ข้อเขียนนี้เขียนจากมุมมองของคนเป็นพ่อที่ส่งลูกเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี และมุมมองของคนไข้คนหนึ่งที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดแห่งหนึ่งอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี

ทั้งนี้ จะพยายามเสนอความคิดเห็นที่จิตวิวัฒน์กระชับ

ความล้มเหลวของการศึกษาเกิดจากการสอนมากเกินไป สอนเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตมากเกินไป และมีวัฒนธรรมการห้ามนักเรียนคิด พูด หรือถามมากเกินไป

ทั้งสามกรณีทำให้เราได้เด็กที่เรียนไม่เก่งมากกว่าเรียนเก่ง เรียนเก่งไปก็ไม่มีประโยชน์มากนัก ที่สำคัญคือ ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพด้วยตนเอง

เมื่อลูกเรียนถึงชั้นมัธยมปลาย ค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนกวดวิชาสูงมากเป็นหลักแสนต่อคน ทั้งนี้ ยังไม่นับค่าเสียเวลา หากไม่เรียนก็ไม่มีทางสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่ต้องการได้ ไม่เป็นความจริงที่ว่าไม่ต้องกวดวิชาก็ได้ ซึ่งเป็นเพียงคำพูดของผู้ใหญ่ที่ปฏิเสธความเป็นจริงของสังคมไทย

รากฐานที่สำคัญของปัญหาและความล้มเหลวทั้งหมดนี้ เกิดจากการไม่กระจายอำนาจทางการศึกษา ทำให้ผู้อำนวยการเขตการศึกษา ศึกษานิเทศน์ และผู้อำนวยการโรงเรียนจำนวนมากไร้อำนาจในการจัดการศึกษาด้วยตนเอง ผู้บริหารการศึกษาระดับสูงของแต่ละจังหวัดไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องทำงานรับใช้ (serve) นโยบายส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร การประเมินโรงเรียน และการสอบระดับชาติ

ไม่มีเวลาและไม่มีอำนาจในการจัดการศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชนในท้องที่

หากผู้บริหารการศึกษาระดับสูงของแต่ละจังหวัดเป็นตัวของตัวเอง หลายคนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อศตวรรษใหม่ คือ 1.สอนน้อยเรียนรู้มาก 2.ใช้โจทย์ปัญหาของชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่เป็นฐานการเรียนรู้ 3.ฝึกทักษะชีวิตและทักษะไอทีให้แก่เด็กนักเรียนไปพร้อมกัน 4.บูรณาการสาระวิชาเท่าที่จำเป็น

สำคัญที่สุดของที่สุดคือ ผู้บริหารจำเป็นต้องรับผิดรับชอบ (accountable) ต่อประชาชนในท้องถิ่น ทำดี พ่อแม่รอบโรงเรียนจะอุ้มชูไปจนถึงพิจารณาค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษ ทำไม่ดี ก็ต้องให้ประชาชนและพ่อแม่รอบโรงเรียนพิจารณาให้รับผิดรับชอบตามผลงาน

จะเห็นว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ที่แทบเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นแปลว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ทำอยู่จะล้มเหลวค่อนข้างแน่นอน

ประเด็นผู้บริหารในส่วนท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องรับผิดรับชอบต่อประชาชนในท้องถิ่น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่โตสำหรับระบบสาธารณสุขเช่นกัน

ความที่ผู้บริหารโรงพยาบาลของรัฐในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นระดับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ไม่ต้องรับผิดรับชอบต่อประชาชน ผู้ป่วยและผู้ยากไร้ในเขตของตน ทำให้เกิดสภาพโรงพยาบาลแออัดทุกเช้า เตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอและอยู่ในสภาพโรงฆ่าสัตว์ ไปจนถึงการส่งต่อที่ไร้ประสิทธิภาพด้วยการโยนไปโยนมา ไม่ว่าจะเป็นการโยนผู้ป่วยไปมาระหว่างแผนกในโรงพยาบาลเดียวกันหรือการโยนไปมาระหว่างโรงพยาบาล

ประชาชนไม่เคยทำอะไรผู้บริหารโรงพยาบาลได้นอกจากร้องเรียนหรือฟ้องร้องเป็นครั้งๆ แล้วเงียบหายไป

ประชาชน ผู้ป่วยและผู้ยากไร้ในจังหวัดหรืออำเภอต่างๆ ควรมีอำนาจในการพิจารณาความดีความชอบ ให้รางวัลหรือถอดถอนผู้บริหารโรงพยาบาลที่ไม่บริหารโรงพยาบาลเพื่อคนในท้องถิ่นให้ดี

ปัญหาเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่อีกข้อหนึ่งคือ ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างโรงพยาบาลประจำจังหวัดและโรงพยาบาลประจำอำเภอ ไม่มีสำนึกและวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมเดียวกัน นอกจากไม่มีแล้วยังแตกคอกัน มากกว่านี้คือ การแตกคอกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขขนาดใหญ่ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมทั้งหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพ คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ไม่มีอะไรที่เรียกว่าทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงหรือจริงใจระหว่างหน่วยงานเหล่านี้

ผู้ป่วยที่ไม่มีเส้นสายในโรงพยาบาลเป็นบุคคลที่น่าเห็นใจมากที่สุด การเดินเข้าโรงพยาบาลของรัฐเป็นเรื่องทุกข์ทรมานไปจนถึงถูกทรมานทรกรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่เห็นอยู่ว่านายแพทย์และผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งทำงานหูดับตับไหม้ไม่ได้พักผ่อน (แต่อีกจำนวนหนึ่งอยู่ในสภาพว่างงานแอบแฝงมหาศาลแต่ไม่ยอมรับความจริงกัน)

หากจะโทษก็ต้องโทษการบริหารที่ล้มเหลว และการบริหารที่ล้มเหลวเกิดจากโครงสร้างที่พิกลพิการของระบบสุขภาพดังที่เล่ามา ผู้บริหารจะเก่งมาจากไหนก็ล้มเหลวซ้ำซากได้เท่าๆ กัน

จิตวิวัฒน์มิได้แปลว่าให้มองโลกในแง่ดีตลอดไป จิตวิวัฒน์เชิญชวนให้เรามองปัญหาเดิมในมุมมองใหม่หรือกระบวนทัศน์ใหม่แล้วก้าวข้ามตนเองเป็นสำคัญ

มุมมองใหม่หรือกระบวนทัศน์ใหม่ในการดูระบบการศึกษาและระบบสุขภาพเป็นอย่างที่เล่ามา นั่นคือโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ชำรุดอย่างหนัก และหากไม่แก้ไขก็ไม่มีวันพัฒนาโรงเรียนหรือโรงพยาบาลแต่ละแห่งให้เป็นสถานที่ซึ่งยังประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้

โรงเรียนและโรงพยาบาลเป็นหน่วยราชการที่ใหญ่ที่สุด มีจำนวนข้าราชการมากที่สุดของแต่ละจังหวัด และรับผิดชอบการพัฒนามนุษย์มากที่สุดด้วย นี่คือสองสถานที่ ที่เราควรเอาจริงเอาจัง

ผู้เขียน : ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 “คอลัมน์: จิตวิวัฒน์: การศึกษาและสาธารณสุขที่ล้มเหลว”