื่องการเรียนรู้ ภาพรวมหลักสูตรการศึกษาของประเทศดี แต่ไม่ดีทั้งหมด หากเรามีการที่ไม่สามารถรู้เท่าทันสังคม จะเกิดความเสียหาตามมาอย่างมาก
6.ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประชาชนถูกหลอกให้ใช้ปุ๋ยเคมี จากกระแสการพัฒนาประเทศ ทำให้ประชาชนในหนองสาหร่ายเร่งสร้างผลผลิตจนทำให้เกิดหนี้สินตามมา พร้อมปัญหาสิ่งแวดล้อม
7.ปัญหาด้านสุขภาพ ที่มีผลกระทบมาจากการบริโภคนิยม ประชาชนป่วยด้วยโรคเรื้อนังไม่ติดต่อมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีทั้งหมด 509 ที่เกือบครึ่งเป็นทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
จากปัญหาต่างๆ ทั้ง 7 ปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกัน โจทย์ของการแก้ปัญหาคือ ทุกคนจะต้องมีความสุข ความสุขจะเกิดขึ้นได้ประชาชนในพื้นที่จะต้องมีสุขภาพดี มีเงินมีความสามัคคี
"การที่เราจะไปแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ จะต้องทำให้เขารู้ปัญหาของเขาก่อน โดยทางเราจะเป็นผู้หาข้อมูลมาให้ และชี้ให้เขาเห็นว่า ถ้าหากยังทำแบบเดิมอีก ทุกคนจะพากันตกเหวตายกันไปหมด จากนั้นเราจะมีการพูดคุยกัน โดยห้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตัวเองและชุมชน จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะมีการดำเนินการต่อไป"
นายศิวโรฒ กล่าวว่า เมื่อได้ข้อสรุปแล้วปัญหาจะตามมาว่า จะเริ่มที่ใครก่อน นั่นหมายถึงเราที่เป็นผู้นำชุมชน จะต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน เช่น การออกกำลังกาย เราจะต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อชักจูงให้คนมาออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เราจะแก้ปัญหาให้ได้ตรงจุดนั้นจะต้องเริ่มลด ละ เลิกพฤติกรรมบริโภคนิยมให้ได้ ชาวบ้านในพื้นที่จะต้องบริโภคพืชผักสวนครัวที่ปลูกกันเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและไม่ก่อหนี้สิ้นเพิ่มขึ้นอีก คณะทำงานจะต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ อีกทั้งยังต้องมีการระดมทั้งทุนและความคิด เพื่อให้การทำงานขับเคลื่อนไปได้และเห็นผล
"ในช่วงแรกความเข้าใจของชาวบ้านยังนับว่าเป็นอุปสรรคอยู่ เราต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการสร้างความเข้าใจ ด้วยการจัดประชุมหมุนเวียนกันไปทุกหมู่บ้าน ทุกคนจะได้รับรู้ว่าแต่ละหมู่บ้านมีปัญหาอะไร ผู้นำชุมชนต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน"
นายศิวโรฒ กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของตนเองที่มาเป็นผู้นำชุมชน แล้วใช้ "ความสุข" เป็นเป้าหมายในการทำงาน เพราะ คนทุกคนต้องการความสุขด้วยกันนั้น ตนจึงได้จัดตั้งธนาคารความดีขึ้นมาด้วย เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนสร้างความสุขด้วยการทำความดี
สุดท้ายนายศิวโรฒ กล่าวว่า คนเราจะต้องรู้ว่า จะมีชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ตามวิถีชีวิตของเรา หันมามองคนรอบข้างเราต้องมีความสุขด้วยกัน ความสุขที่เกิดขึ้นได้จะต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และต้องสร้างความดีด้วย
นั่นคือปรัชญาและแนวทางการทำงานและสร้างชุมชนให้มีความสุขตามแบบฉบับของ ศิวโรฒ จิตนิยม
- 262 views